×

กรรมการ กสทช. ค้านข้อเสนอค่ายมือถือขอยืดจ่ายค่าธรรมเนียม 6 เดือน ชี้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์

โดย THE STANDARD TEAM
11.06.2020
  • LOADING...

จากกรณีที่ มนต์ชัย หนูสง นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) เข้ายื่นหนังสือถึง ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขอให้เลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป หลังจากที่ กสทช. ได้ชะลอการชำระค่าธรรมเนียมรายปีในส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมออกไปจนถึงวันที่ 15 สิงหาคมแล้ว แต่ทางสมาคมฯ เห็นว่ายังไม่เพียงพอ

 

ล่าสุด ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายต้องการขอเลื่อนการชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ออกไป โดยอ้างสถานการณ์โรคระบาด แต่ไม่มีกฎหมายให้กระทำได้ สำนักงาน กสทช. จึงเสนอให้เป็นการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมแทน โดยคำนวณจากพื้นฐานว่า เมื่อขยายระยะเวลาแล้ว สำนักงาน กสทช. มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะบริหารหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลผลกระทบทางธุรกิจที่ชัดเจน และไม่มีข้อมูลว่าเมื่อขยายระยะเวลาแล้วผู้ประกอบการรายใดจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

 

ประวิทย์เห็นว่า หากจะขยายระยะเวลาจริง ผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ มิใช่ประชาชนทั่วไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดนโยบาย อีกทั้งค่าธรรมเนียมที่จะชำระนั้น เป็นรายได้ของปีก่อนหน้า มิใช่ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดแต่อย่างใด 

 

อีกทั้งค่าธรรมเนียมเหล่านี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำนักงานแล้ว ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การขยายระยะเวลาจึงเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินการคลังและการงบประมาณโดยรวมของรัฐได้

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานก็มีการคำนวณแล้วว่า หากขยายระยะเวลาออกไปจะส่งผลต่อดอกเบี้ยที่จะได้รับ ทำให้ประโยชน์ที่รัฐจะได้รับลดลง แต่ก็เดินหน้าเสนอให้มีการออกประกาศฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มฐานอำนาจทางกฎหมายในการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม และได้เสนอว่าการออกประกาศใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการประกอบกิจการหรือมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

 

แต่ประวิทย์เห็นว่า การไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจส่งผลให้มีการฟ้องคดีปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศที่ออกโดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติในอนาคตได้

 

ประวิทย์ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐมุ่งหวังในการดูแลผู้ประกอบการ คือการมุ่งหวังว่าผลสุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน แต่หากผู้ประกอบการไม่ดูแลประชาชน แล้วรัฐจะใช้เหตุผลใดในการเกื้อหนุนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตดีและเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต ในขณะที่มีอีกหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาวะเลือดตาแทบกระเด็นและจำเป็นต้องได้รับการดูแล

 

นอกจากนี้เชื่อได้ว่าในวิกฤตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เราจะเห็นความพยายามเรียกร้องให้เลื่อนชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ โดยพยายามโยงไปกับวิกฤตเหล่านั้นจนได้ เพราะผู้เรียกร้องคำนึงประโยชน์ของตนเองเป็นตัวตั้ง พร้อมที่จะทุ่มประมูลเพื่อเอาชนะคู่แข่ง แต่ก็พร้อมจะเข้าหาศูนย์กลางอำนาจรัฐเพื่อที่จะไม่ต้องชำระ หรือชำระค่าประมูลให้น้อยที่สุดหรือช้าที่สุดนั่นเอง

 

ภาพ: tct.or.th

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X