เวลานั่งเครื่องบินที่ลอยอยู่เหนือเมฆแล้วต้องเจอเครื่องตกหลุมอากาศก็พานทำให้ใจหายใจคว่ำอยู่เนืองๆ แต่ต่อไปมนุษย์อาจต้องทำใจให้ชิน เพราะในอนาคตปัญหานี้จะเกิดถี่ขึ้น
นิตยสาร Geophysical Research Letters ตีพิมพ์งานวิจัยที่ชี้ว่าภาวะโลกร้อนอาจทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงบ่อยขึ้น ด้วยสาเหตุที่ลมในระดับความสูงเหนือน้ำทะเลมากๆ มีความเสถียรต่ำลง
นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเริ่มตระหนักว่า ในช่วงที่ผ่านมาความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส (Clear Air Turbulence) สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของมหาวิทยาลัยรีดดิงถือเป็นรายงานชิ้นแรกที่คาดการณ์ปัญหาการตกหลุมอากาศในระยะยาว
ขณะที่พอล วิลเลียมส์ (Paul Williams) ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยรีดดิงกล่าวว่า “ทั่วโลกเผชิญหน้ากับอากาศที่ปั่นป่วนเพิ่มขึ้นทุกฤดูและทุกระดับความสูงสำหรับการเดินทาง
“ปัญหานี้มีแต่จะหนักขึ้น หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังดำเนินต่อไป” ผู้นำการศึกษาย้ำ
ปัญหาโลกร้อนกระตุ้นให้ลมที่ระดับความสูงเหนือน้ำทะเลในกระแสลมกรดมีความรุนแรงขึ้น
คณะวิจัยประมาณการว่า ในช่วงปี 2050-2080 เที่ยวบินทั่วโลกจะมีอัตราตกหลุมอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อบินเหนือระดับน้ำทะเล 39,000 ฟุต
ขณะเดียวกัน โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศในแถบต่างๆ ทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล โดยรายงานแจกแจงไว้ว่า แถบแอตแลนติกเหนือเพิ่มขึ้น 181% แถบยุโรป 161% อเมริกาเหนือ 113% แปซิฟิกเหนือ 92% เอเชีย 64% อเมริกาใต้ 62% ออสเตรเลีย 53% และแอฟริกา 51%
“ปกติแล้วการตกหลุมอากาศไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงต่อเที่ยวบินมากนัก แต่ก็ทำให้มีคนบาดเจ็บหลายร้อยคนในแต่ละปี” ลุค สตอเรอร์ นักวิจัยกล่าว
โอกาสตกหลุมอากาศที่มีมากขึ้นย่อมนำความเสี่ยงมาสู่บรรดาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ในปัจจุบันปัญหานี้ก็ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บระหว่างทำงาน
สถานการณ์นี้ยังอาจทำให้ระหว่างการเดินทาง “สัญญาณเตือนรัดเข็มขัดอาจถูกเปิดใช้นานขึ้นกว่าปกติ 2-3 เท่า” วิลเลียมส์กล่าว
อ้างอิง:
- ภาวะโลกร้อนอาจทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงบ่อยขึ้น ด้วยสาเหตุที่ลมในระดับความสูงเหนือน้ำทะเลมากๆ มีความเสถียรต่ำลง
- โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศในแถบต่างๆ ทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล โดยรายงานแจกแจงไว้ว่า แถบแอตแลนติกเหนือเพิ่มขึ้น 181% แถบยุโรป 161% อเมริกาเหนือ 113% แปซิฟิกเหนือ 92% เอเชีย 64% อเมริกาใต้ 62% ออสเตรเลีย 53% และแอฟริกา 51%