สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า คณะเจรจาจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้สาธารณะ และจำกัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 ปี โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามปิดการเจรจาให้ได้ภายในวันศุกร์นี้ และคาดว่าจะมีการเรียกประชุมสภาเพื่อลงมติโหวตในวันอังคารหน้า
แหล่งข่าวระบุว่า การหารือของทั้ง 2 ฝ่ายมีความคืบหน้าค่อนข้างมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่ยังมีรายละเอียดในบางประเด็นที่ยังคงมองต่างกันและต้องการเจรจากันต่อ
ในเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะยอมให้มีการปรับขึ้นงบใช้จ่ายด้านกลาโหม 3% ในปีหน้าตามข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะเดียวกัน ยังเห็นตรงกันว่าจะเพิ่มงบเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ และเร่งรัดการออกใบอนุญาตโครงการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พรรครีพับลิกันสนับสนุนไปพร้อมๆ กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘แมคคาร์ธี’ เผยการเจรจาขยายเพดานหนี้มีความคืบหน้าแต่ยังไร้ข้อสรุป นับถอยหลังสหรัฐฯ เตรียมถังแตกภายใน 8 วัน
- ไบเดนเตือน สหรัฐฯ จ่อเผชิญหายนะทางเศรษฐกิจและการตกงานครั้งใหญ่ หากรีพับลิกันไม่ยอมโหวตยกระดับเพดานหนี้ของรัฐบาล
- เจเน็ต เยลเลน เตือน! สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ 1 มิ.ย. นี้ หากคองเกรสไม่เพิ่มหรือระงับเพดานหนี้
อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องจากฝั่งเดโมแครตที่ต้องการเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานจัดเก็บภาษี หรือ IRS ในปีหน้าอีก 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้ถูกปรับลดลงมาเหลือ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากฝั่งรีพับลิกันมีความกังวลเกี่ยวกับการบังคับเก็บภาษีที่จะรุนแรงขึ้น ขณะที่ฝั่งเดโมแครตโต้แย้งว่า งบดังกล่าวจะช่วยให้การหลบเลี่ยงภาษีลดน้อยลง
ดูเหมือนว่าในภาพรวมข้อเรียกร้องของฝ่ายรีพับลิกันในหลายเรื่องจะไม่ออกมาตามที่หวังไว้ ทำให้สมาชิกบางส่วนออกมาเรียกร้องให้ เควิน แมคคาร์ธี ซึ่งเป็นตัวแทนทีมเจรจาของฝั่งรีพับลิกันยึดมั่นกับข้อเรียกร้องดั้งเดิมของพรรคที่ต้องการจำกัดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเป็นเวลา 10 ปี เพื่อแลกกับการยอมโหวตขยายเพดานหนี้
“ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และเรารู้ดีว่ามันคงไม่ใช่เรื่องง่าย มันยาก แต่เราจะเดินหน้าเจรจากันต่อจนกว่าจะได้ข้อยุติ” แมคคาร์ธีกล่าว
ล่าสุด บทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ที่ส่งถึงนักลงทุนได้คาดการณ์ว่า การเจรจาขยายเพดานหนี้ใกล้จะได้ข้อยุติแล้ว โดยมีโอกาสสูงที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในวันศุกร์นี้ (26 พฤษภาคม) ก่อนจะมีการเรียกประชุมสภาเพื่อโหวตลงคะแนนในวันอังคาร เพื่อให้กระบวนการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มิถุนายน
ก่อนหน้านี้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนหลายครั้งว่า การใช้มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลจะดำเนินต่อไปได้จนถึงวันที่ 1 มิถุนายนเท่านั้น ดังนั้น หากสภาคองเกรสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ภายในกรอบระยะเวลาดังกล่าว สหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่นหมายถึงหายนะครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ
ไม่กี่วันที่ผ่านมา Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดัง ออกมาระบุว่า อาจจำเป็นต้องปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จากระดับสูงสุด AAA หากการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ยังไร้ความชัดเจน พร้อมปรับลดมุมมองต่อสหรัฐฯ ให้เป็นมุมมองทางลบที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด (Rating Watch Negative)
อ้างอิง: