×

วิจัยเผย โลกรวนมีส่วนทำให้เหตุความรุนแรงในครอบครัวของประเทศแถบเอเชียใต้เพิ่มขึ้น

29.06.2023
  • LOADING...
ความรุนแรงในครอบครัว

ขณะที่คลื่นความร้อนรุนแรงอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวนได้เคลื่อนตัวพัดผ่านเมืองต่างๆ ในอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุความรุนแรงภายในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และเหยื่อจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็หนีไม่พ้นสตรี

 

ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Psychiatry วานนี้ (28 มิถุนายน) ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสต่อปี มีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและทางเพศในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นกว่า 6.3% ใน 3 ประเทศของเอเชียใต้ 

 

งานวิจัยได้สำรวจชีวิตเด็กผู้หญิงและสตรีที่มีอายุ 15-49 ปี จำนวน 194,871 คน จากอินเดีย ปากีสถาน และเนปาล ในด้านของความรุนแรงทางอารมณ์ ทางร่างกาย และทางเพศที่พวกเธอเผชิญระหว่างปี 2010-2018 โดยเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในช่วงเวลาเดียวกัน ผลปรากฏว่าในอินเดียมีการเพิ่มขึ้นของเหตุความรุนแรงที่มากที่สุด โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ทำให้อัตราการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้นอีก 8% และอีก 7.3% ในด้านความรุนแรงทางเพศ

 

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเจอกับอุณหภูมิที่สูงลิ่วและคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น โดยในเดือนมิถุนายนนี้อินเดียเผชิญกับอุณหภูมิที่ทะยานขึ้นถึง 45 องศาเซลเซียส และมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนอีกหลายสิบราย นอกจากนี้หลายประเทศในแถบยุโรป-เมดิเตอร์เรเนียน ก็เจอกับคลื่นความร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ กำลังเจอกับสภาพความร้อนที่รุนแรงเข้าสัปดาห์ที่ 3 โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส ขณะที่จีนได้เตือนประชาชนในมณฑลทางภาคเหนือให้อยู่ในที่ร่ม เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นทะลุ 40 องศาเซลเซียส

 

มิเชล เบลล์ (Michelle Bell) ศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า “อุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะสร้างความเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น” โดยความร้อนที่เพิ่มสูงนี้สามารถทำให้พืชผลที่เกษตรกรเพาะปลูกไว้เกิดความเสียหาย รวมถึงการพังทลายของโครงสร้างพื้นฐาน และกัดกินระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการที่อากาศร้อนจัดนั้นได้กักขังผู้คนให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะทำงานได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสามารถทำให้ครอบครัวตกอยู่ภายใต้สภาวะความเครียดรุนแรง และเพิ่มอัตราการใช้ความรุนแรงได้ 

 

นอกจากนี้ นักวิจัยค้นพบว่าแม้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกกลุ่มรายได้ แต่มีโอกาสสูงมากที่สุดในครัวเรือนที่รายได้น้อยและครัวเรือนในชนบท 

 

ซูนิติ การ์กิ (Suniti Gargi) นักเคลื่อนไหวชาวอินเดีย ซึ่งเคยทำงานกับคณะกรรมการเพื่อสวัสดิภาพของผู้หญิงของรัฐอุตตรประเทศ กล่าวว่า อินเดียเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ซึ่งเธอแน่ใจว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลง และมีความเกี่ยวข้องกับระดับของความรุนแรงภายในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น

 

การ์กิกล่าวว่า “ฉันได้เห็นอุณหภูมิที่สูงขึ้นแบบผิดปกติจนมันกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น สิ่งนี้ก่อให้เกิดความเครียดทางการเงินในครอบครัวอย่างมาก ถ้าผู้ชายสามารถย้ายถิ่นฐานไปอีกเมืองหนึ่งเพื่อทำงานได้ มันจะช่วยลดการปะทะในครอบครัวได้ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ภรรยาจะต้องเป็นผู้ที่คอยรับอารมณ์ความโกรธของสามีและความรู้สึกของสามีที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า”

 

แฟ้มภาพ: sdecoret via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising