บัดนี้หลายประเทศและดินแดนทั่วโลกกำลังเผชิญกับไฟป่าครั้งรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คน ภาพของบ้านเมืองที่ครั้งหนึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนและเสียงหัวเราะ ป่าไม้ที่เคยเขียวขจี กลับกลายเป็นตอซากปรักหักพังสีดำที่ถูกเพลิงเผาไหม้วอด สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสภาพจิตใจของผู้คนที่ยากจะเยียวยา
ในช่วงเวลานี้หลายคนอาจจะติดตามข่าวไฟป่าในรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจนสภาพเมืองไหม้ดำเหมือนดั่งสนามรบ ขณะยอดผู้เสียชีวิตทะลุหลักร้อยคนไปแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่งที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น สเปน ซึ่งเผชิญกับเปลวไฟที่เผาไหม้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเกาะเตเนริเฟ หมู่เกาะคานารี ส่งผลให้ต้องอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยมีรายงานว่า เพลิงลามไปอย่างรวดเร็วกินพื้นที่กว่า 11,250 ไร่ในเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น
ส่วนฝรั่งเศสก็เพิ่งสั่งอพยพคนกว่า 2,000 ชีวิต เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังเพลิงได้ลุกลามเผาไหม้พื้นที่กว่า 3,125 ไร่ในทางตอนใต้ของประเทศ
และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือแคนาดา ที่เพิ่งอพยพประชาชนกว่า 20,000 คนหนีจากไฟป่าที่นครเยลโลว์ไนฟ์ ทางเหนือของประเทศ โดยสำนักข่าว VOA รายงานว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็น ‘ฤดูไฟป่า’ ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคนาดา เพราะพวกเขาต้องรับมือกับเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นแล้วกว่า 1,000 ครั้งทั่วประเทศ ขณะที่มีพื้นที่กว่า 83,750,000 ไร่ถูกไฟเผาวอด และในปีนี้มีการอพยพประชาชนรวมแล้วถึง 2 แสนรายด้วยกัน
ภาพความโกลาหลที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ‘ภาวะโลกรวน’ มีส่วนผลักดันให้ทุกอย่างเลวร้ายลงด้วยใช่หรือไม่
ซึ่งเรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จะต้องตอบว่า ‘ใช่’ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
โลกรวนทำไฟป่ารุนแรงหนักกว่าเก่า
เหตุที่โลกรวนมีส่วนสัมพันธ์กับความรุนแรงของไฟป่านั้น เนื่องจากโลกรวนทำให้สภาพภูมิอากาศโลกร้อนขึ้นและแห้งแล้งขึ้นกว่าเดิม คลื่นความร้อนที่แผดเผาเอื้อให้ไฟสามารถลามไปได้อย่างรวดเร็ว เผาไหม้กินเวลานานขึ้น สร้างความเสียหายได้มากขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม โดยเกาะโรดส์ (Rhodes) แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทางตะวันออกของทะเลอีเจียน ประเทศกรีซ เผชิญกับไฟป่าที่เผาไหม้นานต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ประชาชนราว 20,000 คนถูกบังคับให้อพยพออกจากเกาะ หลังไฟป่าเริ่มไหม้ลามพื้นที่รีสอร์ตริมชายฝั่งหลายแห่ง
ขณะเดียวกัน สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นนั้นได้ดึงเอาความชื้นจากพืชพรรณไม้ออกไป กลายเป็นเชื้อเพลิงแห้งชั้นดีที่โหมกระพือไฟให้ลุกลาม สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วในเหตุไฟป่าฮาวาย โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่า หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกาะเมาวีของฮาวายเจอกับความเสียหายรุนแรงคือหญ้ากินนี (Guinea Grass) พืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของเกาะ โดยหญ้าเหล่านั้นเมื่อเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนแล้งก็ทำให้พวกมันกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเลยทีเดียว
ผลการวิจัยของ World Weather Attribution ระบุว่า หากไม่มีภาวะโลกรวนที่มนุษย์ร่วมกันก่อ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงฤดูร้อนนี้คงเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก โดยภาวะโลกรวนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นในอเมริกาเหนือ ยุโรป และจีน ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โทษโลกรวนอย่างเดียวไม่ได้
นอกเหนือจากเรื่องของโลกรวนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของการจัดการป่าไม้และแหล่งกำเนิดของไฟป่า โดยข้อมูลของสหภาพยุโรป ระบุว่า ไฟป่ากว่า 9 ใน 10 นั้นเกิดขึ้นเพราะกิจกรรมของมนุษย์เป็นต้นเหตุ เช่น การลอบวางเพลิง เตาย่างบาร์บีคิวแบบใช้แล้วทิ้ง หรือเกิดไฟปะทุจากสายไฟฟ้าที่พังลงมา เป็นต้น
ส่วนข้อมูลจาก U.S. Forest Service ของฝั่งสหรัฐฯ ระบุว่า เกือบ 85% ของเหตุไฟป่าในสหรัฐฯ ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ สาเหตุทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดไฟป่า เช่น ฟ้าผ่าและภูเขาไฟระเบิดนั้นมีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย และหากเจาะดูแค่เฉพาะสถิติในฮาวาย จะเห็นว่ามีไฟป่าไม่ถึง 1% ที่เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ
นอกจากนี้การที่ประชากรโยกย้ายถิ่นฐานเข้าไปกระจุกตัวในเมืองก็ส่งผลกระทบต่อเหตุไฟป่าในทางอ้อมด้วยเช่นเดียวกัน โดยตอนนี้หลายประเทศรวมทั้งสเปน กำลังเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว เพราะเมื่อประชากรหนุ่มสาวย้ายถิ่นฐานออกจากเขตชนบทไปกันหมด จึงทำให้ไม่มีแรงงานมากพอที่จะเก็บกวาดดูแลต้นไม้ใบไม้แห้งที่เกลื่อนกลาดอยู่ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้พวกมันกลายสภาพไปเป็นเชื้อเพลิงทันทีที่มีแหล่งกำเนิดไฟปะทุขึ้นมา
คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC ยืนยันว่า ภาวะโลกรวนทำให้คลื่นความร้อนนั้นร้อนขึ้นอีก และเกิดถี่ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลกกำลังประสบอยู่
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลให้โลกของเราร้อนขึ้นแล้วเฉลี่ยที่ 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ขณะเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ออกมาเปิดเผยว่า โลกของเรามีแนวโน้มที่จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภายในปี 2027 หรืออีกแค่เพียง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากหลายประเทศยังคงปล่อยมลพิษออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่ย่างกรายเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ฟรีเดอริก ออตโต (Friederike Otto) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก Imperial College London กล่าวว่า คลื่นความร้อนที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้รุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้นเพราะภาวะโลกรวนก็จริง แต่ถึงเช่นนั้นก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อความรุนแรงของคลื่นความร้อนด้วยเช่นกัน อย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปนั้นก็มีเรื่องของการหมุนเวียนของบรรยากาศ (Atmospheric Circulation) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โลกรวนส่งผลต่อคลื่นความร้อนมากแค่ไหน
เพื่อหาคำตอบนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงได้ดำเนินการศึกษาที่มาของมัน โดยนับตั้งแต่ปี 2004 มีนักวิจัยที่ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) ออกมามากกว่า 400 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเหตุคลื่นความร้อนรุนแรง น้ำท่วม หรือภัยแล้ง พร้อมคำนวณว่าภาวะโลกรวนมีบทบาทเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ดังกล่าวมากน้อยเพียงไร โดยมีการจำลองสภาพอากาศในปัจจุบันจำนวนหลายร้อยครั้งด้วยกัน และนำมาเปรียบเทียบกับแบบจำลองสภาพอากาศในกรณีที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์
ซึ่งผลก็ออกมาไม่ผิดคาดคือ โลกรวนมีส่วนผลักดันให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์จากองค์การ World Weather Attribution ระบุว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงแผดเผายุโรปตะวันตกซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 มีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกครั้งในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหากเทียบกับแบบจำลองที่ว่าโลกนี้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ จะพบว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือน้อยกว่ากัน 100 เท่า
ข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ระบุว่า ปี 2019 ถือเป็นปีหนึ่งที่โลกเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงบ่อยครั้ง โดยครั้งที่แรงสุดคือคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนได้เกิดคลื่นความร้อนทางตอนใต้ของฝรั่งเศส วัดอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 46.0 องศาเซลเซียส ณ เมือง Vérargues ส่วนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมคลื่นความร้อนได้ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง โดยเยอรมนีวัดอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 42.6 องศาเซลเซียส เนเธอร์แลนด์วัดได้ 40.7 องศาเซลเซียส เบลเยียมวัดได้ 41.8 องศาเซลเซียส และอังกฤษวัดได้ 38.7 องศาเซลเซียส
ร้อนแล้ว ร้อนอยู่ ร้อนต่อ ร้อนกว่านี้ได้อีก
อย่างที่เกริ่นไปแล้วก่อนหน้าว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกของเราปัจจุบันเพิ่มที่ระดับ 1.2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเราทุกคนก็ได้เป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากมาย รวมถึงเหตุไฟป่าที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้
โซเนีย เซเนวีรัตเน (Sonia Seneviratne) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของ ETH Zurich ระบุว่า หากมนุษย์ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เหตุคลื่นความร้อนรุนแรงจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1 ครั้งในรอบ 10 ปี แต่ปัจจุบันนี้ โลกของเราเจอกับคลื่นความร้อนมหาโหดถี่กว่านั้นถึง 3 เท่า
ฉะนั้นแปลว่าอุณหภูมิจะหยุดเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์หยุดเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่หากทำไม่ได้ เหตุคลื่นความร้อนรุนแรงนี้ก็จะเลวร้ายลงหนักกว่าเก่า และหากโลกล้มเหลวในการจัดการกับภาวะโลกรวน ก็จะทำให้คลื่นความร้อนทวีความรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมดบนโลก
ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส สมาชิกองค์การสหประชาชาติเกือบ 200 ประเทศ ตกลงกันที่จะสร้างความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากอุณหภูมิความร้อนทะลุเพดานนั้นไปแล้ว จะส่งผลให้เกิดหายนะทางธรรมชาติตามมา ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่รุนแรง น้ำท่วมหนัก ภัยแล้งสาหัส พืชผลเสียหาย และอาจมีสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่จะเริ่มสูญพันธุ์ด้วย อันเป็นสถานการณ์ที่มนุษย์ยากจะรับมือไหว
แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า นโยบายที่แต่ละชาติดำเนินอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้รวดเร็วพอที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว โดยรายงานจาก IPCC ระบุว่า หากมองย้อนไปในช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม คลื่นความร้อนรุนแรงจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 10 ปี แต่หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อไร เหตุคลื่นความร้อนรุนแรงจะเกิดขึ้นเฉลี่ย 4.1 ครั้งในทุกๆ 10 ปี และจะขยับขึ้นเป็น 5.6 ครั้งในรอบ 10 ปี หากโลกร้อนแตะระดับ 2 องศาเซลเซียส
ภาพ: Sigit Prasetya / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/business/environment/how-climate-change-drives-heatwaves-wildfires-europe-2023-08-17/
- https://www.reuters.com/world/europe/europe-sees-another-year-droughts-wildfires-2023-08-09/
- https://www.reuters.com/world/americas/canada-wildfires-crews-battle-stop-blaze-yellowknife-evacuates-2023-08-17/
- http://climate.tmd.go.th/content/file/1616
- https://www.voathai.com/a/canada-wildfire-yellowknife/7229748.html