ทีมนักสำรวจจากสถาบัน Norwegian Polar Institute และมหาวิทยาลัยทรอมโซของนอร์เวย์ เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้พฤติกรรมของสัตว์แถบขั้วโลก โดยเฉพาะแมวน้ำและวาฬเบลูกา เปลี่ยนแปลงไปทั้งพฤติกรรมการกินและการอยู่อาศัย เพื่อเอาชีวิตรอดในช่วงเวลาที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น
โดยทีมนักวิจัยได้สำรวจและเก็บข้อมูลสัตว์ทั้งสองสปีชีส์นี้ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อศึกษาว่าสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างไร ซึ่งได้เปรียบเทียบข้อมูลของแมวน้ำ 28 ตัว ในช่วงปี 1996-2003 และ 2010-2016 ที่ผ่านมา ในขณะที่ติดตามศึกษาพฤติกรรมวาฬเบลูกา 18 ตัว ในช่วงปี 1995-2001 และ 16 ตัวในช่วงปี 2013-2016
พบว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สัตว์สองสปีชีส์นี้ใช้เวลาเกือบครึ่งออกหาอาหารบริเวณธารน้ำแข็งน้ำขึ้นถึง (Tidal Glacier Fronts) ซึ่งเป็นบริเวณที่ธารน้ำแข็งจะมาบรรจบกับมหาสมุทร โดยอาหารส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์น้ำจำพวกปลาค็อดขั้วโลก โดยแมวน้ำจะออกหาอาหารในพื้นที่บริเวณนี้มากกว่าวาฬ ซึ่งเลือกที่จะออกหาอาหารในพื้นที่ไกลขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปลาหลายชนิดที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำที่หนาวเย็นเข้ามายังแถบขั้วโลกได้เพิ่มขึ้น
พฤติกรรมดังกล่าวทำให้แมวน้ำคุ้นชินแต่กับอาหารชนิดเดิมในพื้นที่เดิมที่จำกัด ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการลดจำนวนประชากรลง และเสี่ยงสูญพันธุ์ในที่สุด หากสถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: