วันนี้ (26 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เป็นประธานการประชุม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความคืบหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท และการเวนคืนที่ดิน โดยมี มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมชี้แจงด้วย
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพูดคุยต่อเนื่องจากที่เคยประชุมในห้องประชุมใหญ่ เพราะแนวคิดการทำนโยบาย 20 บาทตลอดสายไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่จะพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ในวันนี้จึงใช้กรรมาธิการฯ ที่เป็นตัวแทนของทุกพรรคการเมืองมีโอกาสได้ถกกันในเรื่องของรายละเอียดในงบประมาณที่มีจำนวนมหาศาล หลังจาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่าจะมีเชิญไปพูดคุยรายละเอียด แต่ระยะเวลาผ่านมานานแล้วก็ยังไม่ได้มีการติดต่อมา
สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการสอบถามรายละเอียดของรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงนั้น โดยเฉพาะในการชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภายังมีแนวคิดที่แตกต่าง โดยกระทรวงคมนาคมระบุว่าจะใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุน ส่วนกระทรวงการคลังพูดถึงการใช้งบประมาณจากการเวนคืนสัมปทาน นอกจากนี้ยังมีการซักถามถึงรายละเอียดของสายไฟมีสายไหนบ้างและจะเดินรถอย่างไร
สุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า นโยบายดังกล่าวนี้เป็นเพียงนโยบายที่ทำขึ้นชั่วคราวเพื่อหนุนสายสีม่วงและสีแดง ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตนเองเคยอภิปราย เนื่องจากทำได้ง่ายและเคยทำไปแล้ว แต่นโยบายที่รัฐบาลจะทำในอนาคตนั้นเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติรางหรือเกี่ยวข้องกับตั๋วร่วมหรือไม่ ซึ่งการประชุมในวันนี้มีประเด็นเพิ่มเติมในส่วนของตั๋วร่วมว่า หน่วยงานที่อยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้มีการร่างโดยสมัครใจ ซึ่งทั้งกรรมาธิการและรัฐมนตรีก็เห็นตรงกันว่าร่างพระราชบัญญัติควรเป็นร่างที่บังคับให้รถไฟฟ้าทุกสายสามารถเข้าร่วมได้ จึงจะดำเนินตามนโยบายได้ ซึ่งก็ต้องมีการตกลงกับเอกชนทั้งเรื่องของส่วนต่างหรือแม้แต่การซื้อคืน ซึ่งการประชุมครั้งนี้หลายคนก็เห็นว่ารายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้นยังไม่มีรายละเอียดมากนัก
อย่างไรก็ตาม จึงต้องมีการวางแผนทั้งแผนงบประมาณและแผนงานกันต่อไป ซึ่งทางรัฐมนตรีก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำรายละเอียดมาเพิ่มเติม พร้อมทั้งนำมาชี้แจงและพูดคุยกันต่อ การพูดคุยในวันนี้รัฐมนตรีให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการอย่างเต็มที่ แต่คำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามเชิงนโยบาย ซึ่งต้องรอให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ตอบ
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ทำไมต้องเป็น 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลเคยศึกษา 25 บาทตลอดสายแล้วหรือยัง หรือเคยศึกษาราคา 15 บาทตลอดสายแล้วหรือยัง” สุรเชษฐ์กล่าว
ส่วนโอกาสที่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น สุรเชษฐ์มองว่า ขณะนี้รัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ซึ่งจะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่เราต้องติดตาม แต่ยืนยันว่าพรรคประชาชนไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวนี้ เราคิดว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่าว่ารัฐไทยจะเลือกรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแล้วละเลยรถเมล์ หรือแนวทางราคา 8-45 บาทตามที่พรรคประชาชนเสนอ โดยให้เน็ตเวิร์กของรถไฟฟ้าและรถเมล์นั้นเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ทำงานร่วมกันเป็นระบบเดียว
แต่ยอมรับว่าเรื่องของแนวคิดนั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลมีอำนาจรัฐ น่าจะเดินตามแนวทางนโยบาย 20 บาทตลอดสาย แต่เมื่อเดินตามนโยบาย 20 บาทตลอดสาย เราจึงต้องการเห็นแผนงานที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร
ขณะเดียวกันแนวคิดของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังก็ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งเราก็ต้องหาเวทีที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนพื้นฐานของเหตุและผลว่าประเทศควรจะเดินทางไหน เพราะนโยบายนี้จะเป็นภาระผูกพันประเทศไปต่อในอนาคต