×

‘ธปท.’ เผยไตรมาสแรกปีนี้ แบงก์พาณิชย์มีกำไร 4.38 หมื่นล้านบาท ลดลง 12% ส่วนสินเชื่อยังชะลอตัว

17.05.2021
  • LOADING...
แบงก์พาณิชย์

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 43.8 พันล้านบาท ลดลง 12.02% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลง 

 

ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายเงินสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปี 2563 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.80% จากไตรมาสก่อนที่ 0.32%

 

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.43% จากไตรมาสก่อนที่ 2.52%

 

ไตรมาส 1 ปี 2564 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,017.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 20% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 823.4 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 149.7% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.5%

 

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2564 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 3.8% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 จาก 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า แบ่งเป็น

 

1. สินเชื่อธุรกิจ (มีสัดส่วน 64.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ชะลอตัวลงจากการเร่งใช้สินเชื่อในช่วงเดียวกันของปีก่อนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์แทนตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงในช่วงต้นปีที่แล้ว ขณะที่ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ส่งผลให้สินเชื่อ SMEs หดตัวในอัตราท่ี ลดลง แม้ไม่รวมผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)

 

2. สินเชื่ออุปโภคบริโภค (มีสัดส่วน 35.7% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 5.3% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.4% โดยหลักจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแนวราบ ประกอบกับการส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ และผลบวกจากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมของภาครัฐ 

 

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังคงหดตัวจากปีก่อน ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้รับผลจากการระบาดในช่วงแรก และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้จากความต้องการสภาพคล่องในภาคครัวเรือน ซึ่งบางส่วนเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่าน Online Platform และบัตรกดเงินสด

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2564 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหน้ีและการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดช้ันลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเช่ือด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 537.1 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.10% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 6.41% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.62%

 

ธปท. ประเมินว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อ และความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ 

 

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ 

 

“แนวโน้มสินเชื่อมองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ โดยได้รับอานิสงส์จากโครงการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ ส่วนแนวโน้ม NPL มีความเป็นห่วงต่อกลุ่มบริการ ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ขนส่งนักท่องเที่ยว สายการบิน รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหารและภัตตาคาร แต่เชื่อว่าเมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับร้านอาหาร ผู้ประกอบการน่าจะดีขึ้น” สุวรรณีกล่าว 

 

ด้านนโยบายการจ่ายปันผลนั้น ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะต้องดูถึงฐานะของธนาคารพาณิชย์ ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งจะมีการชี้แจงในรายละเอียดต่อไป 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising