งานวิจัยล่าสุดเผย เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตในเขตร้อนหลายชนิด รวมถึงยุงจะอพยพและเคลื่อนย้ายไปยังที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรในทวีปแอฟริกามากยิ่งขึ้น
โดยข้อมูลจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ตั้งแต่ปี 1898 พบว่า ยุงที่เป็นพาหะของเชื้อมาลาเรียนั้นได้เคลื่อนย้ายออกห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลก โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราว 4.7 กิโลเมตรต่อปีในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เชื้อโรคมาลาเรียสามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
คอลิน คาร์ลสัน นักชีววิทยาแห่งจอร์จทาวน์ และผู้นำเสนองานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ ระบุว่า เขายังคงต้องการข้อมูลอีกมากที่จะมาช่วยยืนยันถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการแพร่กระจายของยุง มาลาเรีย และอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจไม่ได้มาจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่นๆ เท่านั้น จากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติชี้ว่า บางผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดอาจมาจากโรคภัยไข้เจ็บ
โรคมาลาเรียนั้นนับเป็นเพียงไม่กี่โรคร้ายที่รุมเร้ามนุษยชาติมาอย่างยาวนาน โดยเชื้อมาลาเรียเป็นเชื้อโรคที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ และนับเป็นหนึ่งในโรคที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 600,000 คนต่อปี
นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มนุษย์ได้มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และผลักดันให้พืชและสัตว์ต้องย้ายถิ่นฐานไปยังสถานที่ใหม่ ส่งผลให้เชื้อโรคต่างๆ เคลื่อนย้ายตัวไปยังสถานที่อื่นๆ เช่นเดียวกัน นับเป็นหนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หลายๆ คนมักคาดไม่ถึง
นอกจากนี้ การแพร่กระจายตัวของยุงไปยังถิ่นฐานต่างๆ นั้น ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากมาย ไม่ใช่แค่กับมนุษย์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น นกพื้นถิ่นของฮาวายที่จำต้องยอมอพยพขึ้นสู่พื้นที่สูง เนื่องจากถูกโรคมาลาเรียในสัตว์ปีกรุมเร้า แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็คาดการณ์ว่า ยุงเองก็จะแพร่พันธุ์ขึ้นที่สูงเช่นเดียวกัน ทำให้นกเหล่านี้อาจจะไม่มีที่อยู่อาศัยในท้ายที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม การค้นพบข้อมูลเหล่านี้ในระยะเวลาเนิ่นๆ ก็ไม่ได้เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการต่อสู้กับโรคมาลาเรียเท่าใดนัก เนื่องจากทุกวันนี้ บรรดารัฐบาลและองค์กรผู้ใจบุญจำนวนไม่น้อยต่างมุ่งใช้เงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับมุ้ง ยาฆ่าแมลง และยาควินิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้มาลาเรีย และอาการข้างเคียงอื่นๆ แต่ก็ยังขาดเงินทุนสำหรับเป้าหมายในการรับมือกับโรคดังกล่าวในระดับนานาชาติอีกเป็นจำนวนมาก
แฟ้มภาพ: Mycteria / Shutterstock
อ้างอิง: