ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ด้านหน้าจะมีสวนสาธารณะสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกายติดกับพื้นที่ด้านหลังของโรงพยาบาลศรีธัญญา ส่วนด้านหลังของกระทรวงมีทั้งสนามฟุตบอลและสวนสาธารณะอีกแห่งหนึ่ง
เมื่อวานนี้ (28 เมษายน) ตกเย็นระหว่างที่ผมเดินกลับที่พักก็สังเกตเห็นทั้งรั้วกั้นและเชือกกั้นตรงทางเข้าสวนและป้ายแจ้งว่า
‘งดใช้ชั่วคราว’
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
แต่ขณะเดียวกันผมก็เห็นคนมาวิ่งออกกำลังกายอยู่จำนวนหนึ่ง บางคนวิ่งบนทางเท้า บางคนวิ่งบนไหล่ถนน ซึ่งบางครั้งก็ต้องวิ่งอ้อมรถยนต์ที่จอดอยู่ พร้อมกับเหลียวมองรถที่กำลังวิ่งอยู่บนถนนด้วย เสี่ยงต่ออุบัติเหตุจราจรอยู่ไม่น้อย
ทว่าในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างนี้ สวนสาธารณะควร ‘ปิด’ หรือ ‘เปิด’ อย่างมีเงื่อนไขกันแน่?
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ไม่ว่าจะแบ่งระดับของสถานการณ์เป็น 3 ระยะแบบเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้น่าจะเข้าระยะที่ 3 มานานแล้ว หรือแบ่งเป็น 5 สี คือ เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง-แดงเข้ม ซึ่งกรุงเทพฯ และบางจังหวัดก็น่าจะเป็นแดงเข้มมานานแล้ว ระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับวิกฤต เตียง ICU (พอพูดถึงคำว่า ‘เตียง’ จะต้องคำนึงถึงบุคลากรด้วย) เหลืออีกไม่มาก
ลำพัง ‘มาตรการทางสาธารณสุข’ ได้แก่ DMHTT การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก การสอบสวนโรค และการรักษาตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงอาจไม่ทันการณ์
ศบค. และผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจึงต้องใช้ ‘มาตรการทางสังคม’ ได้แก่ การปิดสถานที่เสี่ยง การขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (WFH) งดออกจากบ้านเวลา 21.00-04.00 น. ร่วมด้วย
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 กรุงเทพฯ ประกาศปิดสถานที่ 35 ประเภท ตั้งแต่สถานบริการ อาบอบนวด โรงเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ เรื่อยจนมาถึงสวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้
ส่วนเมื่อวันที่ 26 เมษายน นนทบุรีประกาศปิดสถานที่เพิ่มเติม 19 ประเภท รวมถึงสวนสาธารณะ และอีก 2 สวนเหมือนกับของกรุงเทพฯ
สวนสาธารณะถูกปิดเพราะอะไร
เวลาประกาศปิดสถานที่มักจะมีการสื่อสารว่า ‘ปิดสถานที่เสี่ยง’ และอ้างถึงมาตรา 35 (1) ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า “ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย … ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงเทพฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯ มีอํานาจ
สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว”
แสดงว่าคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯ เห็นว่า ‘สวนสาธารณะ’ มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ซึ่งสังเกตว่ารายชื่อในประกาศเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคน
ยกเว้นร้านค้า และห้างสรรพสินค้าที่ยังสามารถเปิดต่อไปได้
สวนสาธารณะมีการรวมตัวกันของคนหลายกลุ่ม ตอนเช้ามีสูงอายุมักจะมาออกกำลังกายกันเป็นกลุ่ม เช่น รำไท้เก๊ก เสร็จแล้วก็จับกลุ่มพูดคุยกัน ตอนเย็นมีคนมาออกกำลังโดยใช้เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง สนามกีฬากลางแจ้ง และส่วนใหญ่มาวิ่งออกกำลังทั้งเช้าและเย็น นอกจากนี้ยังมีคนพาครอบครัวหรือสุนัขมาเดินพักผ่อนอีกด้วย
หลักการควบคุมการระบาดในระยะที่ 3 หรือสีแดง-แดงเข้มคือการลดค่า R (Reproductive Number) ลงให้มากที่สุด โดยปกติจะหมายถึงผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อต่ออีกกี่คน เช่น R = 2 หมายถึงผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อต่ออีก 2 คน ดังนั้นจึงต้องลดค่า R ให้ต่ำกว่า 1 ซึ่งหมายถึงผู้ติดเชื้อ 1 คนจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใครได้เลย
สูตรอย่างง่ายคือ R = C x P x D โดย
- C: อัตราการสัมผัส (Contact Rate)
- P: โอกาสในการแพร่เชื้อ (Transmission Probability)
- D: ความยาวนานในการแพร่เชื้อ (Duration of Infectiousness)
การปิดสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก หรือการ WFH เป็นการลดอัตราการสัมผัส (C) เมื่อผู้ติดเชื้อไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ก็จะสามารถหยุดการระบาดได้ ส่วนการลดโอกาสในการแพร่เชื้อ (P) เช่น การเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร การสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า การล้างมือบ่อยๆ ส่วน D ไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้
ดังนั้นการปิดสวนสาธารณะก็อาจมีประโยชน์ในการลดค่า R เพราะค่า C ลดลง แต่ถ้าลักษณะของกิจกรรมในสวนมีค่า P ต่ำอยู่แล้ว เช่น สวนสาธารณะมีพื้นที่เพียงพอให้ทุกคนเว้นระยะห่าง (สมมติว่าเว้นระยะห่าง 2 เมตร 1 คนต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 4 ตารางเมตร) ถ้าเดินสวนกันก็สามารถเดินหลบเลี่ยงกันได้ ค่า R ก็อาจไม่ได้ต่างจากเดิมนัก
ทำไมถึงไม่ควรปิดสวนสาธารณะ
การตัดสินใจปิด-เปิดสถานที่ไม่ได้คำนึงถึงแค่ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์-โทษ หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับหรือไม่ ซึ่งทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยสามารถยกเหตุผลหรือสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เช่น การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ สนับสนุนการตัดสินใจได้
สำหรับผมมีเหตุผล 3 ข้อ ว่าทำไมถึงไม่ควรปิดสวนสาธารณะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดังนี้
1. สวนสาธารณะเป็นสถานที่เสี่ยงต่ำ
เพราะช่องทางการแพร่เชื้อของโควิด-19 คือละอองสารคัดหลั่งทางเดินหายใจซึ่งกระเด็นออกไปไม่เกิน 2 เมตร คนที่เข้ามาใช้สวนสาธารณะสามารถเว้นระยะห่าง 2 เมตรหรือมากกว่านั้นได้ และสวนสาธารณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจึงต่ำ
ทั้งนี้ อาจบังคับให้ผู้ที่เข้ามาในสวนสาธารณะสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความเหมาะสม
หรืออย่างการผ่อนปรนมาตรการในการระบาดระลอกแรก ศบค. มีหลักการจัดกลุ่มกิจการ/กิจกรรมสีขาว-เขียว-เหลือง-แดง โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ประการคือ
- ความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคหลายพื้นที่
- ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
- การระบายอากาศของสถานที่และการใช้เครื่องปรับอากาศ
- การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
- พฤติกรรมของผู้ร่วมกิจกรรมเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อ
- ระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือใช้บริการ
- ความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งสวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา (เฉพาะกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง) ถูกจัดให้อยู่ใน ‘กลุ่มที่ 1-สีขาว’ กลุ่มเดียวกับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม และต่ำกว่าแผนกอื่นๆ ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกจัดให้อยู่ใน ‘กลุ่มที่ 2-สีเขียว’ ซึ่งทั้งคู่ได้รับการยกเว้นจากประกาศปิดสถานที่เสี่ยงรอบนี้
2. สวนสาธารณะไม่ใช่สถานที่เสี่ยงจากการสอบสวนโรค
ข้อมูลจากการแถลงของ ศบค. ณ วันที่ 25 เมษายน 2564 พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อคือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า 44.3% ซึ่งน่าจะเป็นการสัมผัสที่บ้าน การรับประทานอาหารร่วมกัน หรืองานเลี้ยง รวมกับการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลในสถานที่ทำงาน 3.4%
อีกส่วนคือสถานบันเทิง 25.2% สำหรับสถานที่ออกกำลังกาย/กีฬา 0.2% ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ในอาคาร เช่น ฟิตเนส หรือนักกีฬาที่สัมผัสใกล้ชิดกันมากกว่า ในขณะที่ไม่มีสวนสาธารณะเป็นปัจจัยเสี่ยง ตรงนี้อาจมีผู้แย้งว่าเพราะการสอบสวนโรคไม่ได้สืบไปถึงสวนสาธารณะตั้งแต่แรก (เพราะเป็นสถานที่เสี่ยงต่ำ) ก็เลยไม่อยู่ในตารางสรุป
ข้อมูลจากการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) เกี่ยวกับการแพร่โควิด-19 และไวรัสทางเดินหายใจในสถานที่นอกอาคาร (Outdoor) ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาพบว่า การระบาดในสถานที่ ‘นอก’ อาคารมีสัดส่วนที่ต่ำ <10% ในขณะที่สถานที่ ‘ใน’ อาคารมีความเสี่ยงมากกว่าถึง 18.7 เท่า
ดังนั้นมาตรการควบคุมโรคจึงควรเน้นที่บ้าน สถานที่ทำงาน สถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนภายในอาคารมากกว่าสถานที่เปิดโล่งภายนอกอาคาร
3. สวนสาธารณะเป็นสถานที่พักผ่อน/ออกกำลังกายที่ปลอดภัย
สุขภาพกายและสุขภาพใจเป็นสิ่งที่สำคัญในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะช่วยทั้งระบบ ‘หัวใจ’ และหลอดเลือดแข็งแรง และ ‘สมอง’ ลดความวิตกกังวล เพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ อีกทั้งยังลดปัจจัยเสี่ยงต่ออาการโควิด-19 รุนแรงด้วย
ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90-100 กิโลกรัม ต่างสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ด้วยการออกกำลังกาย
ทว่าข้อมูลจากการสำรวจกิจกรรมทางกายของประชากรไทยระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าผู้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลงเหลือ 55.5% ซึ่งลดลงมาจากปีก่อนหน้าถึง 20% คาดว่าเป็นผลมาจากมาตรการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ การงดใช้พื้นที่สาธารณะ และความเครียด
ร้อยละของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2563 (อ้างอิง: ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย)
สำหรับคนทั่วไป คำแนะนำในการออกกำลังกายคือ การทำกิจกรรมที่ความหนักระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว อย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 5 วัน รวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือที่ความหนักระดับหนัก เช่น วิ่ง อย่างน้อยวันละ 25 นาที เป็นเวลา 3 วัน รวม 75 นาทีต่อสัปดาห์ สถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการออกกำลังกายจึงน่าจะเป็นสวนสาธารณะ
แต่เมื่อสวนสาธารณะปิดจึงเห็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำออกมาเดิน/วิ่งริมถนน ทำให้เกิดการเบียดเสียดกว่าการวิ่งในสวนตามปกติ และมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางจราจรแทน เพราะต้องหลบทั้งคนและรถ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำก็อยู่บ้านมากขึ้น พฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อโรค NCDs กลับเพิ่มขึ้นแทน
ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้อคือความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในสวนสาธารณะ ทั้งเชิงหลักการ การประเมินของ ศบค. ในการระบาดระลอกแรก และจากการสอบสวนโรคในการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการปิดสวนสาธารณะ ผมจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องปิดสวนสาธารณะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
แต่ควรมีเงื่อนไขในการใช้สวนสาธารณะคือ การเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร แยกการรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ในสวนสาธารณะออกเป็นคนเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ในครอบครัวเดียวกัน เพราะครอบครัวอยู่รวมกันที่บ้านอยู่แล้ว เพื่อให้ยังมีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย และมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจจากความเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนถ้าหากจะสวมหน้ากากอนามัยร่วมด้วยก็อาจปลอดภัยมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- Outdoor Transmission of SARS-CoV-2 and Other Respiratory Viruses: A Systematic Review https://academic.oup.com/jid/article/223/4/550/6009483
- Visiting Parks & Recreational Facilities https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/daily-life-coping/visitors.html
- Do We Still Need to Keep Wearing Masks Outdoors? https://www.nytimes.com/2021/04/22/well/live/covid-masks-outdoors.html
- ประกาศกทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQzMTQzMg==
- คำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 1145/2564 เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 38) http://www.nonthaburi.go.th/covid19/covid_order_1145.pdf.pdf
- ว่าด้วย R0 (อาร์ศูนย์) ไปจนถึงการประเมินผลงานของรัฐบาลในการควบคุมโรค COVID-19 https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_292293
- คู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อห้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/gui_covid19_phase.php
- ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19