×

ปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัท เพื่อจัดการภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ

18.10.2022
  • LOADING...

ในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) หรือแม้แต่วิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ หลายองค์กรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและพยายามปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะตอบสนองต่อปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบต่อองค์กร การเตรียมความพร้อมในด้านภาษีเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการพัฒนาความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศค่อนข้างมาก หลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในปัจจุบัน ดังนั้นองค์กรเองก็ควรทำความเข้าใจประเด็นทางภาษีและเตรียมความพร้อม เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร  

 

การวางแผนปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมขององค์กร เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้ามาในอนาคต และเสริมประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการทางภาษีในภาพรวมของกลุ่มบริษัท 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


บทความนี้จะเขียนถึงแนวทางเบื้องต้นและตัวอย่างในการวางแผนปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัท เพื่อการบริหารจัดการทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 

 

แนวทางเบื้องต้นในการวางแผนปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัท

  1. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการปรับโครงสร้างอย่างชัดเจน ว่าต้องการที่จะปรับโครงสร้างเพื่อมุ่งหวังผลลัพธ์ใด เพื่อที่จะสามารถวางแผนได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากแต่ละวัตถุประสงค์ของการปรับโครงสร้างอาจมีวิธีการและข้อพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป  

 

  1. ตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทในกลุ่ม ว่าถือหุ้นโดยนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา รวมถึงสถานะการดำเนินงานของบริษัท เช่น มีบริษัทที่มีการพักการดำเนินธุรกิจชั่วคราว (Dormant Company) หรือมีบริษัทที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศที่อาจมีความเสี่ยงด้านภาษีหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างของกลุ่มบริษัท

 

  1. ตรวจสอบสถานะทางการเงินและภาระทางภาษีของแต่ละบริษัทภายในกลุ่ม เช่น บริษัทที่มีผลกำไรและมีภาระภาษีสูง บริษัทที่มีผลขาดทุนสะสมทางภาษีที่สามารถนำไปใช้หักกำไรในอนาคตได้ บริษัทที่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องขอคืน หรือมีบริษัทใดที่มีประเด็นและความเสี่ยงทางภาษีที่อาจทำให้เกิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มในอนาคต 

 

  1. วางแผนการปรับโครงสร้างโดยศึกษาทางเลือกในการปรับโครงสร้างที่เหมาะสม เช่น การโอนหุ้น การโอนทรัพย์สิน หรือการควบรวมกิจการ โดยจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับประเด็นทางกฎหมายและประเด็นอื่นๆ เช่น การปรับโครงสร้างมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจหรือไม่ ต้องมีการโอนใบอนุญาตที่ใช้ในการดำเนินกิจการหรือมีการโอนพนักงานหรือไม่ รวมถึงประมาณการระยะเวลาที่ใช้สำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัทหรือไม่ เนื่องจากแต่ละวิธีก็อาจใช้ระยะเวลาที่มากน้อยแตกต่างกัน

 

  • พิจารณาภาระทางภาษีที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้าง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่อาจจะได้รับ เช่น การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันโดยได้รับการยกเว้นภาษี หรือการโอนกิจการบางส่วนโดยได้รับยกเว้นภาษีบางประเภท โดยจะต้องศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดที่จะใช้สิทธิภาษีอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาต้นทุนทางภาษีที่จะเกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้าง   

 

  • สรุปแผนการปรับโครงสร้างโดยต้องพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้รอบด้าน รวมถึงจัดทำแผนการดำเนินงานและจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบในอนาคต

 

ตัวอย่างการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัท

1. การปรับโครงสร้างโดยใช้ Holding Company

 

หากโครงสร้างองค์กรในปัจจุบันเป็นการถือหุ้นในกิจการโดยบุคคลธรรมดาทั้งหมด องค์กรอาจพิจารณาจัดตั้ง Holding Company (บริษัทที่ไม่มีการดำเนินการทางธุรกิจแบบทั่วไป แต่เป็นบริษัทที่นำเงินไปลงทุนในกิจการอื่นและมีรายได้จากการลงทุนในบริษัทอื่นเป็นหลัก) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้าง ตัวอย่างเช่น

 

  • ใช้ Holding Company เข้ามาถือหุ้นในกิจการ โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจตามประเภทธุรกิจ เพื่อลดความซับซ้อนของโครงสร้างผู้ถือหุ้นและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการธุรกิจแต่ละประเภท 
  • หากองค์กรมีแผนการในการหานักลงทุนมาร่วมลงทุนหรือมีแผนการที่จะขายกิจการบางประเภทในอนาคต การจัดตั้ง Holding Company แยกในแต่ละประเภทธุรกิจ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขายกิจการบางประเภทออกไป และช่วยลดภาระทางภาษีที่เกิดจากการขายหุ้นเมื่อเทียบกับการขายโดยผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา เนื่องจากกำไรที่ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับจากการขายหุ้นจะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 35 ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตราร้อยละ 20  
  • หากองค์กรมีแผนขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ หรือขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ องค์กรอาจใช้ Holding Company เป็นเครื่องมือในการลงทุน โดยเมื่อ Holding Company ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาจากบริษัทลูก Holding Company สามารถนำผลตอบแทนนั้นเก็บไว้ที่บริษัทและนำกลับไปลงทุนใหม่ โดยไม่ต้องส่งเงินคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุน และผู้ถือหุ้นยังไม่มีภาระภาษีจากเงินปันผลจนกว่า Holding Company จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

 

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า การวางแผนปรับโครงสร้างโดยการจัดตั้ง Holding Company นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางภาษีให้แก่กลุ่มบริษัทได้อีกด้วย

 

2. การจัดตั้ง Shared Service Center 

 

ในกรณีที่องค์กรมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินกิจการแยกจากกัน และในกลุ่มบริษัทมีการใช้พนักงานหลายๆ แผนกร่วมกัน เช่น แผนกการเงิน แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ และแผนกทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น บริษัทอาจพิจารณารวมศูนย์หน่วยงานที่ทำงานสนับสนุน (Back Office Support Function) ออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อให้บริการแก่บริษัทในเครือโดยคิดค่าบริการตอบแทน 

 

การจัดตั้ง Shared Service Center นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและลดต้นทุนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนแล้ว กรมสรรพากรก็มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center Scheme) ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางภาษีแก่ภาพรวมของกลุ่มบริษัท อย่างไรก็ตาม องค์กรจะต้องพิจารณาเงื่อนไขที่จะต้องผ่านเกณฑ์เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงพิจารณาประเด็นอื่นๆ ให้ครบถ้วน เช่น การคิดค่าบริการระหว่างบริษัทในเครือในราคาที่เหมาะสมและเป็นไปตามราคาตลาด ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการโอนย้ายพนักงาน เป็นต้น

 

3. การปรับโครงสร้างเพื่อลดภาระภาษีในภาพรวมของกลุ่มบริษัท

 

ในกรณีที่ในกลุ่มบริษัทมีบางบริษัทที่มีผลประกอบการดีและมีภาระภาษีสูง ในขณะที่บางบริษัทมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง องค์กรอาจพิจารณาปรับโครงสร้างเพื่อลดภาระภาษีในภาพรวมของกลุ่มบริษัทได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A มีผลประกอบการดี ในขณะที่บริษัท B มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและมีผลขาดทุนทางภาษี หากคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานอาจเป็นเช่นนี้ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง องค์กรอาจพิจารณาปรับโครงสร้างโดยการควบรวมกิจการ A และ B เข้าด้วยกัน เพื่อลดภาระภาษีในภาพรวมของกลุ่มบริษัท เนื่องจากผลขาดทุนทางภาษีของบริษัท B จะหักลบกับกำไรที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ A 

 

การปรับโครงสร้างธุรกิจในลักษณะนี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นให้รอบด้าน เช่น การควบรวมนี้มีความเป็นไปในทางธุรกิจหรือไม่ หรือมีประเด็นทางกฎหมายอื่นๆ เช่น การโอนใบอนุญาต หรือการโอนพนักงานที่ต้องพิจารณา และจะต้องศึกษาอย่างละเอียดเพื่อเลือกวิธีการควบรวมกิจการให้เหมาะสม รวมถึงพิจารณาภาระภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการควบรวมให้ครบถ้วน  

 

แนวทางและตัวอย่างการปรับโครงสร้างที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น การปรับโครงสร้างเพื่อการจัดการทางด้านภาษีให้มีประสิทธิภาพสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร อย่างไรก็ตาม การวางแผนเพื่อปรับโครงสร้างกิจการจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อย่างรอบคอบ ทั้งด้านธุรกิจ บัญชี และกฎหมาย หากองค์กรมีการวางแผนล่วงหน้าและเตรียมความพร้อมให้องค์กรมีโครงสร้างที่เหมาะสมและพร้อมต่อทุกสถานการณ์ ก็จะสามารถช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising