×

โลกรวนทำอินเดียร้อนจัด วิจัยเผยมีคนตายหลายหมื่นจากคลื่นความร้อนในช่วง 30 ปี

19.04.2023
  • LOADING...
อินเดีย อากาศร้อน

‘โลกรวน’ ภัยคุกคามอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ กำลังส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่น่ากลัวขึ้นทุกขณะ ท่ามกลางอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นทั่วทุกมุมโลก

 

ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนระอุ ‘อินเดีย’ เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเจอวิกฤตจากคลื่นความร้อนอย่างหนักหนาสาหัส อุณหภูมิที่พุ่งทะยานขึ้นทั่วประเทศทำให้ผู้คนล้มตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 เมษายน) ได้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น เมื่อมีชาวอินเดียตายจากฮีตสโตรกถึง 13 คน หลังจากเข้าร่วมในงานประกาศรางวัลมหาราษฏระภูชาน (Maharashtra Bhushan) ในนวีมุมไบ รัฐมหาราษฏระ 

 

งานดังกล่าวจัดขึ้นในสถานที่กลางแจ้ง ไม่มีแม้แต่หลังคาหรือร่มเงาไม้บัง ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนจัดถึง 42 องศาเซลเซียส แสงแดดที่แผดเผาลงมาทำให้ผู้คนในงานร้อนจนทนไม่ไหว มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกหามส่งโรงพยาบาล เด็กและผู้หญิงหลายคนเป็นลม บ้างนอนอยู่ริมถนนพยายามร้องขอน้ำดื่ม จนเจ้าหน้าที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือกันจ้าละหวั่น 

 

โดยปกติแล้วอินเดียจะเผชิญกับคลื่นความร้อนในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น เกิดถี่ขึ้น และอยู่ยาวนานขึ้น จนทำให้มีข่าวคนตายเพราะอากาศร้อนจัดอยู่บ่อยครั้ง…แต่น่าเศร้าที่ภาครัฐกลับไม่ได้ใส่ใจถึงปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังเท่าที่ควร

 

อินเดีย ประเทศที่เปราะบางต่ออากาศร้อนจัด

 

อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงและเปราะบางอย่างยิ่งต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัด กลางวันที่ร้อนระอุและกลางคืนที่ร้อนอบอ้าวกลายเป็นสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นอย่างมากในดินแดนแห่งนี้ โดยผลจากการศึกษาระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2-4 เท่าตัวภายในปี 2050 ขณะที่คลื่นความร้อนคาดว่าจะมาถึงเร็วขึ้นกว่าเดิม แถมอยู่นานกว่าเดิม และจะเกิดถี่ขึ้นกว่าเดิม

 

กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียคาดการณ์ว่า อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและคลื่นความร้อนจะคงอยู่จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในอินเดียได้ปรับตัวขึ้นราว 0.7% ระหว่างปี 1901-2018 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกรวนดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ข้อมูลจากทางการระบุว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 22,000 คนในระหว่างปี 1992-2015 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ายอดตายจริงมีแนวโน้มสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก

 

ข้อมูลการศึกษาล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ The Lancet ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2000-2004 และ 2017-2021 ยอดผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดในอินเดียพุ่งสูงขึ้นถึง 55% 

 

นอกจากนี้ สภาพอากาศร้อนจัดยังทำให้ชาวอินเดียสูญเสียชั่วโมงการทำงานถึง 1.672 แสนล้านชั่วโมงในปี 2021 ส่งผลให้สูญเสียรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึง 5.4% ของ GDP ประเทศ

 

แต่ถึงแม้จะมีตัวเลขที่น่าตกใจออกมายืนยันถึงความร้ายแรงของปัญหานี้ แต่อินเดียกลับยังไม่ได้ดูแลปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

ดิลีป มาวาลันการ์ (Dileep Mavalankar) ผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขอินเดียในรัฐคุชราตกล่าวว่า ประเทศนี้ ‘ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของปัญหาภัยความร้อน และยังไม่เข้าใจว่าความร้อนสามารถฆ่าคนได้อย่างไร’ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้รวบรวมข้อมูลการตายของผู้คนอย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็น

 

มาวาลันการ์เล่าว่า จากการเก็บข้อมูลของเขาในเดือนพฤษภาคม 2010 เฉพาะในเมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) ของรัฐคุชราต มีผู้เสียชีวิตส่วนเกิน (Excess Death) จากทุกสาเหตุ 800 คน ในช่วงสัปดาห์ที่อุณหภูมิพุ่งร้อนแรงจนทำนิวไฮ 

 

ชัดเจนว่าอากาศร้อนจัดเป็นภัยเงียบที่สามารถฆ่าคนได้ และฆ่าผู้คนไปแล้วจำนวนมหาศาล

 

คนตายเพราะรัฐไม่เอาจริงกับการรับมือภัยความร้อน

 

เมืองอาห์เมดาบัดขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งในอินเดีย

 

