×

“เราแค่อยากกลับบ้าน” รำลึก 1 ปีสงคราม วันนี้ชีวิตชาวยูเครนเป็นอย่างไร

24.02.2023
  • LOADING...

“ความสุขของคุณคืออะไร” คำตอบของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน

 

ในอีกซีกโลกหนึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าความสุขของเขาคือ “ขอแค่ได้กลับบ้าน”

 

บ้านที่มีความหมายมากกว่าสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นบ้านของหัวใจ บ้านอันแสนอบอุ่น บ้านที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของสมาชิกครอบครัวทุกคนที่ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข…บ้านที่แข็งแรง ปลอดภัย ไม่ใช่บ้านที่ไม่รู้ขีปนาวุธจะปักลงมาเมื่อใด

 

เขาเคยมีทุกสิ่งเหล่านั้น แต่ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไป นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 วันที่กองกำลังทหารรัสเซียเริ่มรุกรานมาตุภูมิของพวกเขา

 

คนที่จากแผ่นดินเกิด

อิรีนา ทิตโกวา (Iryna Titkova) ครูสอนภาษาอังกฤษชาวยูเครน ได้พาลูกของเธอทั้ง 3 คนระหกระเหินออกจากกรุงเคียฟ มาอยู่ที่แฟลตเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียได้เกือบปีแล้ว หลังจากที่สงครามไม่มีทีท่าว่าจะจบลง

 

“ฉันมีความรู้สึกหลายอย่างปะปนกันไปหมด” อิรีนากล่าว “ตอนนี้เรามีอาหารกิน ได้อยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่อบอุ่น สมาชิกในครอบครัวก็อยู่กันพร้อมหน้า และก็มีเงินจำนวนหนึ่งที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพ”

 

แม้เธอไม่ได้พูดอะไรออกมาหลังจากนั้น แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าสิ่งที่ขาดหายไปและไม่มีทางถูกเติมเต็มได้คือบ้านหลังเดิมที่แสนอบอุ่นในย่านเออร์พิน เขตชานเมืองของกรุงเคียฟ ขณะสายตาของเธอจับจ้องไปยังโปสเตอร์ที่แปะอยู่บนผนัง ซึ่งมีข้อความว่า Love Home 

 

“บางทีฉันละอายใจนะที่เรามีความสุขกับสิ่งต่างๆ ตรงหน้า เพราะฉันรู้ว่าคนที่ยังยืนหยัดอยู่ในยูเครนเขาทรมานกันขนาดไหน”

 

อิรีนาและลูกๆ ของเธอเป็นเพียงครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งจากจำนวนชาวยูเครนทั้งหมด 8 ล้านคนที่จำใจต้องละทิ้งแผ่นดินเกิดมาตายเอาดาบหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป เพราะหากอยู่ในบ้านเกิดของตัวเองต่อไป ก็ไม่รู้ว่าจะเจอ ‘แจ็กพอต’ เป็นจรวดจากรัสเซียเอาวันไหน

 

อิรีนาเล่าว่า เธอและสามีตัดสินใจพาลูกๆ เดินทางออกจากยูเครนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 หรือ 1 วันหลังจากที่รัสเซียส่งทหารเข้ารุกราน

 

วาเลรี (Valerii) สามีของอิรีนา ที่ถึงแม้ตอนนี้จะเติบโตเป็นชายวัยกลางคน แต่แผลจากประสบการณ์ในวัยเด็กของเขาไม่อาจถูกเยียวยาได้ เมื่อเขาเคยเผชิญกับสงครามในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน สองอดีตสาธารณรัฐ สมาชิกสหภาพโซเวียต ฉะนั้นในวันที่สงครามคืบคลานมาถึงยูเครน…มาถึงลูกของเขา สิ่งเดียวที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ ต้องพาลูกหนีไปยังที่ที่ปลอดภัยที่สุด

 

ซึ่งเขาคิดถูก เพราะตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีพลเรือนเกือบ 8,000 คนที่ต้องถูกสงครามพรากชีวิตไป มีคนมากกว่า 11,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ หากยังอยู่ที่นั่นก็ไม่แน่ว่าเหยื่อรายต่อไปอาจเป็นคนในครอบครัวของตัวเอง

 

วาเลรียังถือว่าพอมีโชคอยู่บ้าง เพราะในช่วงสงครามยูเครนสั่งไม่ให้ผู้ชายอายุ 18-60 ปีเดินทางออกนอกประเทศ เพราะมองว่าเป็นช่วงวัยที่สามารถเกณฑ์ไปเป็นกองหนุนสำหรับสู้รบได้ แต่วาเลรีได้รับข้อยกเว้นเนื่องจากเขาเป็นเสาหลักของครอบครัวใหญ่

 

ครอบครัวทิตโกวาเป็น 1 ในชาวยูเครน 90,000 คนในออสเตรียที่ได้รับ ‘บัตรน้ำเงิน’ ของสหภาพยุโรป ทำให้พวกเขาได้รับสิทธิคุ้มครองพิเศษ ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนจากยูเครนสามารถอาศัยในออสเตรียได้จนถึงเดือนมีนาคม 2024 โดยไม่ต้องใช้เอกสารขอลี้ภัย และได้รับความช่วยเหลือทางการเงินมากกว่าผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นๆ โดย 1 ครอบครัวจะได้รับเงินมากกว่า 1,000 ยูโร (ประมาณ 36,700 บาท) ต่อเดือน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารการกินและค่าเช่าบ้าน นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิในการเรียนภาษาฟรี ซึ่งอิรีนาและวาเลรีก็ได้เรียนภาษาเยอรมัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ด้วย

 

แต่การต้องเรียนภาษาใหม่ตั้งแต่ต้นสำหรับคนมีอายุแล้วถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อย วาเลรีซึ่งพูดภาษารัสเซียมาตลอดชีวิตยอมรับว่าการทำงานแต่ละวันก็เหนื่อยแล้ว ทำให้เขาแทบไม่มีเวลาโฟกัสในการเรียนภาษา ข้อมูลต่างๆ แทบจะไม่เข้าหัวเอาเสียเลย

 

เดิมทีแล้ววาเลรีทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดอยู่ที่ยูเครน แต่มาได้งานเป็นพนักงานคลังสินค้าในเครือร้านอาหารอเมริกันแห่งหนึ่งในออสเตรีย เขาต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ก่อนที่จะตบท้ายด้วยการเรียนภาษาเยอรมัน และพาลูกๆ ไปทำกิจกรรมต่างๆ

 

ส่วนอิรีนาจากเดิมที่เป็นครูสอนภาษา ตอนนี้ได้ผันตัวมาทำงานในร้านขายสมุนไพร แม้อาจไม่ใช่อาชีพในฝัน แต่เธอกล่าวว่านี่คือหนทางที่เธอต้องเลือก นั่นคือการย้ายมาอยู่ในประเทศที่ปลอดภัย

 

แม้ชีวิตของพวกเขาจะดีกว่าคนที่ยังคงปักหลักอยู่ในยูเครนหลายเท่า แต่ไม่เคยมีสักวันที่พวกเขารู้สึกโล่งใจ เพราะภาพในหัวก็ยังมีแต่ความทุกข์ทรมานของเพื่อนร่วมชาติวนเวียนอยู่ตลอดเวลา ผสมกับความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิด คิดถึงทุกคนที่ยังอยู่ตรงนั้น

 

“ฉันพยายามหลอกตัวเองว่าทุกอย่างกำลังไปได้ เราปรับตัวกันได้ดี แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ฉันคิดทุกวันคือฉันอยากกลับบ้าน”

 

ทุกๆ เช้า หลังลืมตาตื่นขึ้นมา สิ่งที่เธอคิดเป็นอันดับแรกเลยคือ สถานการณ์ในยูเครนตอนนี้เป็นเช่นไรบ้าง 

 

“กิจวัตรทุกๆ วันของฉันหลังตื่นนอนคือการเปิด Telegram เช็กว่าเคียฟและเออร์พินเป็นอย่างไรบ้าง และส่งข้อความไปหาญาติๆ ว่าพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

“สามีของฉันเขาบอกว่า ‘คุณต้องหยุดทำแบบนี้ คุณต้องเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว’ ซึ่งฉันก็เข้าใจ ฉันออกไปทำงาน ฉันเรียนหนังสือ ฉันอยู่กับครอบครัว”

 

แต่เธอยอมรับว่าตนเองไม่เคยอยู่สุขเลยสักวัน เธอทั้งคิดถึงบ้าน คิดถึงญาติพี่น้อง การที่เธอพาลูกมาอยู่ในที่ปลอดภัยก็ต้องแลกด้วยความรู้สึกผิดที่ตามหลอกหลอนอยู่ทุกคืนวัน

 

“ฉันไม่รู้ว่าจะช่วยเพื่อนกับญาติๆ ในยูเครนได้อย่างไร นอกจากที่ทำอยู่คือส่งเงินไปให้” โดยเธอและสามีมักจะโอนเงินหลายร้อยยูโรให้กับเพื่อนๆ และญาติอยู่เป็นประจำ เพื่อหวังว่าตัวเองจะสามารถจุนเจือคนที่ยังอยู่ได้บ้าง

 

สำหรับปี 2023 สิ่งที่อิรีนาหวังมีเพียงแค่สิ่งเดียวคือ ขอให้ปีนี้สงครามเดินไปถึงจุดสิ้นสุด เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับมามีชีวิตจริงๆ…ไม่ใช่ชีวิตที่ตายทั้งเป็น

 

คนที่ยังอยู่

ท่ามกลางเสียงระเบิดที่ดังสนั่นจากพื้นที่ใกล้เคียง ทาเทียนา บุชลาโนวา (Tatiana Bushlanova) หญิงสาวชาวยูเครนกลับไม่ได้หวั่นไหว เธอยังคงนั่งให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย ต่อหน้าซากอาคารที่เคยเป็น ‘บ้าน’ ของเธอในเมืองมาริอูโปล

 

แต่สิ่งที่ทำให้เธอหวั่นไหวคือเรื่องราวที่เธอค่อยๆ ถ่ายทอดออกมา จนต้องหลั่งน้ำตาอยู่หลายครั้งเมื่อหวนคิดถึงมัน

 

ด้วยทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของเมืองมาริอูโปลซึ่งตั้งอยู่ติดทะเลอะซอฟ ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเป้าหมายหลักของ ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ ของรัสเซีย โดยหลังจากที่เปิดฉากบุกยูเครนได้ 3 เดือน กองทัพรัสเซียก็สามารถยึดมาริอูโปลได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม ทหารของยูเครนได้ยกธงขาวยอมศิโรราบให้กับกำปั้นเหล็กของมอสโก

 

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น พื้นที่จำนวนมากในเมืองก็พังพินาศ ผู้คนหลายชีวิตถูกสังหาร ประชากรในเมืองนับแสนคนแตกกระเจิงไปคนละทิศละทาง แต่ไม่ใช่กับทาเทียนา…เธอยังคงปลักหลักอยู่ และเลือกที่จะอยู่ที่บ้านของตัวเอง

 

เธอกล่าวว่า สงครามทำให้ผู้คนในเมืองเปลี่ยนไป การตาย การสูญเสีย และการทำลายล้าง ทำให้เมืองที่เคยเต็มไปด้วยคนใจดีกลายเป็นเมืองที่ผู้คนมีจิตใจแข็งกระด้างไปจากเดิม แต่เธอก็เข้าใจได้ว่าทำไม

 

“ผู้คนสูญเสียทุกอย่าง ทุกๆ คนตอนนี้ดูแปลกไปหมด หลายคนสะสมความโกรธไว้ในใจ ฉันไม่เห็นภาพของความเอื้ออารีในสังคมเลย”

 

เธอเล่าด้วยน้ำตาต่อไปว่า เพื่อนบ้านของเธอคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากถูกซากอาคารที่พังถล่มจากแรงระเบิดทับร่าง ลูกชายของเพื่อนบ้านคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะออกไปทำธุระ ส่วนเพื่อนบ้านอีกคนรอดชีวิต แต่มือขาดเพราะถูกระเบิด

 

ทาเทียนายังอยู่ที่ซากอาคารดังกล่าวประมาณ 2 เดือนนับตั้งแต่ที่ถูกโจมตี เพราะยังทำใจไม่ได้ที่จะต้องย้ายที่พักอาศัยหลังจากอยู่ที่นี่มากว่า 20 ปี แม้ตอนนั้นจะไม่มีไฟฟ้า ก๊าซ หรือน้ำประปาใช้ก็ตาม

 

“เราไม่อยากออกจากบ้านเลย แต่มนุษย์ก็ต้องกินอาหาร เราออกไปข้างนอก เจอกับเครื่องบินรบบินวนอยู่เหนือหัว มันน่ากลัวมากแค่กับการออกไปข้างนอกเพื่อทำอะไรกิน”

 

แต่ในที่สุดหลังจากนั้นเธอและสามีก็ย้ายมาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์อีกแห่งซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตรจากอาคารหลังเดิม ซึ่งเป็นของสามีภรรยาคู่หนึ่งชื่ออังเดรและมารินาที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะโดนลูกหลงจากกระสุนปืนระหว่างที่ทหารรัสเซียสู้กับยูเครนในวันที่พยายามยึดครองมาริอูโปล และศพของพวกเขาก็ถูกฝังไว้ที่สนามหญ้าหน้าอพาร์ตเมนต์นี่เอง

 

แม้ภายนอกจะดูแข็งแกร่งเพียงใด แต่ทาเทียนายังคงบอบช้ำจากสิ่งที่เธอและสามีต้องประสบพบเจอ โดยกล่าวว่าชีวิตในมาริอูโปลเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากทางการรัสเซียยอมสร้างตึกอพาร์ตเมนต์ขึ้นใหม่

 

เจ้าหน้าที่รัสเซียได้ประกาศแผนฟื้นฟูระยะยาวสำหรับเมืองนี้โดยเฉพาะ โดยพวกเขาได้เริ่มใช้สกุลเงินรูเบิล และเปลี่ยนโรงเรียนไปใช้หลักสูตรภาษารัสเซีย

 

ในที่สุดอาคารที่เป็นบ้านหลังเก่าของเธอก็ถูกรื้อถอนออกไป แต่รัสเซียยืนยันว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ ซึ่งตอนนี้เธอและสามีได้ทำเอกสารส่งไปเพื่อขอรับเงิน 100,000 รูเบิล (ประมาณ 46,000 บาท) ทางการบอกว่าจะรู้ผลภายใน 70 วัน 

 

ส่วนในขณะนี้คู่สามีภรรยาดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินค่าจ้างที่ได้จากการรับทำความสะอาดตามบ้าน และเงินบำนาญเดือนละ 10,000 รูเบิล (ราว 4,600 บาท) ซึ่งเธอบอกว่าแทบไม่พอยาไส้สำหรับค่าอาหารที่แพงขึ้นกว่าช่วงก่อนสงครามมาก

 

ปัจจุบันเมืองมาริอูโปลยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และไม่มีทีท่าว่าสงครามจะจบลงง่ายๆ แต่ทาเทียนากล่าวว่า เธอและสามียืนยันที่จะอยู่ในเมืองนี้ เมืองที่เป็นบ้านของเธอมายาวนานหลายสิบปี

 

“ขอโทษด้วยนะ แต่เราจะใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายได้ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ที่นี่” เธอกล่าว “ขอเพียงแค่ความสงบสุข กับอพาร์ตเมนต์ให้เรานอนก็พอ ฉันขอแค่นี้จริงๆ”

 

นี่คือเสียงคนตัวเล็กๆ เพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม ความขัดแย้ง และเกมการเมืองระหว่างประเทศของมหาอำนาจ 

 

วันคืนผ่านไปวันแล้ววันเล่า ความทุกข์เข็ญของประชาชนก็ยิ่งเพิ่มทวี สวนทางกับความหวังที่เริ่มริบหรี่ พวกเขาไม่รู้เลยว่าสงครามจะสิ้นสุดที่ตรงไหน แล้วเมื่อไรเสียงกระสุน เสียงระเบิด และเสียงร้องไห้ให้กับความสูญเสีย จะถูกแทนที่ด้วยเสียงหัวเราะในบ้านที่อยู่กันพร้อมหน้าบนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง

 

ภาพ: Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising