“คุณโชคดีนะ วันนี้ในเมืองมีขบวนพาเหรดใหญ่ เพราะโบโกตาฉลองวันเกิดพอดี รีบเข้าไปในเมืองเลย เดี๋ยวเขาจะมีขบวนละนะ รีบไปเลย”
พนักงานต้อนรับที่เรือนพักบอกเบาะแสที่ทำให้หูผึ่ง จนต้องรีบกินอาหารเช้าแล้วเรียกแท็กซี่ออกไปหาโบโกตา (Bogota)
นครหลวงของโคลัมเบีย (Columbia) พ.ศ. นี้ ช่างต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ลืมเรื่องแหล่งยาเสพติดระดับโลก เจ้าพ่อและมาเฟีย ไปจนถึงเรื่องรถติดแบบอภิมหามาราธอนไปเถอะ เพราะถ้าคุณได้เห็นโคลอมเบียเวลานี้ อาจจะเผลอร้อง “ว้าว” ออกมาเบาๆ
พิกัดที่ควรใช้เป็นจุดเริ่มต้นทำความรู้จักกับโบโกตาอยู่ที่จัตุรัสโบลิวาร์ (Plaza de Bolivar) ฉันจึงเรียกแท็กซี่ให้ไปส่งตรงนั้น
คงเป็นโชคดีของฉันที่เดินทางไปถึงโบโกตาในวันที่เมืองหลวงแห่งนี้กำลังฉลองวันเกิด เมืองทั้งเมืองจึงมีแต่ความเบิกบาน เพราะพอเริ่มจากช่วงสายๆ ของวัน ขบวนพาเหรดก็ตั้งแถว
ผู้ร่วมขบวนพากันแต่งตัวแนวแฟนซีสีสันฉูดฉาด แต่ละกลุ่มจะมีคอนเซปต์เป็นของตัวเอง เป็นต้นว่าบางกลุ่มอาจจะเน้นไปทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางกลุ่มเน้นไปทางเสียดสีการเมือง บางกลุ่มเน้นไปแนวออกสเตปแดนซ์กันอย่างสุดสวิง บางกลุ่มก็เน้นไปเรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาวโคลอมเบีย
ขบวนเริ่มเดินจากย่านใจกลางเมืองไปสุดทางที่จัตุรัสโบลิวาร์ จัตุรัสกลางเมืองที่แวดล้อมไว้ด้วยมหาวิหาร และอาคารสำคัญหลายแห่ง
ขบวนทยอยเดินเข้าสู่จัตุรัสจนกระทั่งถึงช่วงบ่าย เมื่อเสร็จแล้วก็มีการแสดงดนตรีต่อ เรียกได้ว่ามีทั้งชาวเมืองและนักท่องเที่ยวออกมาสนุกสนานกันกลางจัตุรัสตลอดทั้งวัน ส่วนฉันรีบเดินปรี่ไปพิพิธภัณฑ์ทอง (El Museo del Oro) ก่อน เพราะเป็นวันอาทิตย์ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าฟรี จากจัตุรัสโบลิวาร์เดินไปพิพิธภัณธ์ทองไม่ไกลมากนัก พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่สวนซานแทนเดอร์ (Santander Park) อยู่ตรงหัวมุมถนน Carrera 5 ตัดกับถนนหมายเลข 16th
ลืมเรื่องแหล่งยาเสพติดระดับโลก เจ้าพ่อและมาเฟีย ไปจนถึงเรื่องรถติดแบบอภิมหามาราธอนไปซะเถอะ เพราะถ้าคุณได้เห็นโคลอมเบียเวลานี้ อาจจะเผลอร้อง “ว้าว” ออกมาเบาๆ
ที่จริงใครที่ชอบพิพิธภัณฑ์ พูดเลยว่าโบโกตาคือเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ให้เดินสายเที่ยวชมกันหลายแห่ง ทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ แต่สุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่นักเดินทางพากันมุ่งหน้าไปหาคือพิพิธภัณฑ์ทองแห่งโบโกตา
ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดแสดงผลงานในทุกแง่มุมเกี่ยวกับทองคำในช่วง Pre-Hispanic ซึ่งนับเป็นคอลเล็กชันที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลงานกว่า 55,000 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้ 30,000 ชิ้นเป็นทองคำ แต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมทองคำทุกคอลเล็กชันกันที่นี่ปีละเกือบล้านคน
ต้องยอมรับว่า มีข้าวของให้ดูเยอะจริงๆ มาที่นี่จะมีหน้ากากทองคำให้ดูเยอะมาก โดยเฉพาะบนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ มีคอลเล็กชันหน้ากากทองคำและเครื่องประดับอายุมากกว่า 2 พันปี ที่ใช้ในงานต่างๆ เช่น พิธีศพ และงานเฉลิมฉลอง ไปจนถึงงานเชิงศาสนา
พูดจริงๆ เจอพิพิธภัณฑ์ทองในลิมาและไต้หวันมาแล้ว เห็นแล้วต้องยอมคารวะให้พิพิธภัณฑ์ทองคำแห่งโบโกตา
และเชื่อเถอะว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบทองคำหรือไม่ แต่มาที่นี่แล้วอาจจะทำให้คุณกลายเป็นผู้ที่สนใจเรื่องทองคำมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว ทองไม่ได้เป็นแค่ทอง แต่มีเรื่องราวในอดีตมากมายที่บอกผ่านทองคำ
ออกจากพิพิธภัณฑ์ทอง แวะไปนั่งพักน่องที่ Café de la Fuente ที่อยู่ไม่ไกล มาแล้วต้องหากาแฟชิมด้วย เพราะโคลอมเบียได้ชื่อว่ามีสุดยอดกาแฟรอนักชิมกาแฟอยู่ คาเฟ่นี้เขาเสิร์ฟกาแฟโคลอมเบียสุดเข้ม ใครไม่ชอบกาแฟก็มีช็อกโกแลตรสชาติดีด้วย
เสร็จแล้วเดินเลี้ยวไปตลาดข้างๆ พิพิธภัณฑ์ทอง เขามีตลาดนัดงานฝีมือที่ชื่อ La Casona Galería Artesanal เป็นงานฝีมือของชาวโคลอมเบียนขนานแท้ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า เครื่องหนัง งานปัก งานแกะสลัก งานสาน
และที่เป็นสิ่งที่สาวๆ ต้องพากันเหลียวมองคือกระเป๋าผ้าสไตล์โคลอมเบียนที่มีสีสันฉูดฉาดบาดอารมณ์จนต้องหิ้วกลับบ้านสักใบสองใบ ที่นี่คือแหล่งรวมงานดีที่ต่อรองได้อย่างสนุกแน่นอน
ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่าชื่อของประเทศโบลิเวีย เป็นการตั้งชื่อเพื่อยกย่อง ไซมอน โบลิวาร์ นี่เอง
วันรุ่งขึ้น ฉันกลับมาหาจัตุรัสโบลิวาร์อีกรอบ เพราะเมื่อวันก่อนยังสำรวจไม่เต็มตาเท่าไร เมื่อไม่ถูกเทศกาลงานรื่นเริงบดบัง ถึงได้เห็นว่ารายรอบจัตุรัส มีทั้งมหาวิหารและโบสถ์เล็กโบสถ์น้อยกระจายอยู่ทั่ว อาคารสำคัญ อาคารที่ทำการของรัฐบาล และอาคารในยุคโคโลเนียล พิพิธภัณฑ์ ส่วนกลางจัตุรัสก็มีศิลปินเร่มาเปิดการแสดง
เดิมทีสมัยที่สเปนปกครองเรียกจัตุรัสนี้ว่าจัตุรัสมายอร์ ใช้จัตุรัสนี้ทำหลายหน้าที่ เป็นทั้งสนามสู้วัวกระทิง เป็นทั้งตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และเวทีแสดงละครสัตว์ แต่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลงานรื่นเริง หรือการประท้วงก็ล้วนแต่เกิดขึ้นที่จัตุรัสแห่งนี้ทั้งนั้น
กลางจัตุรัสมีรูปปั้นของฮีโร่ของชาวอเมริกาใต้อย่าง ไซมอน โบลิวาร์ นักต่อสู้ผู้ปลดปล่อยอิสรภาพหลายประเทศในอเมริกาใต้จากสเปน
ด้วยความคิดของเขาที่ว่า “ดินแดนอเมริกาใต้ควรเป็นของชาวอเมริกาใต้ ไม่ใช่ของสเปน” ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โบลิวาร์จึงเข้าร่วมกับผู้รักชาติจำนวนมากทำสงครามกับสเปนหลายรอบ เรียกว่าผลัดกันแพ้ชนะอยู่ 10 กว่าปี แต่ในที่สุดก็มีชัยชนะ ปิดฉากระบอบอาณานิคมในอเมริกาใต้ของสเปนลงโดยสิ้นเชิงในปี ค.ศ. 1825 ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่าชื่อของประเทศโบลิเวีย เป็นการตั้งชื่อเพื่อยกย่อง ไซมอน โบลิวาร์ นี่เอง
ดีที่กลับมาจัตุรัสโบลิวาร์อีกวัน เพราะเมื่อวานคลื่นคนทำให้ไม่เห็นรูปปั้นของโบลิวาร์เลยด้วยซ้ำ รู้เรื่องราวของโบลิวาร์เสร็จ ฉันก็เดินเตร็ดเตร่สำรวจบริเวณรอบๆ จัตุรัสที่ตั้งอยู่โดดเด่นริมจัตุรัสเลยก็คือมหาวิหาร เมื่อวานไม่มีโอกาสเข้าไป วันนี้เลยถือโอกาสผลักประตูเข้าไปชมความเข้มขลังของมหาวิหารแห่งโบโกตา (Cathedral of Bogota) โบสถ์ขนาดใหญ่ที่เดิมทีพวกสเปนใช้เป็นห้องสวดมนต์เท่านั้น ต่อมาถึงได้สร้างเป็นวิหารขึ้นมา แต่ความที่พื้นที่แถวนี้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย จึงมีการบูรณะขึ้นใหม่หลายรอบ จนทุกวันนี้ด้านหน้าเราจะมองเห็นเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก โดยมีฉากหลังเป็นเทือกเขามอนต์เซอร์รัต
พูดจริงๆ เจอพิพิธภัณฑ์ทองในลิมาและในไต้หวันมาแล้ว เห็นแล้วต้องยอมคารวะให้พิพิธภัณฑ์ทองคำแห่งโบโกตา
นอกจากการก่อสร้างที่ทำได้อย่างคลาสสิก มีภาพวาดทางศาสนาบนกำแพงแล้ว ยังมีห้องที่เก็บร่างของผู้ก่อร่างสร้างเมืองโบโกตา และบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ด้วย
ออกจากมหาวิหารถึงได้มีเวลาไปเดินสำรวจในย่านเมืองเก่า ถึงได้รู้ว่ายังมีอาคารบ้านเรือนที่ทอดตัวอยู่บนเนินเขา ซึ่งพูดได้เลยว่าเรื่องสีสันนั้นฉูดฉาดไม่แพ้เมืองบัลพาไรโซแห่งชิลีเลย ยังมีโบสถ์เก่าแก่อีกหลายแห่ง มหาวิทยาลัย และพิพิธภัณฑ์ดีๆ ให้เลือกดูเพียบเลย
ส่วนฉันมาจบที่พิพิธภัณฑ์โบสถ์ซานตาคลารา (Santa Clara Museum Church) ที่อยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสโบลิวาร์เท่าไร
นี่คือโบสถ์แห่งเดียวในโบโกตาที่เป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย เดิมทีโบสถ์สร้างตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ด้านในวิจิตรตระการตาไปด้วยภาพบนฝาผนังที่เติมให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยิ่งเลอค่าเข้าไปอีก
เห็นโบโกตาแล้วรู้เลยว่าทุกวันนี้ถ้ามีการพูดถึงเมืองหลวงน่าอยู่ ต้องมีชื่อของโบโกตาติดอยู่ด้วยแน่นอน
ลองกระเถิบตัวเข้าใกล้โบโกตา แล้วจะรู้ว่าเมืองหลวงที่น่าอยู่ที่สุดในลาตินอเมริกาอยู่ที่นี่นี่เอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์