มาวาลันการ์เล่าต่อไปว่า ทีมนักวิจัยได้เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตในเมืองนี้กับอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวัน โดยแบ่งระดับความร้อนออกเป็น 3 สีด้วยกัน เพื่อเตือนถึงระดับความอันตรายของสภาพอากาศ โดยจัดให้สีแดงคืออันตรายสูงสุด หรือมีอุณหภูมิที่สูงเกิน 45 องศาเซลเซียส 

 

จากการค้นพบนี้ มาวาลันการ์จึงได้ช่วยทางการจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือความร้อนในเมืองอาห์เมดาบัด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอินเดียที่มีการจัดทำระบบเตือนภัยความร้อนอย่างเป็นทางการ แผนดังกล่าวถูกเริ่มใช้งานในปี 2013 พร้อมการแจ้งเตือนประชาชนให้เลี่ยงความร้อนแบบง่ายๆ เช่น ให้อยู่ภายในอาคาร ดื่มน้ำเยอะๆ ก่อนออกไปข้างนอก หรือพาตัวผู้ป่วยจากอากาศร้อนจัดไปโรงพยาบาลทันทีหากอาการไม่สู้ดี โดยภายในปี 2018 เขาพบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินลดลงถึง 1 ใน 3 ในเมืองแห่งนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายก็คือว่าสำหรับพื้นที่อื่นๆ ของอินเดียนั้น แผนปฏิบัติการรับมือภัยความร้อนดูเหมือนว่าจะไปไม่ค่อยสวยสักเท่าไร โดยจากการศึกษาแผนปฏิบัติการรับมือภัยความร้อน 37 แผนในระดับเมือง เขต และรัฐของอินเดีย โดยอดิตยา วาลิอาธาน พิลไล (Aditya Valiathan Pillai) และทามันนา ดาลาล (Tamanna Dalal) จากศูนย์การวิจัยนโยบาย พบว่าแผนของอินเดียยังคงมีข้อบกพร่องเป็นจำนวนมาก

 

ยกตัวอย่างเช่น แผนปฏิบัติการส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาตามบริบทของแต่ละพื้นที่จริงๆ และมีมุมมองที่ตื้นเขินเกินไปเกี่ยวกับอันตรายจากความร้อน โดยมีแผนปฏิบัติการเพียงแค่ 10 แผนจากทั้งหมด 37 แผน (ในการศึกษา) ที่มีการสร้างเกณฑ์ของอุณหภูมิในท้องถิ่น ถึงแม้จะไม่ชัดเจนว่าพวกเขาได้ผนวกรวมปัจจัยอื่นๆ เช่น ความชื้น เข้าไปในการประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนหรือไม่ 

 

ประการต่อมาคือ นักวิจัยพบว่าแผนปฏิบัติการเกือบทั้งหมดไม่สามารถระบุถึงกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มคนเปราะบางต่อสภาพอากาศได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่ว่านี้ส่วนใหญ่คือคนงานก่อสร้างและเกษตรกรที่ทำงานหนักในที่โล่ง สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก ข้อมูลระบุว่ามีคนงานจำนวนสูงถึง 3 ใน 4 ของอินเดียที่ต้องทำงานกลางแจ้งภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัด เช่น คนงานก่อสร้าง หรือคนงานเหมือง ยิ่งโลกของเราร้อนขึ้นเท่าไร ความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยิ่งลดลงเรื่อยๆ 

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีรับมือภัยความร้อนทำได้ไม่ยาก แต่ต้องหมั่นสังเกต

 

พิลไลกล่าวว่า ทางการอินเดียควรศึกษาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งว่าพื้นใดที่มีประชาชนส่วนใหญ่ต้องทำงานกลางแจ้ง และตรวจสอบว่าพวกเขามีเงินมากพอที่จะซื้อเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ทำความเย็น หรือสามารถหยุดงานบางช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงจัดได้หรือไม่ พร้อมกล่าวว่า ในบางเมืองนั้นพื้นที่เพียงแค่ 3% ก็อาจพบว่ามีประชากรกลุ่มเปราะบางกระจุกตัวกันอยู่ถึง 80% 

 

แนวทางในการรับมือกับคลื่นความร้อนนั้นอาจเริ่มต้นได้ตั้งแต่วิธีง่ายๆ เช่น ปลูกต้นไม้ให้หนาแน่นมากพอในพื้นที่โล่งและร้อนจัด หรืออาจใช้ตัวเลือกทางการออกแบบเพื่อไม่ให้ความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มการระบายความร้อนในอาคารให้ดีกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ การเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างง่ายๆ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยผู้คนได้ เช่น สำหรับโรงพยาบาลที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ให้เลือกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากห้องชั้นบนที่มีอากาศอบอ้าวไปอยู่ชั้นล่างที่เย็นกว่า ก็จะช่วยชีวิตผู้คนจากภัยความร้อนได้มากขึ้น 

 

ส่วนสำหรับนายจ้างนั้น หากพบว่าสภาพอากาศร้อนจัดจนเกินไปก็ควรให้พนักงานที่ต้องทำงานกลางแจ้งระงับหรือชะลอการทำงานลงไปก่อน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน

 

ภาพ: Bachchan Kumar / Hindustan Times via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising