ผู้แทนด้านพลังงานแห่งสหภาพยุโรป (EU) แนะชาติสมาชิกเร่งจัดตั้งกองทุนพิเศษ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและกิจการขนาดเล็ก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มองว่าปัญหาค่าก๊าซและไฟฟ้าแพงเป็นผลมาจากนโยบายของกลุ่มเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน
คาดรี ซิมสัน คณะกรรมาธิการพลังงาน EU กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มผู้บริโภค อย่างการให้เงินจ่ายค่าไฟ-ค่าก๊าซโดยตรงแก่กลุ่มประชากรที่ยากจน การตัดลดภาษีพลังงาน และการปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมภาษีทั่วไป ล้วนเป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้ระเบียบของ EU
ทั้งนี้ ซิมสันย้ำว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกสุดที่ต้องจัดการก็คือการบรรเทาผลกระทบทางสังคม และปกป้องประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้แน่ใจว่าความยากจนจะไม่ถูกซ้ำเติมจากราคาพลังงาน ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งจากการจัดตั้งงบช่วยเหลือ และการหาทางบรรลุข้อตกลงซื้อขายพลังงานในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมาธิการด้านพลังงานยังได้เตรียมเปิดเผยแนวทางเครื่องมือและมาตรการที่ชาติสมาชิกยุโรปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงแผนจัดตั้งคลังสำรองก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลอิตาลียกมือสนับสนุน
คำแนะนำในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ราคาก๊าซธรรมชาติในฝรั่งเศสและสเปนขยับแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาก๊าซธรรมชาติ EU ในวันนี้ (7 ตุลาคม) มีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่ 288 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันพุธ (6 ตุลาคม) ถึง 26%
ทั้งนี้ ภูมิภาคยุโรปถือเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของพลังงานมากกว่าตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะใน 27 ชาติสมาชิก EU ที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากถึง 90%
ขณะเดียวกัน ข้ามฟากมายังสหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นหลักเหมือนฝั่งยุโรป กระนั้น ราคาพลังงานอย่างน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวพุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยราคาขายปลีกน้ำมันโดยเฉลี่ยในวันพุธที่ผ่านมา (6 ตุลาคม) อยู่ที่ 3.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน แพงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2014 แต่บางพื้นที่ในสหรัฐฯ ราคาขายปลีกน้ำมันพุ่งทะยานถึง 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน
ราคาขายปลีกน้ำมันในสหรัฐฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา อันเป็นผลจากความต้องการบริโภคพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตยังจำกัดอยู่เท่าเดิม โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเมื่อวานนี้ (6 ตุลาคม) ซื้อขายอยู่ที่ 77.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขยับลดลงมาเล็กน้อย หลังพุ่งแตะ 79 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2014 ขณะที่ช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในตลาดสหรัฐฯ ที่แพงขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าจะกระทบทำให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้น จนบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
อ้างอิง: