×

สภาวิศวกรรุดประเมินความเสียหายน้ำท่วมอุบลฯ พบบ้านเรือนเสียหายหลายหมื่นหลัง เสนอแผนฟื้นฟูด่วน

11.10.2019
  • LOADING...
น้ำท่วมอุบลราชธานี

วันนี้ (11 ตุลาคม) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า วานนี้ (10 ตุลาคม) สภาวิศวกร พร้อมวิศวกรอาสา สถาปนิกจิตอาสา และอาสาสมัครจำนวนทั้งสิ้น 145 ชีวิต ได้ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เพียง 10% หรือราว 1,600 ครัวเรือน ยังคงมีพี่น้องที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกถึง 14,000 ครัวเรือน ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวล ได้แก่ การเลื่อนไถลของหน้าดิน การทรุดตัวและพังชำรุดของสิ่งปลูกสร้าง และระบบไฟฟ้า

 

น้ำท่วมอุบลราชธานี

น้ำท่วมอุบลราชธานี

 

โดยในวันนี้ ทีมช่วยเหลือนำโดยนายกสภาวิศวกร วิศวกรจิตอาสา และเครือข่ายอาสาสมัคร รวมทั้งสิ้น 175 คน ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องเพิ่มเติมใน 6 พื้นที่ ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอวารินชำราบ เช่น ชุมชนท่าบ้งมั่ง ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนกุดตาขาว ชุมชนหาดสวนสุข ชุมชนบ่งใหม่ และชุมชนราชธานีอโศก ในด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย การฟื้นฟูที่พักอาศัย ระบบไฟฟ้า โยธา และสิ่งสาธารณูปโภค ตั้งเป้าช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 ครัวเรือน

 

โดยพบจุดที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนจำนวนมาก เช่น อาคารในโรงเรียนที่เกิดการทรุดตัวจากน้ำกัดเซาะ ที่พักอาศัยของประชาชนที่ทรุดเอียง สะพานข้ามแหล่งน้ำชำรุด ฯลฯ พร้อมแนะแนวทางซ่อมแซมแก่ภาคประชาชน เช่น

 

  • ทำค้ำยันกำแพงบ้านที่ทรุดเอียง 
  • ถมดินกลับคืนฐานบ้าน 
  • ทดลองปล่อยลูกปิงปองหรือวัตถุทรงกลมบนพื้นบ้าน เพื่อสังเกตทิศทางการไหล ฯลฯ

 

โดยทั้งหมดควบคู่ไปกับการอาศัยองค์ความรู้ตามหลักวิชาชีพวิศวกรรมและอุปกรณ์จากวิศวกรผู้ชำนาญ

 

น้ำท่วมอุบลราชธานี

น้ำท่วมอุบลราชธานี

น้ำท่วมอุบลราชธานี

 

นอกจากนี้สภาวิศวกร ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่าย เตรียมหารือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขอุบัติภัยในระยะยาว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  

1. ติดตั้งระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ด้วยการติดตั้งระบบเตือนภัยที่สามารถพยากรณ์อากาศและตรวจระดับน้ำขึ้นที่แม่นยำและเรียลไทม์ เพื่อให้ประชาชนสามารถขนย้ายหรืออพยพไปยังศูนย์พักพิงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากในปี 2562 ระดับน้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ยวันละ 1 เมตร 

 

2. ทำตลิ่งสูงบริเวณริมแม่น้ำมูล โดยการเสริมตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำให้สูงขึ้นกว่า 4 เมตร หรือเทียบเท่าระยะความสูงที่พ้นพื้นอาคาร 2 ชั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อนถึงเขตเมือง เพื่อเพิ่มปริมาตรในการรองรับน้ำ (ปีนี้ท่วมสูงถึง 6 เมตร) 

 

3. ทำระบบท่อหรืออุโมงค์ระบายน้ำขนาดย่อม ด้วยการเชื่อมต่อจากแม่น้ำมูลลอดใต้ถนนไปยังแหล่งระบายน้ำใหญ่ หรือแก้มลิง เพื่อระบายน้ำออกไปให้มากที่สุด พร้อมป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ภายใน 1 ปี และเป็นการดำเนินการได้โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนเรื่องการเวนคืนที่ดิน

 

น้ำท่วมอุบลราชธานี

น้ำท่วมอุบลราชธานี

น้ำท่วมอุบลราชธานี

 

ทั้งนี้ นายกสภาวิศวกรได้ลงพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนทั้งหมด 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอวารินชำราบ พร้อมวิศวกรอาสา 175 ชีวิต ประเมินความเสียหายโครงสร้างด้านวิศวกรรมของที่พักอาศัยและสิ่งสาธารณประโยชน์ พร้อมแจก ‘ไกด์บุ๊กสำรวจซ่อมแซมบ้าน ฉบับชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย’ เมื่อเร็วๆ นี้

 

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด ‘คู่มือการสำรวจและซ่อมแซมบ้าน ฉบับผู้ประสบอุทกภัย’ ได้ที่ www.coe.or.th หรือติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกรได้ที่ www.coe.or.th และสายด่วน 1303

 

น้ำท่วมอุบลราชธานี

น้ำท่วมอุบลราชธานี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising