×

ปิดฉากการคุย 8 ปี! ที่ประชุม G20 บรรลุข้อตกลงการเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำอย่างน้อย 15% ทั่วโลก ป้องกันบริษัทข้ามชาติใช้ประโยชน์จากประเทศที่มีภาษีต่ำ

11.07.2021
  • LOADING...
ภาษี บริษัทข้ามชาติ

การประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางต่างๆ ในกลุ่ม G20 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคมนี้ โดยหัวข้อการหารือของการประชุมในครั้งนี้ก็คือแผนการปฏิรูปภาษี หรือ Global Tax Reform นั้น ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาที่ยืดเยื้อนาน 8 ปีเต็ม 

 

ข้อตกลงนี้จะทำให้ ‘โครงสร้างภาษีระหว่างประเทศมีเสถียรภาพและยุติธรรมยิ่งขึ้น’ แถลงการณ์จากที่ประชุม G20 กล่าว โดยสมาชิกของกลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลก 75% ของการค้าโลก และ 60% ของประชากรโลก ในจำนวนนี้ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอินเดีย อยู่ด้วย 

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงในการกำหนดภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำอย่างน้อย 15% ทั่วโลก เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้บริษัทข้ามชาติซื้อของในอัตราภาษีที่ต่ำที่สุด ข้อตกลงดังกล่าวจะเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีของบริษัทต่างๆ เช่น Amazon และ Google โดยจะอิงจากที่พวกเขาขายผลิตภัณฑ์และบริการบางส่วน แทนที่จะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่

 

โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนียืนยันว่าเศรษฐกิจ G-20 ทั้งหมดอยู่ในข้อตกลง ในขณะเดียวกัน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศเล็กๆ ไม่กี่ประเทศยังคงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีภาษีต่ำ เช่น ไอร์แลนด์และฮังการี แต่ก็เชื่อว่าประเทศเหล่านี้จะเข้าร่วมข้อตกลงในที่สุด

 

กระนั้นข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะมีผลบังคับใช้ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่จะจัดขึ้นในกรุงโรมของอิตาลีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

 

ขณะเดียวกันในแถลงการณ์ของกลุ่ม G20 ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้นตั้งแต่การเจรจา G20 ในเดือนเมษายน ต้องขอบคุณการเปิดตัววัคซีนและแพ็กเกจสนับสนุนทางเศรษฐกิจ แต่ยอมรับความเปราะบางเมื่อเผชิญกับความหลากหลายของเชื้อโควิด เช่น เดลตาที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

 

“การฟื้นตัวมีลักษณะแตกต่างกันอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังคงมีความเสี่ยงด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์ใหม่ และอัตราการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกัน” รายงานระบุ

 

แถลงการณ์ดังกล่าวเน้นย้ำถึงการสนับสนุน ‘การแบ่งปันวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก’ ทว่ากลับไม่ได้เสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากนัก เพียงแต่ยอมรับคำแนะนำการใช้วงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการจัดหาวัคซีนใหม่โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก และองค์การการค้าโลก

 

ความแตกต่างของระดับการฉีดวัคซีนระหว่างคนรวยและคนจนในโลกนี้ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เรียกความแตกต่างนี้ว่า ‘ความชั่วร้ายทางศีลธรรม’ ที่ยังบ่อนทำลายความพยายามในวงกว้างในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

 

ในขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดบางประเทศได้ให้วัคซีนแก่พลเมืองของตนมากกว่า 2 ใน 3 อย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงต่ำกว่า 5% สำหรับหลายประเทศในแอฟริกา

 

คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับ ‘การฟื้นตัวแบบสองทางที่แย่ลง’ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากความแตกต่างในความพร้อมของวัคซีน

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศกำลังผลักดันประเทศ G20 ให้ตัดสินใจในเส้นทางที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ประเทศร่ำรวยบริจาคเงินสำรอง IMF มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ให้กับประเทศที่ยากจนกว่า

 

อย่างไรก็ตามในที่ประชุม G20 เรียกร้องให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ‘นำเสนอทางเลือกที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว’ สำหรับประเทศร่ำรวย เพื่อเป็นช่องทางส่วนหนึ่งของการออกเงินสำรอง แก่ IMF มูลค่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์ให้แก่ประเทศที่ยากจน

 

ภาพ: Baris Seckin / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising