ช่วงเวลาที่ผ่านมาสำหรับวงการกีฬาสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะศึกอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ทุกคนกำลังลงสนามชิงชัยกันอย่างดุเดือด แต่หลายคนเกือบจะลืมไปแล้วว่ามีนักกีฬาคนหนึ่งที่ยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองในการจะลงสนามแข่งขันให้ได้อีกครั้ง
คนคนนั้นคือ โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ผู้ที่คุกเข่าเรียกร้องความยุติธรรมต่อคนผิวสีในสังคมสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ที่เขาเลือกใช้พื้นที่ในสนามคุกเข่าต่อหน้าธงชาติสหรัฐฯ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนว่าเขาจะไม่ยืนตรงเคารพธงชาติของประเทศที่ไม่ยุติธรรมต่อคนผิวสีในประเทศของตัวเอง
จุดยืนของเขาได้ปลุกกระแสสังคมในสหรัฐฯ ไปไกลถึงกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถึงกับออกมากดดันให้เจ้าของทีมใน NFL แบนหรือไล่นักกีฬาที่ไม่ยอมยืนตรงเคารพธงชาติสหรัฐฯ ออกจากสนาม
เสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ทีมในศึก NFL รวมใจกันเป็นหนึ่ง และแสดงสัญลักษณ์เช่นเดียวกันกับเคเปอร์นิกด้วยการคุกเข่าระหว่างการเคารพธงชาติ เพื่อแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันสิทธิในการแสดงออก
แต่กระแสการคุกเข่าหรือแม้กระทั่งความสนใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ผ่านพ้นไปโดยไม่มีผู้ใดได้รับผลกระทบหนักเท่ากับเคเปอร์นิก ผู้จุดกระแสที่ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา เคเปอร์นิกได้รับรางวัลมูฮัมหมัด อาลี อวอร์ด ของ Sports Illustrated สำนักข่าวชื่อดังในสหรัฐฯ โดยรางวัลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูนักกีฬาอาชีพที่มีอุดมการณ์และมีอิทธิพลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลก ซึ่งในถ้อยคำแถลง เคเปอร์นิกยังคงยืนยันว่าเขาจะต่อสู้เพื่อทุกคนต่อไป แม้ว่าจะมีหรือไม่มีพื้นที่ให้เขาในสนามอเมริกันฟุตบอล รวมถึงยังได้เชิดชูมูฮัมหมัด อาลี อดีตแชมป์โลกระดับตำนานว่าเป็นครูต้นแบบของเขา แม้จะไม่เคยมีโอกาสได้พบกันมาก่อน
“ต้นแบบที่อาลีได้ทิ้งไว้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความรัก ปัญญา บทเรียนชีวิต และจิตใจที่ดีงาม ผมได้แต่หวังว่าผมจะสามารถเดินตามรอยเขา และนำพาโลกของเราไปในเส้นทางนั้น”
บทเรียนราคาแพงที่เคเปอร์นิกและมูฮัมหมัด อาลี ได้รับจากจุดยืนทางการเมือง
การคุกเข่าของเคเปอร์นิกถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมสหรัฐฯ เนื่องจากที่ผ่านมาในศึกอเมริกันฟุตบอล ทุกทีมจะต้องยืนตรงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อการเคารพธงชาติสหรัฐฯ รวมถึงยังเป็นสัญลักษณ์ของการให้เกียรติทหารผ่านศึก แต่การคุกเข่าของเคเปอร์นิกได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าการเรียกร้องสิทธิด้วยการไม่ยืนเคารพธงชาตินั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่
หากย้อนเวลาไปถึงสมัยที่มูฮัมหมัด อาลี เป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพ เขาได้ตัดสินใจขัดขืนอำนาจของรัฐบาล โดยอาลีเลือกที่จะไม่เกณฑ์ทหารเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ ที่ไปรบในสงครามเวียดนามในเวลานั้น โดยให้เหตุผลว่าการไปรบกับเวียดนามเป็นสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อตามหลักศาสนาอิสลามที่เขานับถือ นอกจากนี้อาลียังไม่สนับสนุนความรุนแรงที่สหรัฐฯ ใช้กับประเทศแถบอินโดจีน
“จิตสำนึกของผมจะไม่ปล่อยให้ผมไปยิงพี่น้องของผม คนผิวสี หรือผู้คนที่ยากจนเพื่อประเทศสหรัฐอเมริกา ผมจะยิงพวกเขาไปเพื่ออะไร? พวกเขาไม่เคยเรียกผมว่าคนดำ (Nigger) พวกเขาไม่เคยรุมประชาทัณฑ์ผม พวกเขาไม่เคยเอาหมามาไล่งับผม พวกเขาไม่เคยริบสัญชาติของผม ข่มขืน และฆ่าแม่กับพ่อของผม ผมจะยิงพวกเขาไปเพื่ออะไร? จะให้ผมยิงพวกเขาได้อย่างไร เอาผมไปเข้าคุกเลยจะดีกว่า”
ผลกระทบที่ตามมาจากการตัดสินใจครั้งนั้นส่งผลให้อาลีโดนจับกุมตัวและนำไปสู่การดำเนินคดี จนสุดท้ายอาลีโดนยึดเข็มขัดแชมป์และใบอนุญาตชกมวยในสหรัฐฯ นอกจากนี้อาลียังโดนกระแสต่อต้านจากบรรดาแฟนหมัดมวยในประเทศที่รู้สึกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของเขาเสมือนเป็นการแสดงออกว่าอาลีไม่รักชาติ และไม่ภูมิใจที่ได้รับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร
อาลีโดนแบนจากการชกมวยเป็นเวลา 3 ปี แต่หลังการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีและต่อต้านสงคราม ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้ตัดสินให้เขาไม่มีความผิด และได้กลับมาขึ้นชกอีกครั้งหนึ่ง แต่ราคาของเวลา 3 ปีที่เขาต้องจ่ายไปส่งผลให้สภาพร่างกายที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่สมบูรณ์ที่สุดเสื่อมสลายไปกับช่วงเวลานั้น และทำให้เขาพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกให้กับโจ เฟรเซอร์
เวลาที่เสียไปนั้น สำหรับแฟนหมัดมวยหลายๆ คนที่มีโอกาสได้ติดตามการชกของเขาย่อมเสียดายโอกาสที่ไม่ได้เห็นอาลีโลดแล่นบนสังเวียนในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นจุดสูงสุดของชีวิต
แต่ก็เชื่อมั่นว่าตัวของมูฮัมหมัด อาลี เองนั้นคงไม่เสียดายกับการตัดสินใจที่จะแสดงจุดยืนและทำในสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง แม้จะต้องพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ และเมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ได้รับการยกย่องจากบรรดานักกีฬารุ่นหลังๆ รวมถึงผู้คนนอกวงการที่นับถือในการแสดงจุดยืนโดยไม่กังวลต่ออาชีพของตนเอง
กลับมาที่โคลิน เคเปอร์นิก ในวัย 30 ปี เขาห่างจากการแข่งขันมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม และได้รับคำวิจารณ์ไม่ต่างกับอาลีที่หลายคนมองว่าการคุกเข่าไม่เคารพธงชาติเป็นการดูหมิ่นชาติสหรัฐฯ และทหารที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประเทศ
ทางออกของโคลิน เคเปอร์นิก
ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกตินักสำหรับวงการอเมริกันฟุตบอล หลังจากที่เคเปอร์นิกได้มอบหมายให้ทีมงานฝ่ายกฎหมายร่างหนังสือฟ้องร้องแกมขอความเห็นใจจากบรรดาเจ้าของทีมในลีก NFL หลังจากที่เขายืนยันว่าได้ติดต่อทีมในลีกทั้งหมดและแสดงความต้องการที่จะลงเล่นในฤดูกาลนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีมใดตอบรับ
เคเปอร์นิกมีความรู้สึกว่าทีมใน NFL ทั้งหมดร่วมมือกันตัดสินใจไม่เซ็นสัญญากับเขา เนื่องจากการแสดงจุดยืนทางการเมือง รวมถึงเขาได้เห็นควอเตอร์แบ็กหลายคน รวมถึงบางคนที่ก้าวออกมาจากการเกษียณได้รับโอกาสก่อนเขา
โดยภายใต้มาตรา 17 ของการจ้างงานระหว่าง NFL และนักกีฬาระบุไว้ว่า การร่วมมือกันกีดกันนักกีฬาในทุกกรณีจะต้องถูกพิจารณาโดยผู้ตัดสินอิสระที่จัดตั้งโดย NFL และสหภาพนักกีฬา ซึ่งสตีเฟน เบอร์แบงค์ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ทำหน้าที่นี้มาเป็นเวลาหลายปี
ขณะที่การค้นหาหลักฐานนั้นจะทำการจ้างบริษัทเพื่อรวบรวมหลักฐาน เช่น การสื่อสารจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เพื่อหาบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับเคเปอร์นิก และให้ผู้ตัดสินอิสระได้พิจารณาและตัดสิน
แต่การค้นหาหลักฐานนั้นเป็นไปได้ยาก โดยแมตต์ มิตเทน ผู้อำนวยการบริหาร ของสถาบันกฎหมายกีฬาระดับประเทศภายในมหาวิทยาลัย Marquette University Law School ได้ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า แต่ละทีมมีสาเหตุในการเซ็นสัญญากับนักกีฬาที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นอายุ เงินเดือน และบทบาทในเกมรุกของแต่ละทีม รวมถึงหลักฐานการพูดคุยผ่านอีเมล ข้อความ หรือโทรศัพท์ที่ชี้ชัดว่าทีมร่วมมือกันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากเช่นกัน
สิ่งที่เคเปอร์นิกจะได้รับ หากเขาได้รับชัยชนะในครั้งนี้
จากข้อตกลงการจ้างงานระหว่าง NFL และนักกีฬา เคเปอร์นิกอาจได้รับเงินมากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับตอนที่เขายังลงเล่นให้กับทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส แต่ทาง The New York Times ก็เชื่อว่าทาง NFL อาจหลีกเลี่ยงข้อถกเถียงทางสังคมจากการต่อสู้ครั้งนี้ และอาจเดินหน้าเจรจาตกลงกับเคเปอร์นิก แต่ตามกฎแล้ว ทาง NFL ไม่สามารถบังคับให้ทีมใดในลีกเซ็นสัญญากับเคเปอร์นิกได้
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ตามเวลาประเทศไทย โรเจอร์ กูเดลล์ ประธานศึก NFL ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทาง CNBC สื่อในสหรัฐฯ โดยยืนยันว่าเคเปอร์นิกนั้นไม่ได้ถูกกีดกั้น และประตูของการเจรจาพูดคุยกับทางลีกนั้นเปิดกว้างตลอด แต่การตัดสินใจเซ็นสัญญากับนักกีฬาเป็นการตัดสินใจภายใน เนื่องจากเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของแต่ละทีม
ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของเคเปอร์นิกยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพียงเท่านั้น และสิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ นักกีฬาหรือเจ้าของทีมต่างๆ ที่เคยร่วมแรงรวมใจกันคุกเข่าเพื่อแสดงจุดยืนเดียวกับเคเปอร์นิกจะปล่อยให้เขาต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบและราคาของจุดยืนทางการเมืองเพียงผู้เดียวหรือไม่ หรือจะมีทีมใดที่ตัดสินใจยืนหยัดข้างเคเปอร์นิกในวันที่ไม่มีใครยืนข้างเขา
รวมถึงสิ่งที่น่าสนใจคือการต่อสู้ของและจุดยืนของการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคมของเคเปอร์นิกจะสร้างผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงในสังคมสหรัฐฯ ได้มากน้อยขนาดไหน หากสังคมยังคงติดอยู่ในข้อถกเถียงที่ว่า การคุกเข่าระหว่างการเคารพธงชาติเป็นการแสดงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิอย่างถูกต้อง หรือเป็นสิ่งที่เกินเลยสิทธิของผู้อื่นที่ให้ความเคารพในธงผืนเดียวกันนี้
สุดท้าย ไม่ว่าเคเปอร์นิกจะสามารถลงสนามแข่งขันได้อีกหรือไม่ แต่วันนี้เขาก็ได้ถูกบันทึกลงในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์กีฬาสหรัฐฯ ว่าเป็นอีกหนึ่งนักกีฬาผู้เลือกที่จะใช้ชื่อเสียงของตัวเองในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยพร้อมที่จะเสียสละแม้กระทั่งอาชีพของตัวเอง
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2017/12/11/nfl-commissioner-kaepernick-not-being-blackballed-for-anthem-protests.html
- www.reuters.com/article/us-football-nfl-kaepernick/kaepernick-files-grievance-against-nfl-citing-collusion-idUSKBN1CL046
- edition.cnn.com/videos/cnnmoney/2017/12/06/colin-kaepernick-sports-illustrated-muhammad-ali-legacy-award-beyonce-ekr-orig-vstan.cnn
- www.si.com/specials/muhammad-ali-sportsman-legacy-award
- prachatai.com/journal/2017/10/73682
- www.nytimes.com/2017/12/08/sports/kaepernick-collusion.html?rref=collection%2Fsectioncollection%2Fsports
- www.usatoday.com/story/sports/nfl/2017/12/06/muhammad-ali-award-caps-big-year-colin-kaepernick/925995001