หากกล่าวถึงสโมสรลิเวอร์พูลแล้ว นอกเหนือจากตำนานความยิ่งใหญ่ของเหล่านักฟุตบอล ผู้จัดการทีม และสนามแอนฟิลด์ที่ได้รับการเปรียบว่าเป็นดังป้อมปราการแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘เมลวูด’ สนามฝึกซ้อมอันโด่งดัง
เมลวูด เป็นหนึ่งในสนามซ้อมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ถือเป็นดั่งจุดกำเนิดความยิ่งใหญ่ของลิเวอร์พูลตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว โดยจุดเริ่มต้นของการสร้างสนามซ้อมแห่งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการปกป้องพื้นสนามหญ้าของแอนฟิลด์ ที่ใช้เป็นที่ฝึกซ้อมของทีมชุดใหญ่อยู่เดิม
นั่นทำให้ลิเวอร์พูลต้องการที่จะหาสถานที่ เพื่อใช้ทำเป็นสนามซ้อมแห่งใหม่ และมาได้สถานที่ที่เคยเป็นพื้นทีของโรงเรียนเซสต์ ฟรังซิส เซเวียร์ ซึ่งชื่อสนามเมลวูด (Melwood) ก็ตั้งตามชื่อของบาทหลวงที่เป็นผู้ดูแลจัดการแข่งขันฟุตบอลในสถานที่แห่งนี้คือ คุณพ่อเมลลิง (Melling) และคุณพ่อวูดล็อก (Woodlock)
อย่างไรก็ดี ตามสนามซ้อมแห่งนี้ไม่ได้รับการดูแลบำรุงรักษาอะไรนัก จนทุกอย่างมาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อ บิลล์ แชงคลีย์ เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลในปี 1959
เมื่อแชงคลีย์ กุนซือชาวสกอตแลนด์ที่เคยผ่านการคุมทีมฮัดเดอร์สฟิลด์ มาถึงสนามซ้อมครั้งแรก ก็เกิดความต้องการที่จะปรับปรุงสนามซ้อมแห่งนี้ครั้งใหญ่ทันที
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะที่สนามซ้อมแห่งนี้มีสภาพที่ย่ำแย่มาก หญ้ารกสูงชัน พื้นเป็นหลุมเป็นบ่อราวกับดวงจันทร์
แชงคลีย์ (ขวาสุด) สั่งให้ลูกทีมซ้อมด้วยการวิ่งแข่ง 100 หลา
“มีสนามซ้อมหนึ่งที่มีสภาพเหมือนโดนระเบิดลงสัก 2 ลูก ไม่รู้มีพวกเยอรมันมาหรือเปล่า?” แชงคลีย์เขียนเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง
หลังจากนั้น กุนซือผู้ที่ต่อมากลายเป็นบิดาผู้วางรากฐานความยิ่งใหญ่ของสโมสร ได้สั่งให้ปรับปรุงสนามซ้อมแห่งนี้เป็นการเร่งด่วน
‘แชงค์ส’ ขอให้มีสนามซ้อมจำนวน 3 สนามในพื้นที่แห่งนี้ และมีอาคารหลังหนึ่งที่มีสาธารณูปโภคให้นักฟุตบอลและสตาฟฟ์โค้ชได้ใช้งาน ซึ่งนอกจากห้องอาบน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องซาวน่า และอื่นๆ แล้ว
อีกหนึ่งในห้องที่สำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ของลิเวอร์พูลคือ ห้องเก็บรองเท้า (Boot Room) ซึ่งต่อมากลายเป็นห้องที่ถูกใช้เพื่อพูดคุยกันของแชงค์สและเหล่าสตาฟฟ์โค้ชของเขา ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นผู้สานต่อปรัชญาในการทำทีม ที่นำสโมสรครองความยิ่งใหญ่ได้ราว 2 ทศวรรษ
ขณะที่ในสนามซ้อมก็จะมีสนามเล็กๆ ขนาด 5 คนด้วยอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสนามซ้อมเล็กแห่งนี้ คือต้นกำเนิดของสไตล์การเล่นฟุตบอล ‘Pass and Move’ อันลือลั่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางลูกหนังครั้งยิ่งใหญ่ของเกมฟุตบอลในยุคสมัยนั้น
นอกจากนี้ ยังมีส่วน ‘Shooting Box’ ที่ใช้ฝึกซ้อมการยิงประตู ซึ่งแชงคลีย์สั่งให้ทำเป็นพิเศษ โดยนอกจากการทำ ‘เป้า’ ที่ทำเป็นรั้วที่มีหมายเลข 1-6 กำกับเอาไว้ให้ยิง ที่พื้นนั้นยังปูทรายเอาไว้เต็ม นักเตะจะต้องวิ่งมายิงบนพื้นทราย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ (ใครเคยเตะบอลชายหาดน่าจะเข้าใจ)
แต่เพราะการฝึกนี้ ทำให้นักเตะลิเวอร์พูลมีกำลังขาที่แข็งแกร่ง และสามารถเตะได้อย่างแม่นยำขึ้น
บิลล์ แชงคลีย์, บ็อบ เพสลีย์, โจ เฟแกน, รอนนี มอแรน, รูเบน เบนเนธ และทอม ซอนเดอร์ส ตำนานบู๊ตรูมของลิเวอร์พูล
ในการเดินทางมาซ้อมนั้นไม่ใช่ต่างคนต่างมา แต่ทุกคนจะต้องจอดรถไว้ที่สนามแอนฟิลด์ ก่อนจะนั่งรถบัสมาที่เมลวูดพร้อมกัน และจะกลับไปพร้อมกันหลังการซ้อมเสร็จสิ้น
ที่ทำเช่นนี้ เพราะแชงคลีย์ต้องการให้นักฟุตบอลได้วอร์มดาวน์อย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ และการเดินทางร่วมกัน ยังเป็นการทำให้ผู้เล่นในทีมมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เมลวูดไม่ได้มีความสำคัญกับแค่นักฟุตบอลและสตาฟฟ์โค้ชอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ที่แฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลรักและหวงแหนมากที่สุดที่หนึ่งด้วย
โดยตั้งแต่อดีตมา จะมีแฟนบอลที่อาศัยในละแวกนั้นหรือในเมืองที่จะมาแอบดูการฝึกซ้อมเป็นประจำ ไม่ว่าจะมาส่องที่สนาม หรือดูทางหน้าต่างบ้าน หรือแม้แต่การปีนถังขยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนบอลลิเวอร์พูลตัวน้อยๆ ทำ เพื่อจะดูนักฟุตบอลที่พวกเขาชื่นชอบ ก็เป็นอีกหนึ่งในภาพจำของสนามซ้อมแห่งนี้
เช่นกันกับการดักรอรถของนักฟุตบอลที่หน้าสนามซ้อม เพื่อขอถ่ายรูปและขอลายเซ็น ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็น To-do List ของแฟนบอลลิเวอร์พูลทุกคน
นอกจากใช้ซ้อมแล้ว เมลวูดยังเคยใช้จัดเปิดตัวชุดแข่งทีมเยือน ด้วยการคัฟเวอร์เป็น The Beatles มาแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีตแล้ว หลังผ่านสัปดาห์นี้ไป เมื่อลิเวอร์พูลเตรียมจะย้ายสนามซ้อมทั้งหมดไปที่ศูนย์ฝึก AXA Training Centre ที่เคิร์กบี ซึ่งก่อสร้างด้วยมูลค่าถึง 50 ล้านปอนด์ โดยทีมฟุตบอลทุกชุดจะไปฝึกซ้อมร่วมกันที่นั่นทั้งหมด ไม่มีการแยกระหว่างทีมชุดใหญ่กับทีมชุดเยาวชนแต่อย่างใด
โดยคนที่ยกมือสนับสนุนความคิดนี้คือ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นดั่งแชงคลีย์ของยุคสมัยปัจจุบัน
ทั้งนี้ เพราะเมลวูดนั้นเล็กเกินไปสำหรับลิเวอร์พูลในเวลานี้ และแนวคิดที่อยากจะให้นักฟุตบอลเยาวชนได้ใกล้ชิดและศึกษาการเล่นจากผู้เล่นทีมชุดใหญ่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเร่งพัฒนาตัวเอง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสโมสรเองในอนาคต
ส่วนสนามซ้อมเมลวูดที่รักยิ่งของเดอะ ค็อปทั้งโลก จะถูกทุบทิ้ง และกลายเป็นโครงการบ้านจัดสรรแทน แม้ว่าจะมีความพยายามคัดค้านจากประชาชนที่อาศัยในละแวกนั้นที่รักและผูกพันกับสโมสร และไม่ต้องการเห็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต้องถูกทำลายทิ้งให้เหลือเพียงแค่ความทรงจำ
แต่ก็เหมือนทุกอย่างบนโลก
ไม่มีอะไรที่จีรัง
อย่างน้อยที่สุดก็ยังเหลือเรื่องราวและความทรงจำให้คิดถึง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/melwood-birthplace-liverpools-football-philosophy-12282400
- https://www.thisisanfield.com/2019/08/leaving-melwood-the-end-of-an-era-for-liverpool-but-the-fight-for-a-lasting-legacy-goes-on/
- https://theathletic.com/news/Liverpool-Melwood-training-ground-latest/RpNxrZZs5UnF
- เชื่อว่าลิเวอร์พูลขายสนามซ้อมเมลวูดได้ในราคาราว 10 ล้านปอนด์ โดยสโมสรยืนยันว่าจะนำมาใช้เพื่อปรับปรุงทีมชุดใหญ่
- แผนในการย้ายสนามซ้อมมีการประกาศมาตั้งแต่ปี 2017 แต่การก่อสร้างล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาโควิด-19 แต่คล็อปป์ตัดสินใจเร่งให้มีการย้ายสนามซ้อมทันทีกลางฤดูกาล เพื่อให้ทุกอย่างที่เคยวางแผนไว้ดำเนินต่อไป