สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมกราคม 2563 การส่งออกไทยมีมูลค่า 587,494 ล้านบาท หดตัว 4.63% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 643,511 ล้านบาท หดตัว 14.82% ส่งผลให้การค้าขาดดุล 56,017 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ 6.3% เช่น
- ข้าว หดตัว 34% ในตลาดสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ อังโกลา ฮ่องกง จีน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น โตโก และคองโก
- ผักผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัว 20.3% หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 16.6% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และมาเลเซีย
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 5.2% สินค้าที่ยังขยายตัวดี เช่น ทองคำ เพิ่มขึ้น 299.6% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 35.4% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนขยายตัว 29.9%
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2563 การส่งออกอยู่ที่ 19,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.86% ส่งผลให้การค้าขาดดุล 1,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์มองว่าการส่งออกในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น เพราะการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นเริ่มกลับมาเปิดทำการ และการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ขณะที่เมื่อหักทองคำและน้ำมันการส่งออกไทยเดือนมกราคม 2563 หดตัว 0.6%
ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นผลดีจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวล ทำให้กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบดีขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าภาคการผลิตจริง (Real Sector) เช่น ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่ม ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเดือนมกราคม 2563 หดตัว 7.86% ส่วนหนึ่งมาจากฐานสูงของการนำเข้าอาวุธเพื่อซ้อมรบในเดือนมกราคมปีก่อนหน้า และการนำเข้าทองคำที่ลดลง โดยการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.8% ในกลุ่มเครื่องจักรกล
และส่วนประกอบที่ 18.7% สูงสุดในรอบ 2 ปี
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตามองคือเศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยยังเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้นถึงกลาง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ
ปัจจุบันกรณีโควิด-19 รัฐบาลจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 รายวันในจีนเริ่มลดลง จึงคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และประเมินว่าทางการจีนจะทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้
ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงต้นปี อาจช่วยลดแรงกดดันสำหรับสินค้าที่มีการแข่งทางด้านราคาสูงได้บ้าง ทั้งนี้ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนร่วมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยลบในภาวะที่มีความผันผวนสูง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์