×

หน้ากากผ้าป้องกัน ‘โอไมครอน’ ได้หรือไม่

04.01.2022
  • LOADING...
หน้ากากผ้า

“ตกลงแล้วหน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้หรือไม่” ที่ผ่านมาเวลา ศบค. รณรงค์ให้ประชาชนใส่ ‘หน้ากาก’ จะหมายถึงหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก็ได้ แต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของ ศบค. ได้เผยแพร่อินโฟกราฟิกชิ้นหนึ่งที่มีข้อความว่า ‘เตือน! หน้ากากผ้ากัน Omicron ไม่ได้’ จากนั้นเพจไทยรู้สู้โควิดและกรมควบคุมโรคก็นำไปเผยแพร่ต่อ และมีผู้แชร์โพสต์นี้จำนวนมาก

 

แต่ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลับชี้แจงว่า หน้ากากผ้ายังสามารถป้องกันโอไมครอนได้ เพราะโอไมครอนยังออกมากับสารคัดหลั่ง ไม่ต่างจากสายพันธุ์เดลตา อัลฟา และเบตา

 

และวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ยืนยันว่า การสวมหน้ากากเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอไมครอน เพราะเชื้อจะสามารถติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย มีส่วนน้อยที่ติดต่อผ่านทางอากาศ ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่าจะสามารถใช้หน้ากากผ้าต่อไปได้หรือไม่

 

หลักการเลือกใช้หน้ากาก

ก่อนหน้าที่จะมีโควิดระบาด ในโรงพยาบาลจะมีหน้ากากให้เลือกใช้ 2 ประเภทหลัก คือ ‘หน้ากากอนามัย’ หรือหน้ากากสีเขียว (ปัจจุบันมีให้เลือกหลายสี) กับ ‘หน้ากาก N95’ ซึ่งหลายคนรู้จักในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่วนหลักการเลือกว่าจะสวมหน้ากากประเภทไหนขึ้นอยู่กับเชื้อโรค/โรคที่รักษาว่ามีวิธีการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนอย่างไร ระหว่างละอองฝอย (Droplet) กับทางอากาศ (Airborne)

 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนใหญ่แพร่กระจายเชื้อผ่านละอองฝอยหรือละอองขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน เช่น ละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ฯลฯ​ ป้องกันด้วยหน้ากากอนามัย จึงมักเห็นแพทย์และพยาบาลใส่เป็นประจำ แต่จะมีบางโรคที่แพร่กระจายผ่านทางอากาศหรือละอองขนาดเล็ก (Aerosal) เช่น วัณโรค ต้องสวมหน้ากาก N95 เพราะขอบหน้ากากจะแนบกับใบหน้าและป้องกันละอองขนาดเล็กได้ ≥95%

 

ต่อมามีโควิดระบาด หน้ากากอนามัยขาดแคลน จึงมีคำแนะนำให้คนทั่วไปใช้ ‘หน้ากากผ้า’ แทน ซึ่งสามารถป้องกันละอองขนาดใหญ่ได้ทั้งขาเข้าและขาออก (หายใจเข้าและพูดคุย ไอ จาม ที่อาจมีละอองกระเด็นออกไป) ส่วนหน้ากากอนามัยสำรองไว้ให้ผู้ติดเชื้อ/ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ในขณะที่หน้ากาก N95 บุคลากรทางการแพทย์จะใช้สำหรับการ Swab หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อละอองขนาดเล็ก

 

แสดงว่าโควิดแพร่กระจายได้ทั้งละอองขนาดใหญ่และขนาดเล็กใช่หรือไม่ 

 

ใช่แล้ว ปัจจุบันเราทราบแล้วว่าโควิดแพร่กระจายผ่านละอองขนาดใหญ่ในระยะการพูดคุย 1-2 เมตร และผ่านละอองขนาดเล็ก ซึ่งลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกลกว่า 1-2 เมตร โดยเฉพาะในสถานที่ปิด อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ส่วนการสัมผัสตา/จมูก/ปากด้วยมือที่ปนเปื้อนเชื้ออาจติดเชื้อได้ แต่ไม่ใช่ช่องทางหลัก

 

ในเมื่อเชื้อแพร่ผ่านทางอากาศ ตัวเลือกก็จะเหลือหน้ากาก N95 อย่างเดียวเลยใช่หรือไม่ 

 

คำถามนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นไม่ตรงกัน บางคนเห็นว่าหน้ากากผ้าอย่างเดียวพอ (กระทรวงสาธารณสุข) บางคนเห็นว่าไม่พอ ต้องใช้สวมทับหน้ากากอนามัยด้านนอกเป็น 2 ชั้น บางคนเห็นว่าอย่างน้อยต้องสวมหน้ากากอนามัย (แพทย์ที่เพจ ศบค. อ้างถึง) บางคนเห็นว่าต้องสวมหน้ากาก N95 เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

 

ถ้าเป็นนักวิชาการก็คงต้อง ‘เอาหลักฐานมากาง’ ตัดสินใจบนหลักฐานที่มีว่าหน้ากากแต่ละประเภทกรองละอองขนาดเล็กได้เท่าใด และประเมินความเสี่ยงว่ายอมรับได้แค่ไหน แต่สำหรับประชาชนก็อาจยึดตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงล่าสุดก่อนสิ้นปี 2564 ว่า ‘หน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้ทุกสายพันธุ์ เพราะมีส่วนน้อยที่ติดต่อผ่านทางอากาศ’ (ส่วนอินโฟกราฟิกของเพจ ศบค. ขอพูดถึงในตอนท้าย) 

 

แต่ถ้ายังไม่มั่นใจก็อาจยืนยันด้วยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าที่หายใจได้สะดวกตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ถ้าเป็นผ้าคลุมหน้าหรือผ้าบัฟฟ์ที่ใช้กันแดดและฝุ่นก็ควรพับให้เป็น 2 ชั้น โดย CDC ได้ทบทวนหลักฐานทางวิชาการแล้วพบว่า หน้ากากผ้าไม่เพียงป้องกันละอองขนาดใหญ่ แต่ยังป้องกันละอองขนาดเล็กได้ 50-70% สำหรับขาออก และอาจมากถึง 50% สำหรับขาเข้า

 

คำแนะนำเรื่องหน้ากากของ WHO

WHO ก็เพิ่งปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ว่า หน้ากากที่แนะนำสำหรับคนทั่วไปมี 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. หน้ากากทั่วไปและใช้ซ้ำได้ (Reusable Non-Medical Masks) ที่ผ่านมาตรฐาน ASTM F3502 หรือ CEN Working Agreement 17553 หรือเกณฑ์ที่ WHO กำหนด*

 

  1. หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Medical Masks) ที่ผ่านมาตรฐาน EN 14683 Type I หรือ ASTM F2100 Level 1 หรือ YY/T 0969 หรือ YY 0469 หรือเทียบเท่า

 

  1. หน้ากากทั่วไปอื่นๆ ที่สวมได้กระชับ (Other Types of Well-Fitting Non-Medical Masks) ซึ่งรวมถึงหน้ากากหลายชั้นที่ทำใช้เอง เป็นทางเลือกที่ยอมรับได้เมื่อไม่มีหน้ากากประเภทอื่น

 

*หากทำหน้ากากผ้าใช้เอง WHO แนะนำให้ประกอบด้วย 3 ชั้น โดยชั้นในสุดเป็นวัสดุดูดซับ เช่น ผ้าฝ้าย ชั้นกลางเป็นวัสดุไม่ผ่านการถักทอและไม่ดูดซับ เช่น โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) และชั้นนอกเป็นวัสดุไม่ดูดซับ เช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ซึ่งต่างจากที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า ให้ใช้ผ้ามัสลิน 2 ชั้น ซึ่งควรมีการวิจัยเพิ่มเติมหรือเพิ่มผ้าใยสังเคราะห์ด้านนอกอีกชั้นหนึ่งได้หรือไม่

 

นอกจากนี้ยังแนะนำ ‘หน้ากากอนามัย’ สำหรับกลุ่มต่อไปนี้

 

– ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

– ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเบาหวาน เนื่องจากถ้าติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง

– ผู้มีอาการไม่สบาย รวมถึงผู้มีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ หรืออ่อนเพลีย

– ผู้ที่รอผลการตรวจหาเชื้อหรือเพิ่งตรวจพบเชื้อ

 

ส่วนผู้ที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อควรสวมหน้ากาก N95 (มาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า เช่น KN95, FFP2) หรือหน้ากากอนามัย

 

ในการเลือกซื้อหน้ากากจึงต้องตรวจสอบว่าหน้ากากผ่านมาตรฐานข้างต้นหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ในการประเมินอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ประสิทธิภาพการกรอง (Filtration) และการหายใจ (Breathability) ยกตัวอย่าง หน้ากากผ้าต้องผ่านมาตรฐาน ASTM F3502 โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน 20-50% และความต้านทานของการผ่านอากาศ <6-15 มิลลิเมตรน้ำ (ยิ่งต่ำยิ่งหายใจสะดวก)

 

ส่วนหน้ากากอนามัยต้องผ่านมาตรฐาน ASTM F2100 Level 1 โดยสามารถกรองแบคทีเรีย (Bacterial Filtration Efficiency: BFE) ขนาด 3 ไมครอน ≥95% กรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน (Particle Filtration Efficiency: PFE) ≥95% ความต้านทานของการผ่านอากาศ <5 มิลลิเมตรน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องป้องกันการซึมผ่านของของเหลว 80 มิลลิเมตรปรอท และต้องทดสอบการติดไฟ (Flammability) ด้วย

 

การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี

 

ตามมาตรฐานหน้ากากอนามัยสามารถกรองละอองขนาดเล็กได้ ≥95% แต่เมื่อสวมกับใบหน้า ถึงแม้จะดัดลวดตรงสันจมูกให้แนบกับใบหน้าแล้ว หน้ากากอนามัยยังมีช่องว่างตรงด้านข้าง มีงานวิจัยของ CDC พบว่า การสวมหน้ากากแบบปกติจะป้องกันละอองขนาดเล็กได้ 56.1% แต่ถ้าผูกสายคล้องหูเป็นปม หรือสวมหน้ากากผ้าทับด้านนอกอีกชั้นจะสามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้นเป็น 77.0 และ 85.4% ตามลำดับ

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้า (หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศยอมรับว่าใช้ป้องกันโควิดได้ แต่ต้องผ่านมาตรฐาน และผู้สูงอายุควรใช้หน้ากากอนามัยมากกว่า) หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่หน้ากาก N95 สิ่งสำคัญคือต้องสวมให้คลุมจมูกและปาก และสวมให้กระชับกับใบหน้ามากที่สุด หากต้องเข้าไปในสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ เป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากาก 2 ชั้น เพื่อความปลอดภัย

 

นอกจากนี้การสวมหน้ากากเป็นเพียง 1 ใน 6 มาตรการที่ WHO แนะนำว่า ‘ต้องทำทั้งหมด’ (Do It All!) เพื่อลดการแพร่ระบาดและป้องกันชีวิต โดยอีก 5 มาตรการที่ต้องทำควบคู่กันคือ การฉีดวัคซีนเมื่อถึงกำหนด การเว้นระยะห่าง การล้างมือเป็นประจำ การไอ จาม ปิดปากด้วยทิชชู/ข้อศอก และการเปิดหน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ (เป็นอีกวิธีที่ลดความเสี่ยงจากละอองขนาดเล็ก)

 

สุดท้ายเรื่องอินโฟกราฟิกของเพจ ศบค. แล้วเพจอื่นๆ รวมถึงสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อ การชี้แจงของผู้บริหารระดับกรมในภายหลังเพื่อแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด แสดงให้เห็นถึงการทำงานไม่ประสานกันระหว่างทีมสื่อสารความเสี่ยงและทีมวิชาการ การสวมหน้ากากเป็นมาตรการหลักในการป้องกันโควิด หากมีการเปลี่ยนแปลงควรออกประกาศเป็นทางการ ไม่ใช่เพียงอ้างอิงความเห็นผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X