ศึกเครื่องดื่มน้ำอัดลม Coca-Cola ระหว่าง PepsiCo ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเร่งพลิกกลยุทธ์สร้างรายได้-กำไร พร้อมชิงส่วนแบ่งการตลาดจากกันและกันให้ได้ หลังเจอแรงกดดันจากนักลงทุน เริ่มกังวลถึงผลประกอบการท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า การแข่งขันระหว่าง Coke และ Pepsi เจ้าตลาดน้ำอัดลมมีมาอย่างยาวนาน ทั้งสองแบรนด์ต่างพลิกกลยุทธ์การตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ หรือแม้แต่การนำพรีเซ็นเตอร์ที่มีชื่อเสียงมาดึงดูดผู้บริโภค และมีการขยายตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดจากกันและกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยักษ์เครื่องดื่มน้ำอัดลมเปิดศึก! ส่งแคมเปญ พร้อมดึงพรีเซนเตอร์ไทย-เกาหลี จับ Gen Z ช่วงชิงยอดขายรับซัมเมอร์
- Pepsi ไม่สนมินิมัล! เปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็นสไตล์ยุค 90 เชื่อจะเป็นโลโก้ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด
- PepsiCo เตรียมเลิกจ้างพนักงานในบริษัทหลายร้อยแห่งในอเมริกา หลังยอดขายขนมขบเคี้ยวลดลง สวนทางเป้าหมายรายได้ทั้งปี
ทั้งนี้ในปี 2022 Coke ยังเป็นเจ้าตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 44% และ Pepsi มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 19%
โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ภาพรวมยอดขายของบริษัท Coca-Cola เริ่มเพิ่มขึ้น 2% ส่วนใหญ่มาจากการเปิดตัวรสชาติและคอลเล็กชันใหม่ ควบคู่กับจัดกิจกรรมการตลาดกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Pepsi มียอดขายชะลอตัว แม้จะมีการควบคุมต้นทุนได้ดีมากขึ้นแล้วก็ตาม ทำให้จากนี้ Pepsi ต้องเร่งทำตลาดอย่างหนัก เพราะเจอแรงกดดันจากนักลงทุน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
และเมื่อธุรกิจเครื่องดื่มสะดุด Pepsi ก็ยังมีรายได้จากแบรนด์สินค้าอื่นๆ ในเครือ PepsiCo เช่น Gatorade, Tropicana, Quaker Oats, และ Lay’s ที่ช่วยหนุนรายได้ให้กับบริษัท
ส่วนใหญ่แล้วสัดส่วนรายได้ของทั้งสองแบรนด์จะมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลาดเครื่องดื่มในอเมริกาลดลงถึง 6% รวมไปถึงตลาดต่างประเทศบางแห่ง เช่น อาร์เจนตินาและตุรกี ที่เจอปัญหาภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ทำให้ Coke ต้องปรับขึ้นราคา ซึ่งอาจมีผลทำให้ยอดขายสะดุดด้วยเช่นกัน ส่วน Pepsi ก็เริ่มลดความถี่ในการจัดโปรโมชันลง
สำหรับหัวใจหลักของการทำตลาด Coke และ Pepsi เริ่มจากกลยุทธ์การกำหนดราคา
ในปี 2021 ที่ผ่านมา Coke และ Pepsi ได้ตัดสินใจขึ้นราคาสินค้า 2 บาท เพื่อรองรับต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในปี 2023
ทั้งสองแบรนด์ระบุว่าจะไม่มีการขึ้นราคา แต่นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าในปี 2024 จะได้เห็นเครื่องดื่มน้ำอัดลมขึ้นราคาอีกครั้ง โดยเฉพาะในตลาดยุโรป เพราะยิ่งราคาสูงขึ้น ยอดขายก็จะสูงขึ้นตาม
ที่สำคัญทั้งสองแบรนด์ไม่ได้แข่งขันกันแค่ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังแข่งกันด้านการสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคทั่วโลก
รวมถึงความสามารถในการบริหารต้นทุน โดย Coke ยังไม่มีบริษัทบรรจุขวดเป็นของตัวเอง แต่มีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องขวดแก้ว และการจัดส่งเครื่องดื่มไปในทุกช่องทางขาย ซึ่งพาร์ตเนอร์ต่างรู้จักตลาดเป็นอย่างดี
ในทางตรงกันข้าม Pepsi นั้นเป็นเจ้าของบริษัทบรรจุขวดในอเมริกา ทำให้มีความสามารถควบคุมต้นทุนได้มากกว่า
ถึงกระนั้น ทั้ง 2 บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมต่างทำรายได้ในไตรมาส 3 สูงกว่าที่ Wall Street คาดการณ์เอาไว้
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แบรนด์ ได้ชี้แจงกับนักลงทุนว่า ในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของการจับจ่ายและการท่องเที่ยว จะทำให้ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากช่องทางร้านสะดวกซื้อและร้านอาหาร
อ้างอิง: