×

รำลึก 70 ปี หยุดยิงสงครามเกาหลี: ทหารไทย สงครามเกาหลี และ K-Pop

03.08.2023
  • LOADING...
รำลึก สงครามเกาหลี

ถ้าเราต้องแพ้สงครามให้กับพวกคอมมิวนิสต์ในเอเชียแล้ว การล่มสลายของยุโรปจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้…เราต้องชนะเท่านั้น (และ) ไม่มีอะไรที่จะทดแทนต่อชัยชนะได้

 

นายพลดักลาส แมกอาเธอร์ (1951)

 

วันที่ 27 กรกฎาคมของทุกปีอาจดูไม่มีความหมายอะไรมากนัก แต่สำหรับชาวเกาหลีและคนที่สนใจศึกษาเรื่อง ‘สงครามเกาหลี’ แล้ว วันนี้มีความหมายอย่างมาก เพราะเป็นวันที่การสู้รบอย่างโหดร้ายชุดหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ได้สิ้นสุดลง และทำให้ชีวิตของประชาชนชาวเกาหลีกลับคืนสู่ภาวะปกติ 

 

ตลอดช่วงสงครามนั้น มีประชาชนชาวเกาหลีราว 3 ล้านคนต้องสูญเสียชีวิตไปพร้อมกับทรัพย์สินและบ้านเรือนอย่างนับมูลค่าไม่ได้ รวมทั้งชีวิตของทหารที่ไม่ใช่เพียงทหารเกาหลีเหนือและทหารเกาหลีใต้เท่านั้น หากยังรวมถึงทหารจากชาติต่างๆ โดยเฉพาะทหารอเมริกัน และทหารจีนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้มีทหารไทยจำนวนหนึ่งด้วย แม้จะมียอดของการสูญเสียไม่มากนักก็ตาม

 

ทบทวนอดีต

 

สงครามบนคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นในปี 1950 จบลงด้วยการเจรจาหยุดยิงในปี 1953 และเป็นสงครามที่ทหารไทยเข้าไปร่วมรบเป็นครั้งแรกกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ร่มธงของสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และเป็นครั้งแรกอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกันที่ทหารไทยรบกับ ‘ทหารจีนคอมมิวนิสต์’ และ ‘ทหารเกาหลีเหนือ’

 

สงครามนี้เป็นหนึ่งในสงครามใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ที่มีการรบอย่างรุนแรง และเป็นหนึ่งในการสงครามของโลกในยุคสงครามเย็นที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สงคราม อีกทั้งเป็นสงครามแรกที่กองทัพของโลกตะวันตก โดยเฉพาะกองทัพอเมริกันและกองทัพอังกฤษ ได้ปะทะอย่างจริงจัง และรบอย่างนองเลือดในหลายจุดกับกองทัพจีนคอมมิวนิสต์

 

ดังนั้น สงครามนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของสงครามของสหรัฐฯ ในเอเชียในยุคสงครามเย็น ก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่สงครามเวียดนามในเวลาต่อมา 

 

ดังที่กล่าวแล้ว สงครามนี้มีความเกี่ยวข้องกับสังคมไทย เพราะทหารไทยจำนวนหนึ่งมาจาก ‘กรมผสมที่ 21’ (ผส. 21) หรือปัจจุบันคือ ‘กรมทหารราบที่ 21’ ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งในทางการเมืองรู้จักกันในชื่อของ ‘บูรพาพยัคฆ์’ อันเป็นกลุ่มทหารที่เป็น ‘แกนกลาง’ ของการรัฐประหารในปี 2006 และ 2014 ซึ่งบทบาทของทหารกลุ่มนี้เป็นภาพสะท้อนของ ‘ทหารการเมือง’ ในยุคปัจจุบัน

 

ในสงครามเกาหลี ทหารไทยรบอย่างกล้าหาญจนได้รับสมญานามจากสนามรบว่า ‘กองพันพยัคฆ์น้อย’ (The Little Tiger) ซึ่งเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นต้นทางของชื่อบูรพาพยัคฆ์ในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน และต่อมาเมื่อสถานการณ์สงครามลดระดับความรุนแรงลง กำลังพลของ ผส. 21 จึงเริ่มปรับลดกำลังลงในปลายปี 1954 คงต้องยอมรับว่า ประวัติการรบของกองพันพยัคฆ์น้อยในสงครามเกาหลีเป็นตัวแทนความกล้าหาญของทหารไทย ที่ได้แสดงให้เห็นในเวทีสงครามระหว่างประเทศ ไม่ใช่บทบาทของการเป็น ‘ทหารการเมือง’ เช่นที่เห็นในการเมืองไทยปัจจุบันแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ความทรงจำในเรื่องเหล่านี้ดูจะห่างหายไปจากสังคมไทยนานแล้ว…สงครามเกาหลีจบไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ซึ่งบรรดาทหารผ่านศึกหลายนายจากยุคนั้นได้จากไปตามอายุขัย และความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในสังคมของเราอาจรางเลือนเต็มที แม้กระทั่งความทรงจำในเรื่องสงครามเวียดนามซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง ก็อาจจะไม่ต่างกันมากนัก 

 

นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในเรื่องของการส่งกำลังพลของกองทัพไทยเข้าสู่สนามรบในเกาหลี น่าจะไม่มีใครหลงเหลือให้นิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกได้สัมภาษณ์ทำวิจัยอีกแล้ว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เหลือแต่เพียงเอกสารในหอสมุดแห่งชาติที่วอชิงตันและที่กรุงเทพฯ ที่ยังคงเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็น ‘บันทึกสงคราม’ ของทหารไทยในสนามรบที่เกาหลี ดังเช่น การรบอย่างกล้าหาญที่ ‘เนินเขาพอร์กช็อป’ (Pork Chop Hill) หรือ ‘เนิน 255’ ในแผนที่ทางยุทธการ เป็นต้น (เนินเขานี้อยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 คืออยู่ในพื้นที่ของเกาหลีเหนือในปัจจุบัน)

 

ความทรงจำสงคราม

 

ในขณะที่ดูเหมือนความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องสงครามเกาหลีของคนในสังคมไทยยุคหลังนั้น น่าจะเป็นเรื่องห่างไกลอย่างมาก ดังกล่าวแล้วว่า ระยะเวลา 70 ปีทำให้เรื่องนี้หายไปจากการรับรู้ จนคนรุ่นใหม่อาจนึกไม่ถึงว่าคนไทยยุคนั้นรู้จักเพลง ‘อารีดัง’ (เพลง ‘อารีรัง’) ก็จากสถานการณ์สงครามเกาหลี และเป็นเพลงติดอันดับในยุคนั้นด้วย แม้จะไม่ได้เข้ามาในช่วงของสงครามเกาหลีทันที แต่ก็เป็นการรับมาบนเงื่อนไขของสงคราม

 

ท่านผู้อ่านที่สนใจอาจลองหาฟังได้จากเพลงเก่า ‘แม่ไม้เพลงไทย’ ชุด ‘โตเกียว-อารีดัง’ และขอให้ต้องฟังต้นฉบับเพลงชื่อ ‘เสียงครวญจากเกาหลี’ ที่ขับร้องโดย สมศรี ม่วงศรเขียว

 

(ภาพ: เครื่องหมายกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพบกสหรัฐฯ)

 

อีกทั้งอยากชวนท่านผู้อ่านเปิดดูภาพหน้าปกแผ่นเสียงยุคนั้น จะเห็นเครื่องแบบทหารไทยในช่วงนั้น พร้อมกับติดเครื่องหมายธงไตรรงค์ที่ไหล่ขวา เป็นสัญลักษณ์ของการออกปฏิบัติราชการในประเทศที่ 3 ส่วนที่ไหล่ซ้ายจะติดเครื่องหมายของกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพบกสหรัฐฯ ที่เป็นรูป ‘หัวอินเดียนแดงในดาวสีขาว’ ซึ่งบ่งบอกถึงการที่หน่วยทหารไทยขึ้นสายการบังคับบัญชาทางยุทธการกับกองพลทหารราบอเมริกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของบทเพลงนั้นต้องให้เครดิตอย่างมากกับ ‘ครูเบญจมินทร์’ (ตุ้มทอง โชคชนะ) ที่สามารถแปลงเพลงเกาหลีให้เป็นเนื้อเพลงไทยได้อย่างน่าฟัง…ลองฟังดูนะครับ…เพลงฮิตเกาหลีที่เข้ามาในสังคมไทยก่อนการมาถึงของยุค K-Pop

 

ในสมัยที่ยังสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อถึงหัวข้อเรื่อง ‘นโยบายต่างประเทศไทยกับสงครามเกาหลี’ ครั้งใด ผมจะเปิดเพลงนี้ให้นิสิตทุกรุ่นฟัง และโชว์หน้าปกภาพหน้ากล่องซีดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นบรรยากาศในยุคนั้น ดังนั้น จึงอยากขอเชิญชวนท่านผู้อ่านให้ลองเปิดฟังเพลงนี้ เพื่อให้ได้บรรยากาศกับการอ่านบทความนี้ เปิดจาก YouTube ได้เลยครับ… “โอ้อารีดังก่อนยังเคยชื่นบาน ทุกๆ วัน รื่นรมย์สมใจ ถึงยามราตรีเหล่าชายชาตรีทั่วไป ระเริงใจร้องรำตามเสียงเพลงเรา…”

 

(ภาพ: ด้านหน้า-ด้านหลัง พระพุทธชินราช รุ่นสงครามเกาหลี)

 

มรดกสงครามเกาหลีอีกชิ้นที่หายไปกับกาลเวลาคือ ‘พระพุทธชินราช รุ่นสงครามเกาหลี’… ตามคติไทยโบราณแล้ว เมื่อทหารจะไปราชการสงคราม รัฐบาลจะจัดทำวัตถุมงคลเป็น ‘พระเครื่อง’ ที่วัดสุทัศนเทพวรารามในปี 1950 เพื่อให้ทหารไทยนำติดตัวเป็นมงคลไปใช้ในสนามรบ เช่นเมื่อครั้งสงครามอินโดจีน รัฐบาลพิบูลสงครามได้ทำ ‘พระพุทธชินราชอินโดจีน’ ในปี 1942 แจกทหารในครั้งนั้น 

 

สำหรับพระพุทธชินราชสงครามเกาหลีนั้น ด้านหลังมีสัญลักษณ์สำคัญคือ มีการตอกโค้ดเป็นเครื่องหมาย ‘กงจักร’ และใต้กงจักรเป็นเลขไทย ‘๒๑’ กงจักรคือเครื่องหมายกองทัพบก และเลข 21 คือหมายเลขกรมผสม ซึ่งปัจจุบันพระเครื่องดังกล่าวไม่ค่อยเป็นที่พบเห็นเท่าใดนัก และบางครั้งผู้พบเห็นก็ไม่เข้าใจว่ากงจักรและเลข 21 ด้านหลังพระคืออะไร

 

อันที่จริง สงครามเกาหลีห่างหายไปจากความทรงจำนานแล้ว…การรับรู้เรื่องเกาหลีปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของสงครามอีกต่อไปแล้ว กลายเป็นเรื่อง K-Pop ที่มากับภาพยนตร์ ดนตรี และการแสดง รวมทั้ง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จนวันนี้คนไทยดูจะ ‘ติด’ ภาพยนตร์เกาหลีกันอย่าง ‘งอมแงม’ และเกาหลียังเป็นจุดหมายของทัวร์ไทยที่ต้องไปอีกด้วย จนวันนี้คนไทยอาจลืมสงครามเกาหลีในอดีตไปหมดแล้ว

 

วันนี้จึงอยากลองชวนท่านผู้อ่านกลับมาคุยเรื่องสงครามเกาหลีกันอีกครั้ง และร่วมกันรำลึกถึงทหารไทยที่เคยไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ในวาระครบรอบ 70 ปีของการหยุดยิงในสงครามเกาหลีด้วย

       

สงครามใหญ่ของศตวรรษที่ 20

 

สงครามเกาหลีเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 1950 และสิ้นสุดลงด้วยการเจรจาหยุดยิงที่หมู่บ้านปันมุนจอมในเดือนกรกฎาคม 1953 การเจรจาหยุดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีที่แล้วมิได้หมายความว่าสงครามเกาหลีได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นการ ‘หยุดการรบ’ แต่โดยกระบวนการของกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น สงครามเกาหลีไม่ได้ถึงจุดสิ้นสุดจริงแต่อย่างใด อาจต้องกล่าวว่าสถานะสงครามบนคาบสมุทรยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่ไม่มีการสู้รบเกิดขึ้นในแบบเดิม

 

ดังนั้น 70 ปีของการหยุดยิงของสงครามเกาหลี จึงเป็นประเด็นที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอีก เพื่อให้เห็นถึง ‘สงครามร้อน’ แรกของสงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 (เช่นที่สงครามยูเครนเป็น ‘สงครามร้อน’ แรกของสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21)

 

(ภาพ: แผนที่เกาหลี แสดงเส้นขนานที่ 38)

 

จุดกำเนิด

 

สงครามเกาหลีเป็นผลจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามโลกได้ยุติลงแล้ว เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดย ‘เส้นขนานที่ 38’ เส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ทำให้เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตรัสเซีย และมีระบอบการปกครองเป็นแบบสังคมนิยม ส่วนเกาหลีใต้อยู่กับทางสหรัฐอเมริกา และปกครองด้วยระบอบเผด็จการฝ่ายขวา 

 

แต่ในช่วงต้นปี 1950 การสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อเกาหลีใต้เริ่มลดลง จนทำให้สตาลินมีความมั่นใจว่า น่าจะถึงเวลาที่จะใช้การ ‘รวมชาติด้วยกำลัง’ เพราะในอีกด้าน จีนเองก็เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคม 1949 ซึ่งการเป็นสังคมนิยมของจีนเช่นนี้จะเป็น ‘หลังผิง’ อย่างดีให้การรุกทางทหารของเกาหลีเหนือ กล่าวคือ ในมุมมองของผู้นำโซเวียตนั้น สถานการณ์แวดล้อมทางยุทธศาสตร์เช่นนี้น่าจะ ‘สุกงอม’ เพียงพอสำหรับการเปิดสงครามกับเกาหลีใต้และกองทัพสหรัฐฯ แล้ว

 

แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้น ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 1950 กองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนกำลังข้ามเส้นขนานที่ 38 ด้วยความหวังที่จะชิงความได้เปรียบจากการรุกที่เปิดการเข้าตีอย่างรวดเร็ว เพราะทหารเกาหลีใต้ในแนวหน้าลากลับบ้านเนื่องจากเป็นวันหยุดพักผ่อน และกำลังทหารอเมริกันในพื้นที่ได้ถูกถอนออกไปก่อนหน้านี้ การเข้าตีอย่างฉับพลันและการรุกอย่างรวดเร็วทำให้กองทัพเกาหลีใต้และกองทัพอเมริกันเป็นฝ่ายถอยร่นตลอดแนวอย่างคาดไม่ถึง และโซลซึ่งเป็นเมืองหลวงตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเกาหลีเหนือ

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ฝ่ายตะวันตกได้ผลักดันให้สหประชาชาติเปิดการประชุมด่วน และมีมติให้จัดตั้ง ‘กองกำลังผสมนานาชาติ’ (Multinational Forces) เพื่อหยุดยั้งการรุกรานของเกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกาแต่งตั้งนายพลดักลาส แมกอาเธอร์ (Gen. Douglas MacArthur) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังผสม และจัดตั้ง ‘กองทัพที่ 8’ (The Eighth Army) ซึ่งประกอบด้วย 5 กองพลทหารราบอเมริกัน และ 1 กองพลน้อยทหารราบอังกฤษ 

 

ส่วนกำลังรบเดิมที่ถูกการรุกของเกาหลีเหนือเข้าตีนั้น ทั้งของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ถอยร่นและรวมกำลังหลักอยู่ที่เมืองปูซาน หรือที่เรียกในทางทหารว่า ‘แนวป้องกันที่ปูซาน’ (The Pusan Perimeter) ในการนี้นายพลแมกอาเธอร์จัดตั้งกำลังสำรอง 1 กองทัพน้อยอเมริกันที่ญี่ปุ่น ประกอบด้วย 1 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลนาวิกโยธิน เพื่อเตรียมเปิดการรุกทางทหาร หรือรอเวลาของการเปิด ‘การรุกกลับ’ (Counteroffensive) 

 

จุดเปลี่ยน

 

เมื่อการเตรียมกำลังมีความพร้อมรบ ฝ่ายอำนวยการของนายพลแมกอาเธอร์จึงจัดทำแผนยุทธการในการเตรียมยกพลขึ้นบก โดยมีเป้าหมายที่เมืองอินชอน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของคาบสมุทร และเป็นพื้นที่หลังแนวรบ… การยกพลขึ้นบกที่อินชอน (The Inchon Landing) เกิดขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 1950 ประสบความสำเร็จอย่างดี และถือว่าเป็น ‘Absolute Surprise’ ของปฏิบัติการนี้ ที่นักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ทหารในยุคหลังยังต้องใช้เป็นตัวอย่างของการศึกษา

 

ความสำเร็จของการยกพลขึ้นบกที่อินชอนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงให้กำลังรบของเกาหลีเหนือประสบปัญหา และเกิดความละล้าละลัง ประกอบกับกำลังรบของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เริ่มเปิดการรุกจาก ‘แนวปูซาน’ จากทางใต้ขึ้นมา จนสามารถผลักดันให้ฝ่ายเกาหลีเหนือต้องถอยร่นพ้นจากเส้นขนานที่ 38 จนฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยึดโซลที่เป็นเมืองหลวงของเกาหลีใต้กลับคืนมาได้ในช่วงวันที่ 26-27 กันยายน 1950 ซึ่งการยุทธ์ครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของนายพลแมกอาเธอร์ หลังจากการสู้รบอย่างมีชื่อเสียงของเขาในสมรภูมิฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

แต่ความสำเร็จของกองทัพสหประชาชาติเช่นนี้ก็มีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า…ถ้าเช่นนั้นจีนจะยอมให้กองทัพเกาหลีเหนือต้องพ่ายแพ้ และเกาหลีเหนืออาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกหรือไม่? และผลจากการถอยร่นของกองทัพเกาหลีเหนือนั้น ทำให้เป็นครั้งแรกที่กองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะทหารอเมริกันและอังกฤษ รุกเข้าไปในดินแดนของเกาหลีเหนือ

 

แน่นอนว่าจีนไม่มีทางยอมเป็นอันขาด เพราะการรุกของสัมพันธมิตรเข้ามาในดินแดนของเกาหลีเหนือนั้นเป็น ‘ภัยคุกคามฉับพลัน’ (Immediate Threat) ต่อความมั่นคงจีนโดยตรง ดังนั้น ในเวลาต่อมาผู้นำจีนตัดสินใจครั้งสำคัญในการส่งกำลังทหารจีนราว 1.3 แสนนาย ข้ามพรมแดนที่แม่น้ำยาลูเข้ามาช่วยเกาหลีเหนือ ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็กังวลกับปัญหาเช่นนี้อย่างมาก เพราะการรบอาจยกระดับจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งใหม่ระหว่างค่ายตะวันตกกับค่ายตะวันออกได้

 

การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นที่มาของสำนวนที่เรียกว่า ‘ข้ามแม่น้ำยาลู’ หรือ ‘Crossing the Yalu River’ ที่มีนัยถึงการตัดสินใจของผู้นำจีนที่จะส่งกำลังรบเข้าปกป้องผลประโยชน์ที่สำคัญของตน ซึ่งต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์และขีดความสามารถของทหารจีนมีสูง ทั้งยังมีประสบการณ์การรบแบบสงครามกองโจร ที่เคยใช้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว การรบของกองทัพจีนได้สร้างความเสียหายให้กับกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์สงครามใหญ่นั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถประกอบกำลังทหารราบได้เป็นจำนวนมาก โดยกำลังพลของเกาหลีใต้มี 11 กองพล, สหรัฐฯ 7 กองพล, อังกฤษ 1 กองพล และกำลังรบจากชาติต่างๆ อีก 14 ชาติ ซึ่งมีกำลังเข้าร่วมทั้งระดับกองพันและกองพลน้อย (ในจำนวนนี้มีกำลัง 1 กองพันทหารราบ พร้อมกับกำลังทางเรือและทางอากาศจำนวนหนึ่งจากประเทศไทยด้วย) กำลังรบเหล่านี้มากพอที่จะยันการรุกของจีนและเกาหลีเหนือได้ ขณะเดียวกันก็บ่งบอกว่าสงครามเกาหลีได้กลายเป็นสงครามใหญ่ และเป็นสงครามที่มีความสูญเสียอย่างหนักของรัฐคู่สงคราม โดยเฉพาะทหารเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมทั้งทหารอเมริกันและทหารจีน โดยเฉพาะทหารจีนที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในสงครามครั้งนี้ 

 

จุดสิ้นสุด

 

การสู้รบหลังจากกำลังพลของจีนเข้าสู่เกาหลีแล้วทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนและเกาหลีเหนือก็ประสบความสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน ที่จริงแล้วปัญหาการรบมีแนวโน้มที่น่าจะจบได้ในปี 1951 แต่ต้องยืดออกไปอย่างไม่คาดคิด อันเป็นผลจากปัญหาเชลยศึก เนื่องจากมีข้อเสนอของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องการให้เชลยสามารถตัดสินใจอย่างเสรี โดยเลือกที่จะอยู่กับฝ่ายใดก็ได้หลังจากการปล่อยตัวแล้ว แต่ทางการจีนและเกาหลีเหนือเกรงว่าทหารของตนที่เป็นเชลยศึกจะไม่ยอมกลับประเทศ หรือทหารเกาหลีเหนือจะขออยู่และตั้งรกรากในเกาหลีใต้มากกว่าที่จะกลับบ้าน 

 

แต่ในท้ายที่สุด ปัจจัยที่บังคับให้คู่สงครามต้องยอมเจรจาหยุดยิงคือ ความสูญเสียอย่างหนักของแต่ละฝ่ายในสงคราม และในที่สุดการเจรจาหยุดยิงก็ประสบความสำเร็จในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953 ที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนพื้นที่รอยต่อของเส้นขนานที่ 38…การสู้รบจบแล้ว แต่ในความเป็นจริงสงครามบนคาบสมุทรเกาหลียังไม่จบ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบแต่อย่างใดในปัจจุบัน

 

ในวันนี้ยิ่งชัดเจนว่าสงครามเกาหลียังดำรงอยู่ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของสงครามแบบเดิม แต่เป็น ‘สงครามประสาท’ ที่เป็นความตึงเครียดทางทหาร ความท้าทายของการทดลองยิงขีปนาวุธ รวมถึงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่กระนั้นก็เป็นความหวังอย่างมากว่า ‘สงครามเกาหลีในศตวรรษที่ 21’ จะไม่เกิดขึ้น ดังเช่นที่เห็นในยูเครน เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงในครั้งนี้ กำลังรบที่จะข้ามเส้นขนานที่ 38 ลงใต้ อาจจะไม่ใช่การเข้าตีของขบวนรถถังและการเคลื่อนกำลังของทหารราบ แต่อาจจะเป็นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ถูกยิงข้ามเส้นขนานนี้!

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักประวัติศาสตร์และนักการทหารหลายๆ คนแล้วล้วนมีความเห็นคล้ายกันว่า สงครามเกาหลีเป็น ‘สงครามที่ถูกลืม’ (The Forgotten War) อาจจะเนื่องด้วยเป็นสงครามที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากเท่ากับสงครามอื่นๆ จึงเป็นดังการ ‘ถูกลืม’ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสงครามเกาหลีเป็นสงครามใหญ่ ที่มีทั้งบทเรียนในมิติทางการเมืองและการทหารในหลายเรื่อง 

 

ดังนั้น ในวันนี้จึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านให้ร่วมรำลึกสงครามเกาหลีในวาระครบรอบการหยุดยิง และเป็นความหวังว่าพวกเราในเอเชียจะไม่ต้องเผชิญกับสงครามใหญ่เช่นนี้อีกในอนาคต

 

ขอร่วมรำลึกถึงปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเกาหลี และรำลึกถึงทหารไทยที่เสียชีวิตในสงครามนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปีของความตกลงหยุดยิงที่หมู่บ้านปันมุมจอม ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X