กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2564 กลับมาขยายตัวที่ 3.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่ากลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (36.38%) และฐานราคาที่ต่ำมากในปีก่อน
ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากและมาตรการลดค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภคของรัฐสิ้นสุดลง เช่น การลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของรัฐได้สิ้นสุดลง นอกจากนี้ราคาอาหารสดบางส่วนยังปรับสูงขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผัก และผลไม้ ขยายตัวที่ 0.11%
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวที่ 0.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้าถือว่าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัว 0.09%
ขณะที่เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ทางกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นสัญญาณด้านสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งมองว่าเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน และอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวตามลำดับ
ด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและมูลค่าการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2564 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเมษายน ในกรณีที่ไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นเพิ่มเติมจากรัฐ แต่ที่เงินเฟ้อยังสูงขึ้นมากจากปัจจัยหลักอย่างราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และฐานราคาพลังงานที่ยังต่ำมากในปีก่อน
ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐที่คาดว่าจะออกมาอย่างต่อเนื่อง อาจจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ชดเชยอุปสงค์ที่ลดลงจากการท่องเที่ยวได้ แต่ทิศทางการฟื้นตัวของโลกยังจะช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลต่อราคาอาหารสด
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ +1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า