สำนักข่าว CNN รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนว่าภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องทั่วโลกอาจเป็นสาเหตุให้สุขภาพร่างกายของมนุษย์ได้รับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายของเชื้อโรคหรือการขาดแคลนอาหาร
ล่าสุดมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature Climate Change ได้ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ ผลการศึกษาพบว่าเดือนไหนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อเปรียบเทียบการอัตราการฆ่าตัวตายในเดือนที่อุณหภูมิปกติ
มาร์แชล เบิร์ก ผู้ช่วยศาสตรจารย์ภาควิชา Earth System Science มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและหัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า พวกเขาทำการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1968-2004 และของเม็กซิโกช่วงปี 1990-2010 นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนของสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก
การศึกษาพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสเฉลี่ยในแต่ละเดือนส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 0.68% และในเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 2.1%
เบิร์กกล่าวว่าทีมวิจัยจะนำผลการศึกษาครั้งนี้ไปคาดการณ์อัตราการฆ่าตัวตายในปี 2050 ซึ่งประมาณการว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้มีจำนวนคนฆ่าตัวตายสูงถึง 14,020 คนในสหรัฐอเมริกา และ 7,460 คนในเม็กซิโก
นอกจากนี้ในการศึกษายังพบว่าสภาพอากาศในแต่ละเดือนสัมพันธ์กับการใช้สื่อออนไลน์ โดยนักวิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลการใช้ทวิตเตอร์ในสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนพฤษภาคม 2014 ถึงเดือนกรกฎาคม 2015 จำนวน 622 ล้านบัญชี เปรียบเทียบกับรายงานอุณหภูมิรายเดือน พบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสอาจส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์แสดงอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 0.79%
เบิร์กกล่าวต่ออีกว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากศึกษาแค่ปัจจัยเดียว ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้คนฆ่าตัวตาย เช่น มีสมมติฐานหนึ่งที่ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อาจส่งผลทำให้สุขภาพจิตแย่ลงได้เช่นกัน
“การฆ่าตัวตายเป็นภาวะที่ซับซ้อน ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมายที่นอกเหนือจากสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย”
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วโลกมีจำนวนเฉลี่ย 800,000 คนต่อปี หรือ 78% ซึ่งมักเกิดในประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางจนถึงต่ำ
อ้างอิง: