×

ปิดตำนาน Colette คอนเซปสโตร์ระดับตำนานของปารีส

19.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Colette เป็นเหมือนเวทีแจ้งเกิดที่ช่วยให้นักออกแบบรุ่นใหม่ รวมถึงแบรนด์ดังอย่าง Dries van Noten, Rodarte, Raf Simons, Mary Katrantzou หรือแม้แต่ Boyy ก็มี Colette เป็นร้านค้าที่สั่งสินค้าล็อตแรกๆ ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดตัวแบรนด์
  • Colette เคยยอมร่วมงานกับแบรนด์แมสระดับโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Barbie ที่ฉลองครบรอบ 50 ปีในปี 2009 ส่วน McDonald’s ก็ร่วมทำเสื้อยืดและกระเป๋าผ้าที่วางขายในร้านหมดภายใน 3 วัน
  • ก่อนที่ประตูร้านจะปิดลงในวันที่ 20 ธันวาคม Colette จะทำโปรเจกต์ ‘วิ่งผลัด’ ส่งไม้ต่อให้แต่ละแบรนด์เข้ามาจัดรูปแบบร้าน ทั้ง Balenciaga, Thom Browne, Chanel และสุดท้าย Saint Laurent ที่จะย้ายร้านเข้ามาแทน Colette

 

Chanel x Colette

 

ปารีสคือหนึ่งในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนมากที่สุดในโลก มีสถานที่สำคัญให้ไปเยี่ยมชมหลายแห่ง สำหรับนักช็อปและคนรักแฟชั่น ที่นี่เปรียบเหมือนสวรรค์แห่งสินค้าระดับลักซูรี แบรนด์เนมทุกยี่ห้อมีให้ซื้อหมด และหนึ่งในร้านค้าที่หลายคนต้องไปจนแทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้วก็คือ Colette สุดยอดคอนเซปสโตร์ต้นแบบร้านมัลติแบรนด์ ที่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซาร่าห์ อันเดลแมน ผู้ร่วมก่อตั้ง ได้ประกาศปิดประตูร้านถาวรภายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ THE STANDARD เลยถือโอกาสพาไปทำความรู้จักกับหนึ่งในร้านค้าที่คูลที่สุดในปารีส ความเป็นมา และบทบาทต่อวงการแฟชั่น

 

Colette เปิดประตูครั้งแรกในปี 1997 ตั้งอยู่เลขที่ 213 บนถนนแซ็งโตโนเรอันโด่งดังที่มีร้านแบรนด์เนมสุดหรูเรียงรายตลอดเส้น ตัวร้านทั้ง 3 ชั้นมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 740 ตารางเมตร ก่อตั้งโดยแม่ลูกชาวฝรั่งเศส โกแลตต์ รุสโซ กับซาร่าห์ อันเดลแมน ซึ่งชื่อร้านนั้นมาจากชื่อจริงของคุณแม่นั่นเอง

 

หากย้อนกลับไป 20 ปีก่อน แนวคิดร้านค้าคอนเซปสโตร์ที่รวบรวมแบรนด์ดีไซเนอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า มาวางขายรวมกับกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ อย่างหนังสือ เทียนหอม มือถือ หรือแผ่นเสียงนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนปัจจุบันนี้

 

ดังนั้นจุดเริ่มต้นของ Colette จึงแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร โดยการที่โกแลตต์กับซาร่าห์ตั้งใจที่จะนำของที่พวกเธอได้พบเห็นจากการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ มาเป็นสินค้าที่ไม่มีใครเหมือนในฝรั่งเศส ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจึงเป็นร้านค้า 3 ชั้น ชั้นหนึ่งจะขายสินค้าไลฟ์สไตล์และแบรนด์สตรีท รวมไปถึงเหล่ารองเท้าผ้าใบ ส่วนชั้นบนก็จะมีสินค้าความงาม เสื้อผ้า และเครื่องประดับแบรนด์ดีไซเนอร์ลักซูรี ปิดท้ายด้วยชั้นใต้ดินก็จะเป็นส่วนของร้านอาหารและ water bar ที่รวบรวมน้ำดื่มหลากยี่ห้อทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน

 

โกแลตต์ รุสโซ กับซาร่าห์ อันเดลแมน

วินโดว์ดิสเพลย์ของ Canada Goose

 

แต่สิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับ Colette นั้นไม่ใช่แค่แนวคิดคอนเซปสโตร์รุ่นบุกเบิก แต่เป็นสายตาอันเฉียบคมของซาร่าห์ในการเลือกของมาวางขาย และการแปลงสถานะจากร้านค้าให้เป็น ‘it place’ หรือสถานที่สำคัญสำหรับแฟชั่น เพราะมีชื่อเสียงในการเลือกสต็อกสินค้าจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่เข้าร้านก่อนจะดังเป็นพลุแตก Colette จึงเป็นเหมือนเวทีแจ้งเกิดที่ช่วยให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ซึ่งแบรนด์ดังอย่าง Dries van Noten, Rodarte, Raf Simons, Mary Katrantzou หรือแม้แต่ Boyy ก็มี Colette เป็นร้านค้าที่สั่งสต็อกล็อตแรกๆ ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดตัวแบรนด์ ซึ่งก็ถือว่านำเทรนด์ก่อนใคร!

 

จริงอยู่ที่ Colette ขายเสื้อผ้าราคาหลักหมื่นหลักแสน แต่ในขณะเดียวกัน ตัวร้านก็เปิดต้อนรับให้ใครๆ เข้าไปซื้อของได้ นอกจากจะใส่ความเป็นสตรีทเข้าไปแล้ว สินค้าในร้านยังเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบบาท

 

ลูกค้าที่ดังที่สุดของ Colette ต้องยกให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ผู้ยืนยันความคูลของร้านและความหลากหลายของหมวดหมู่สินค้าได้ดี คาร์ลเคยกล่าวว่า “ที่นี่เป็นร้านเดียวที่ผมไปซื้อของ เพราะเขามีของที่ไม่เหมือนที่ไหน ผมซื้อนาฬิกา โทรศัพท์ เครื่องประดับ และทุกสิ่งอย่างที่นั่น พวกเขาคิดค้นแนวคิดที่เลียนแบบได้ยาก และเธอกับซาร่าห์ทุ่มเท 200% ให้กับร้าน”

 

Balenciaga x Colette

Thom Browne x Colette

 

ความพิเศษของ Colette คือสินค้าลิมิเต็ดเอดิชันที่ออกแบบเป็นพิเศษให้กับร้านเท่านั้น ซึ่งอิซาเบล ตาร์ดิเยอ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอเจนซี BETC Pop ที่ปารีสกล่าวว่า “แบรนด์ที่ Colette เลือกจะมีความคูลและความเท่เพิ่มขึ้นโดยทันที” โดยที่ผ่านมา Colette ก็ยังยอมร่วมงานกับแบรนด์แมสระดับโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Barbie ที่ฉลองครบรอบ 50 ปีในปี 2009 ส่วน McDonald’s ก็ร่วมทำเสื้อยืดและกระเป๋าผ้าที่วางขายในร้านหมดภายใน 3 วันจนเป็นแผนการตลาดที่ดังไปทั่ว ล่าสุด Ikea ก็ได้ออกแบบถุงกระสอบโดยใช้สีขาวและโลโก้ของร้าน Colette มาออกแบบเป็นคอลเล็กชันพิเศษ

 

ความสามารถของ Colette ในการทำให้แบรนด์ดูคูลนั้นคงจะเห็นได้ชัดที่สุดในปี 2014 เมื่อ Apple เปิดตัว Apple Watch ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก หลังจากงานคีย์โน้ตที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งในงานมีแฟนๆ มาต่อคิวรอชมนาฬิกา ทั้งยังได้แอนนา วินทัวร์, คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ และมาร์ค นิวสัน มาร่วมชมด้วย เป็นหมากที่ Apple มองเห็นว่าสมาร์ทวอตช์สามารถกลายมาเป็นสินค้าแฟชั่นได้ และเลือกร้านค้าที่คูลที่สุดในโลกมาเป็นรันเวย์แจ้งเกิด

 

 

ก่อนที่ประตูร้านจะปิดลงถาวรในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ Colette จะทำโปรเจกต์ ‘วิ่งผลัด’ ส่งไม้ต่อให้แต่ละแบรนด์เข้ามาจัดรูปแบบร้าน มีสินค้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟและกิจกรรมตลอดงานที่ชั้นหนึ่งของร้าน เริ่มจาก Balenciaga, Thom Browne จนมาถึง Chanel เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ได้จับมือกับฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ และ Adidas มาออกแบบรองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษที่ขายหมดในชั่วพริบตา จนมาถึงแบรนด์สุดท้าย Saint Laurent ที่นอกจากจะออกแบบสินค้าพิเศษอย่างเวสป้าสีดำกับหมวกกันน็อกคริสตัลแล้ว ยังจะเป็นแบรนด์ที่จะย้ายร้านเข้ามาแทนที่ Colette อีกด้วย

 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ Colette ปิดตัวลงอาจเป็นเพราะว่าการแข่งขันในตลาดอันดุดัน แต่จากตัวเลขรายได้ในปี 2016 มูลค่า 32 ล้านยูโร และ 25% ของรายได้มาจากช่องทางออนไลน์ หาก Colette จะทำร้านต่อก็คงได้อยู่แล้ว ในจดหมายถึงสื่อของ Colette กล่าวถึงเหตุผลของการปิดถาวรว่า “โกแลตต์ รุสโซ มีอายุถึงช่วงที่เธอจะต้องพักผ่อนแล้ว ซึ่ง Colette ไม่สามารถอยู่ต่อได้หากไม่มีโกแลตต์” โดยซาร่าห์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าร้านนี้เป็นเหมือนลูกของทั้งคู่ หากขายให้คนอื่นต่อมันก็คงไม่ใช่ Colette เหมือนเดิม โดยตัวซาร่าห์เองก็เตรียมเปิดเอเจนซีที่จะช่วยสร้างไอเดียให้แบรนด์ได้ต่อยอดต่อไป

 

ชื่อของร้าน Colette อาจจะกลายเป็นตำนานคู่ปารีสไปแล้ว แต่อิทธิพลที่มีต่อสังคมและแบรนด์ต่างๆ คงจะมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แค่จะไม่มีโลโก้จุดน้ำเงินสองจุดแปะเอาไว้แค่นั้นเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X