×

“นี่คือทศวรรษที่เราต้องตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพอากาศ” ประธานาธิบดีไบเดนประกาศกร้าว สหรัฐฯ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ‘ครึ่งหนึ่ง’ ภายในปี 2030

23.04.2021
  • LOADING...
“นี่คือทศวรรษที่เราต้องตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพอากาศ” ประธานาธิบดีไบเดนประกาศกร้าว สหรัฐฯ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ‘ครึ่งหนึ่ง’ ภายในปี 2030

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศว่า จะลดมลพิษก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 โดยวางเป้าหมายเชิงรุกที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในภาคพลังงานและการขนส่งของสหรัฐฯ

 

ทำเนียบขาวยังกล่าวอีกว่า จะเพิ่มการจัดหาเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเป็นสองเท่าสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำภายในปี 2024 และผลักดันให้ภาคเอกชนจัดหาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน

 

“ขั้นตอนเหล่านี้จะกำหนดให้สหรัฐฯ ก้าวไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในไม่เกินปี 2050” ไบเดนกล่าวในระหว่างการประชุมที่มีผู้นำประเทศ 40 คนจากทั่วโลกเข้าร่วม พร้อมเสริมว่า “นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่า นี่คือทศวรรษที่ชี้ขาด นี่คือทศวรรษที่เราต้องตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพอากาศ”

 

เป้าหมายใหม่ของประธานาธิบดีไบเดนถือว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของเป้าหมายที่รัฐบาลโอบามาตั้งไว้ในปี 2015 อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารซึ่งบรรยายสรุปให้ผู้สื่อข่าวไม่ให้รายละเอียดว่า ทำเนียบขาวมีแผนจะลดการปล่อยลง 50% ได้อย่างไร โดยระบุแต่เพียงว่า “เราเห็นหลายเส้นทางในการบรรลุเป้าหมายนี้” และย้ำว่า ไบเดนต้องการทำให้ภาคพลังงานของสหรัฐฯ ปลอดมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ 100% ภายในปี 2035

 

แม้ว่าผู้นำระดับโลกคนอื่นๆ จะเสนอการประเมินภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทำนองเดียวกัน แต่มีเพียงไม่กี่รายที่ระบุขั้นตอนในการแก้ไขวิกฤต 

 

หนึ่งในนั้นคือ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าวว่า ประเทศของเขาจะลดมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% เป็น 45% ภายในปี 2030 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเป้าหมาย 30% ก่อนหน้าของแคนาดา ด้าน โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็ให้คำมั่นเช่นกันว่า จะลดการปล่อยมลพิษให้ต่ำกว่าปี 2013

 

ขณะที่ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลก 2 ราย ได้แก่ จีน และอินเดีย ไม่ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เน้นย้ำถึงพันธสัญญาที่มีมาก่อน และกล่าวว่าพวกเขาเผชิญกับอุปสรรคมากกว่าสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ

 

“จีนมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนจากผู้ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดไปสู่ระดับกลาง ในช่วงเวลาที่สั้นกว่าที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ ซึ่งอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเป็นพิเศษ” สีจิ้นผิงกล่าว โดยเขาย้ำถึงความมุ่งมั่นของจีนเมื่อปีที่แล้วที่พยายามจะออกจากการเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดก่อนปี 2030 และบรรลุเข้าสู่ระดับกลางในปี 2060

 

แต่ก็ใช่ว่าเป้าหมายของประธานาธิบดีไบเดนจะราบรื่นไปเสียหมด โดยเฉพาะพรรครีพับลิกันสาบานว่าจะต่อสู้กับข้อเสนอของเขา ที่จะเปลี่ยนภาคพลังงานของสหรัฐฯ ให้ห่างไกลจากถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ เพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดย จอห์น บาร์ราสโซ วุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ได้กล่าวโทษแผนการลดการปล่อยมลพิษ 50% ของไบเดน โดยกล่าวว่าจะทำให้ประเทศเสียเปรียบในการแข่งขันทั่วโลก

 

“ในขณะที่ประธานาธิบดีกำหนดเป้าหมายการลงโทษ สำหรับประเทศฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ เช่น จีน และรัสเซีย ก็ยังคงเพิ่มการปล่อยมลพิษตามความประสงค์ สิ่งสุดท้ายที่เศรษฐกิจต้องการคือราคาพลังงานที่สูงขึ้น และงานน้อยลง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราจะได้รับ”

 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสอง โดยปล่อยประมาณ 5.41 พันล้านเมตริกตันในปี 2018 ขณะที่จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเกือบสองเท่า

 

ด้าน แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาโต้ตอบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรถูกมองไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคาม แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างงานด้านพลังงานสะอาด เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีขึ้น และเพื่อฟื้นความได้เปรียบในการแข่งขันกับจีน

 

“เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าสหรัฐฯ จะชนะการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระยะยาวกับจีน หากเราไม่สามารถเป็นผู้นำในการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนได้” เขากล่าว “ตอนนี้เราตกอยู่ข้างหลัง”

 

เขากล่าวว่าจีนถือครองสิทธิบัตรพลังงานหมุนเวียนเกือบ 1 ใน 3 ของโลก และเป็นผู้ผลิตและส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลมรถยนต์ไฟฟ้า และนวัตกรรมอื่นๆ ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่ง “ถ้าเราตามไม่ทันสหรัฐฯ จะพลาดโอกาสที่จะกำหนดอนาคตสภาพภูมิอากาศของโลกในรูปแบบที่สะท้อนถึงความสนใจและค่านิยมของเรา และเราจะสูญเสียงานจำนวนนับไม่ถ้วนของคนอเมริกัน”

 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างมาก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าผลกระทบของสภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จะกลายเป็นหายนะ และไม่สามารถย้อนกลับได้หากอุณหภูมิของโลกสูงกว่าเกณฑ์ที่ 1.5 องศา

 

โดยในการประชุม อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่าทศวรรษที่ผ่านมาร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนอุตสาหกรรม

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising