×

ธปท. เผยสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ Q3 หดตัว 0.9% ติดลบเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่สินเชื่อ SME ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5

20.11.2023
  • LOADING...
ตึกธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. เผยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 หดตัว 0.9% ติดลบเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่สินเชื่อ SME ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของแบงก์

 

อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/66 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.9% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มส่งออก และภาครัฐ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจยังขยายตัวได้ โดยหลักในธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้ง และก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ 

 

“สินเชื่อในภาพรวมหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน แต่ถ้าดูเฉพาะสินเชื่อ SME จะเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด และการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ของแบงก์ ซึ่งทำให้วงเงินเฉลี่ย หรือ Ticket Size ที่ปล่อยกู้ให้ SMEs ลดลงมาอยู่ที่รายละประมาณ 3 แสนบาท” อัจจนากล่าว

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อยจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) ไตรมาส 3/66 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.94 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.70% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 5.84% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08% 

 

สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/66 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝาก และ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลงจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และกำไร FVTPL ที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการขายตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/66 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัว โดยภาคการผลิตปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากกลุ่มเคมีภัณฑ์ สวนทางกับกำไรในภาคการผลิตอื่น ขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X