สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 4/67 หดตัวที่ 0.4%YoY นับเป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน เมื่อแยกตามประเภทพอร์ตสินเชื่อพบว่าสินเชื่อเช่าซื้อหดตัวหนักสุด ติดลบ 0.9% นับเป็นการหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน จับตาหนี้เสียบ้านยังเพิ่มต่อเนื่อง
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ‘สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2567 และ ปี 2567’ โดยระบุว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 4 ปี 2567 หดตัวอยู่ที่ 0.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่หดตัว 2% โดยการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวลง
ทั้งนี้ การหดตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2567 นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2552 หรือในรอบ 15 ปี
สำหรับสาเหตุที่ทำให้สินเชื่อหดตัว สุวรรณีอธิบายว่า “ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของธนาคารเอง จากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ที่สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจไม่มีความต้องการในการลงทุนเพิ่มเติม โดยจะเห็นได้ว่าช่วงก่อนหน้านี้สินเชื่อขยายตัวไปเยอะมากในช่วงที่เศรษฐกิจ (GDP) ไม่โต และติดลบในช่วงโควิด หลายธุรกิจจึงมีลักษณะคายหนี้ออกมาด้วย”
เมื่อแยกตามประเภทพอร์ตสินเชื่อพบว่าสินเชื่อเช่าซื้อหดตัวหนักสุด ติดลบ 0.9% นับเป็นการหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องมาจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และหนี้เสีย (NPL) ที่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 ธปท. เริ่มเห็นสัญญาณบวกในสินเชื่อเช่าซื้อขึ้นมาเล็กน้อยจากจำนวนรถยนต์ที่เข้าลานประมูลเริ่มต่ำลง ส่งผลทำให้ราคาดัชนีรถยนต์มือสองเริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูต่อไปว่าสัญญาณบวกดังกล่าวจะยั่งยืนหรือไม่
หนี้เสียปรับลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้นหนี้บ้านยังเพิ่มต่อเนื่อง
สุวรรณีกล่าวอีกว่า ยอดค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 3 เดือน (Stage 3) และ NPL Ratio ปรับลดลงในเกือบทุกพอร์ต ลงมาอยู่ที่ 552,100,000,000 บาทในไตรมาส 4 ปี 2567 ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.78% หลังจากสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3 ปี 2567 ไปแตะระดับ 2.97% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส
โดยเหตุผลหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ประกอบกับลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ NPL ยังปรับตัวดีขึ้นในหลายภาคส่วน นำโดยกลุ่มที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว เช่น ที่พักแรม, โรงแรม, อาหาร และขนส่ง
เมื่อแยกตามพอร์ตสินเชื่อพบว่า NPL ปรับลดลงในสินเชื่อหลายประเภท ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม สุวรรณีคาดว่าการตอบรับของมาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนสินเชื่อบ้านค่อนข้างสูง น่าจะช่วยทำให้ NPL ในงวดถัดไปไม่ปรับสูงขึ้น
สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากโดยปกติแล้วในไตรมาส 4 จะมีการรูดซื้อของ ทำให้ยอดสินเชื่อและ NPL ลดลง สะท้อนมาจากการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลของมาตรการปรับขึ้นการผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment) จาก 5% เป็น 8%
NPL ลด ‘ดัน’ SM ปรับตัวขึ้น
โดยการลดลงของ NPL ส่วนหนึ่งมาจากการที่ลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ปรับชั้นดีขึ้นมาอยู่ที่สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage 2) หรือ SM ประกอบกับมีการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ ส่งผลให้สินเชื่อ Stage 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.98%
หนี้ครัวเรือนต่อ GDP จ่อลด 4 ไตรมาสติด
สุวรรณีกล่าวอีกว่า จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ชะลอการขยายตัว ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 89% ต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2567 นับเป็นการลดลง 3 ไตรมาสติดต่อกัน พร้อมทั้งคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 4 ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ในช่วงเดือนมีนาคม น่าจะปรับลดลงไปสู่ระดับต่ำกว่า 89% ได้อีกเล็กน้อย