บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชี้ว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้งมากขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มาเร็วกว่าปกติคาดว่าจะขัดขวางการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวข้าวทั่วภูมิภาคเอเชีย กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกในโลก ซึ่งยังคงสั่นคลอนจากผลกระทบของสงครามความขัดแย้งในยูเครน
ทั้งนี้ เอลนีโญ (El Nino) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ใช้นิยามสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นชั่วคราว โดยจะหมุนเวียนเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศทั่วโลก และภาวะโลกร้อนทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทวีความรุนแรงขึ้น
โดยเอลนีโญที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรงตั้งแต่ภัยแล้งไปจนถึงน้ำท่วม
ด้าน National Oceanic and Atmospheric Administration ประกาศเตือนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญล่าสุดนี้จะมาเร็วกว่าปกติ 1-2 เดือน ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวเตือนว่า ภาวะโลกร้อนยังทำให้มีโอกาส 1 ใน 4 ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญจะขยายตัวออกจากพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ปรากฏการณ์มีระดับที่ใหญ่เกินขนาด
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ของเอลนีโญถือเป็นข่าวร้ายสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะในเอเชียที่มีการปลูกและบริโภคอยู่ที่ 90% ของข้าวทั้งโลก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงหมายถึงฝนที่ตกน้อยลงสำหรับพืชที่ต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูกอย่างมาก
Abdullah Mamun นักวิจัยของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ หรือ International Food Policy Research Institute (IFPRI) กล่าวว่า มีสัญญาณเตือนภัยอยู่แล้วเกี่ยวกับสถานการณ์ข้าว โดยชี้ว่าราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตขาดแคลน ตัวอย่างเช่น ราคาเฉลี่ยของข้าวขาวหัก 5% ในเดือนมิถุนายนของประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่แล้วประมาณ 16%
รายงานระบุว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วสต๊อกข้าวทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ก่อนเตือนว่าเอลนีโญในปี 2023 อาจขยายความหายนะอื่นๆ ให้กับประเทศผู้ผลิตข้าว ซึ่งเผชิญปัญหาที่คุกคามผลผลิตข้าวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปริมาณปุ๋ยที่ลดลงเนื่องจากสงครามขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และการตัดสินใจจำกัดการส่งออกข้าวของบางประเทศ เช่น เมียนมา กัมพูชา และเนปาล
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ฝนมรสุมทั่วอินเดียในช่วงปลายเดือนมิถุนายนเบากว่าปกติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 กรกฎาคม) ขณะที่ประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซีย ขอให้รัฐมนตรีเตรียมความพร้อมถึงฤดูแล้งที่ยาวนาน และในฟิลิปปินส์ทางภาครัฐกำลังบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวังเพื่อปกป้องพื้นที่เสี่ยงภัย
นอกจากนี้ บางประเทศกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนอาหาร เช่น อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการตัดสินใจของอินเดียที่จะจำกัดการส่งออกข้าวเมื่อปีที่แล้ว หลังจากฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ทำให้ข้าวสาลีไหม้เกรียม จนเกิดความกังวลว่าราคาอาหารในประเทศจะพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เดือนที่แล้ว (มิถุนายน) อินเดียให้คำมั่นว่าจะส่งข้าวมากกว่า 1 ล้านเมตริกตัน (1.1 ล้านตันสหรัฐฯ) ไปยังอินโดนีเซีย เซเนกัล และแกมเบีย เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านี้ตอบสนอง “ความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหาร”
ด้าน Mamun ชี้ว่า เอลนีโญแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน แต่แนวโน้มในอดีตบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำฝนที่หายากในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำให้ดินแห้ง ทำให้เกิดผลกระทบเป็นชั้นๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ Beau Damen เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย อาจมีความเสี่ยงมากกว่าในช่วงแรกของปรากฏการณ์เอลนีโญ
ส่วน Kusnan ชาวนาในจังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวพยายามคาดการณ์ล่วงหน้าโดยการปลูกข้าวให้เร็วกว่าฤดูกาลเพาะปลูกปกติ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ข้าวจะพร้อมเก็บเกี่ยวและไม่ต้องการน้ำมากนัก โดยหวังว่าผลตอบแทนที่สูงในปีที่แล้วจะช่วยชดเชยการขาดทุนในปีนี้
ขณะที่ประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซียเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการน้ำให้ดีในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมเตือนว่าปัจจัยต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดในการส่งออกและการขาดแคลนปุ๋ย เมื่อรวมกับปรากฏการณ์เอลนีโญ จะ “ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายเป็นพิเศษ”
อ้างอิง: