×

สรุปถกกฎหมายอากาศสะอาด แก้ฝุ่น PM2.5 ‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’ หนุนผ่านวาระแรก

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (11 มกราคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ขณะเดียวกันมีร่าง พ.ร.บ. ในทำนองเดียวกัน 3 ฉบับ ที่บรรจุในระเบียบวาระ และมีร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกัน ซึ่งยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ 3 ฉบับ ทำให้การประชุมสภามีการพิจารณา พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมลพิษอากาศสะอาดทั้งสิ้น 7 ฉบับ 

 

ร่างกฎหมายอากาศสะอาศ 7 ฉบับ มีของใครบ้าง 

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำ และนำเสนอโดย ครม.

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. โดยมี คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22,251 คน เป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย อนุทิน ชาญวีรกูล และคณะ เป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. โดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ เป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. ซึ่ง ร่มธรรม ขำนุรักษ์ และคณะ เป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. …. ซึ่ง ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร และคณะ เป็นผู้เสนอ

 

ทุกฝ่าย ‘เห็นตรงกัน’ ฝุ่นต้องแก้ด้วยกฎหมาย

 

จากนั้น พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในนาม ครม. กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ 

 

พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงานและกำกับดูแล เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบการเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ 

 

ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ จากนั้นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. อีก 6 ฉบับ ได้ทยอยลุกขึ้นเสนอหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. ที่ตนเองเป็นผู้เสนอตามลำดับ 

 

คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ในนามประชาชนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการฯ ได้อภิปรายเน้นย้ำความสำคัญของคำว่า แบบบูรณาการ เนื่องจากปัญหามลภาวะทางอากาศมีความซับซ้อน การแก้ปัญหาแบบไม่ข้ามหน่วยงานอาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร และเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ได้

 

“การแก้ปัญหาแค่บนยอดภูเขาน้ำแข็งยังไม่พอ ทำให้เกิดการแค่ปัญหาเชิงอีเวนต์ที่วนอยู่ในอ่าง เป็นฤดูกาลแล้วก็เลิกไป รากเหง้าจึงยังคงอยู่ที่เดิม ความเล็กจิ๋วและมองไม่เห็นของ PM2.5 ซุกไว้ใต้พรมอย่างยืดเยื้อยาวนาน อาจต้องเปลี่ยนวิธีจัดการปัญหาจาก Event-Based มาเป็น Structure-Based ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำอย่างนั้นได้ เราต้องการนวัตกรรมทางกฎหมาย” คนึงนิจกล่าว

 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานฯ โดยระบุว่า ต้องขอบคุณคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่ใส่ใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหา หารือกับผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อให้มีการตระหนักถึงปัญหาในระดับภูมิภาค

 

ตามด้วย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนฯ โดยเน้นว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีคณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่น PM2.5 และการก่อมลพิษข้ามแดน ซึ่งมีภาคประชาชนมามีส่วนร่วม

 

“ในระดับจังหวัด พรรคก้าวไกลมีจุดที่แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง คือเราให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ในพื้นที่ ที่เรามั่นใจว่าจะสามารถทำงานแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างน้อย 4 ปี ไม่ใช่มาปีสองปีแล้วก็ไป มาเป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนการแก้ไขระดับจังหวัดตรงนี้” ภัทรพงษ์กล่าว

 

วิสาระดีวอนคืนลมหายใจที่บริสุทธิ์ให้ประชาชน

 

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบในหลายมิติ พร้อมยกตัวอย่างปัญหาด้านสุขภาพด้วยการอ้างข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันที่ปริมาณฝุ่นจำนวนมาก พบว่ามีผู้ป่วยกว่า 1.7 ล้านคน โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายนั้นมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 3,000 คนต่อวัน 

 

ขณะเดียวกันหน้ากากอนามัยที่จะช่วยป้องกันประชาชนจากฝุ่นควันได้นั้นก็มีราคาสูง ครอบครัวที่มีรายได้น้อยอาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ประชาชนต้องแบกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วย หากเราไม่เร่งแก้ไข เรากำลังสร้างต้นทุนชีวิตให้กับประชาชนคนไทย สร้างความเหลื่อมล้ำในโอกาสที่จะมีชีวิตรอดในแต่ละวันด้วย

 

วิสาระดียังกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจึงได้เสนอแนวทางแก้ไข เช่น จัดให้มีการแจ้งเตือนภัยและเฝ้าระวังถึงหลักการเกี่ยวกับผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้จ่าย หรือแม้แต่การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับมลพิษข้ามเขตแดน การจัดระบบบริการสุขภาพรองรับผู้ป่วยทางเดินหายใจ หรือเปิดให้บริการห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

 

“หากเราได้รับอากาศที่บริสุทธิ์กลับมา ประชาชนคนไทยจะได้ลมหายใจที่บริสุทธิ์กลับคืนมา ธรรมชาติจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จะไม่มีใครต้องเจ็บต้องป่วยและเสียชีวิตอีก และประเทศของเราจะได้รับการไว้วางใจจากนักลงทุน การท่องเที่ยวจะต้องดีขึ้น” วิสาระดีกล่าว 

 

ธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นตอ PM2.5

 

ศนิวาร บัวบาน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ควรแก้ที่ต้นตอ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น และรัฐบาลได้ผลักดันการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า และสร้างมลภาวะในอากาศภายใน 5 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงถึง 2-3 เท่า

 

“สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือกลไกทางกฎหมาย และนโยบายที่กำหนดภาระรับผิดให้แก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น” ศนิวารกล่าว

 

โทษหนัก ปรับ-คุกสูงสุด

 

วิรัช พิมพะนิตย์ สส. กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอบคุณนายกฯ ที่ได้เซ็นอนุมัติ พ.ร.บ.ทุกร่างให้เข้ามาในสภา ทุกร่างจะมีประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตาม วันนี้ถ้าเราจะให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาจัดการปัญหานี้เพียงกระทรวงเดียว มาควบคุมเองลำพังคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องของมลพิษ ค่าฝุ่นละอองซึมซับไปอยู่ทุกอณู วันนี้ถ้าฝนตกยังกางร่ม ถ้าแดดออกยังหลบแดด แต่ถ้าอากาศเป็นพิษ อยู่ตรงไหนก็ตาย เราไม่ได้ตายตอนนี้ แต่ก็จะทรมานต่อไป 

 

วิรัชกล่าวต่อว่า ตนเห็นปัญหาตรงนี้จึงอยากระบุว่า กระทรวงคมนาคมต้องจำกัดเรื่องรถรับจ้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องให้ความรู้ประชาชนเรื่องการเผาวัตถุทางเกษตร วันนี้ผมขอเรียนกับท่านเจ้ากระทรวงทั้งหลาย ท่านเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องมลพิษ โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ วันนี้เราจะต้องทำอย่างไรที่จะกำจัดเรื่องมลพิษให้หายไปจากประเทศไทย

 

ปัญหายาเสพติดทำให้คนเกือบ 20% ต้องพิการ สุขภาพจิตไม่ดี แต่วันนี้ที่หนักกว่านั้นคือ PM2.5 ที่สามารถกระจายไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ต้องเจอกับปัญหาตัวนี้ ตนขอบอกกับประชาชนและข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลปัญหานี้ ขอให้ท่านช่วยควบคุมดีๆ ตนอยากให้เมืองไทยอยู่อย่างมีความสุข

 

วิรัชกล่าวว่า ตนขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องบังคับใช้โทษปรับกับโทษจำคุกให้สูงสุด เพื่อให้เมืองไทยสะอาด ให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข ให้ลูกหลานที่ไปโรงเรียนเขามีอากาศบริสุทธิ์ อยู่ได้ ผมขอโอกาสให้คนไทย ในเมื่อวันนี้ท่านนายกฯ ก็ไปเชียงใหม่เพื่อจะเจรจาเรื่องฝนหลวง แต่ฝนหลวงก็ไม่สามารถกำจัดเรื่องฝุ่นได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นเจตนาที่ดี

 

สส. ปทุมธานี พรรคก้าวไกล หวั่นชาวนาได้รับผลกระทบ

 

เจษฎา ดนตรีเสนาะ สส. ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กล่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ แต่ตนเองก็มีความกังวลต่อประชาชนที่เป็นชาวนาจะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.เหล่านี้ จากการเผาตอซัง

 

เจษฎาอธิบายถึงเหตุและความจำเป็นในการเผาตอซังว่า เพื่อเป็นการกำจัดข้าวดีดและข้าวเด้ง หากข้าวชนิดนี้ไปอยู่ในผืนนาของใคร จะทำให้ที่นานั้นได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันก็เป็นการประหยัดต้นทุนและเป็นทางเลือกที่สะดวกรวดเร็วแก่ชาวนา แต่ก็เป็นการก่อมลพิษ 

 

เจษฎากล่าวต่อว่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหามาตรการแก้ไขร่วมกันที่ไม่ใช่แค่การรับฟัง แต่ต้องมีอำนาจตัดสินใจในเชิงนโยบายร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการที่ออกกฎหมายกับประชาชนด้วย

 

ใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม-ไม่แบ่งแยก

 

ขณะที่ รวี เล็กอุทัย สส. อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุมสากลเมื่อปี 2560 มีประเด็นหลักที่พูดถึงการก้าวเข้าสู่โลกที่ปราศจากมลพิษ ซึ่งมีการขับเคลื่อนกลไกในการดำเนินงาน ขจัดมลพิษในอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงทะเลและมหาสมุทร มุ่งเน้นให้เกิดนโยบายการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการจัดการสารเคมีและของเสีย เพื่อให้เกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

 

การประชุมครั้งนั้นประเทศสมาชิกร่วมกันรับรองร่างปฏิญญาอย่างเป็นฉันทมติ ที่ให้แต่ละประเทศเน้นแนวทางปฏิบัติภาครัฐ เพื่อป้องกัน บรรเทาจัดการมลพิษในประเด็นต่างๆ มีนโยบายการจัดการสารเคมีขยะและของเสียที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

 

ฉะนั้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการแก้ไขมลพิษทางอากาศ ตนมีความคิดเห็นว่าเราไม่สามารถแยกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจออกจากกันได้ จึงขออภิปรายในส่วนของประเด็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่จะลดปัญหามลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดข้ามแดน และกลไกที่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาวอย่างยั่งยืน 

 

รวีกล่าวว่า มาตรการแรก อ้างอิงตามหลักการระหว่างประเทศ ถึงแม้การเป็นรัฐอธิปไตยเราไม่ควรก้าวล่วง แต่ปัญหามลพิษในอากาศปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละประเทศจะไม่มีความรับผิดชอบร่วมกันเลย

 

ฉะนั้นในส่วนของสินค้าที่สร้างมลพิษทางอากาศจากเผาไหม้ข้ามแดนให้ประกาศว่าเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า ต้องมีการกำหนดโทษต่อผู้ก่อมลพิษนอกราชอาณาจักร แต่ทั้งนี้ก็ควรพิจารณาถึงรายละเอียดที่ละเอียดอ่อน เรื่องของระหว่างประเทศด้วย ควรมีการบังคับการใช้กฎหมายเท่าเทียม ไม่ควรแบ่งแยกคนในชาติและคนต่างชาติ

 

มาตรการที่ 2 อ้างอิงความสำเร็จจากประเทศจีน ที่แม้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการปัญหามลภาวะ แต่สุดท้ายก็สามารถจัดการได้ ซึ่งตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลให้เพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร ลดการปล่อยมลพิษ เช่น นำเศษซากทางการเกษตร สิ่งปฏิกูล เข้าสู่กระบวนการ Biorefinery 

 

ไทยต้องยกระดับตัวเองบนเวทีระดับโลก

 

ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เกิดคือการได้สูดอากาศก่อนที่จะได้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารด้วยซ้ำ ทุกวันนี้อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเข้าห้องน้ำ กิจกรรมเกือบร้อยละ 99 ทำให้เกิดปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะทางอากาศ

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 มีผู้ป่วยจากมลพิษเกือบ 7 ล้านคน ในปี 2566 มีเพิ่มสูงเกินกว่า 10 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปี โดยเฉพาะในฤดูร้อนมักจะเกิดปัญหามลพิษทางอากาศตลอด และก็ทำให้เราตื่นตระหนกกัน 

 

ส่วนที่ส่งผลมากที่สุดคือเรื่องของการเกษตร การเผาเศษซากทางเกษตรกรรม หรือแม้แต่ต้นไม้เมื่อสลัดใบเกิดการทับถม ก็สามารถเกิดเป็นเชื้อเพลิงหรือมลภาวะทางอากาศได้ ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารจัดการ เพราะเราสามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาทำเป็นประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงได้ สามารถทำกระแสไฟฟ้าก็ยังได้ วันนี้โทษประชาชนหรือชาวบ้านไม่ได้ แต่ต้องมามองถึงการดำเนินงานของกิจการภาครัฐ

 

ปิยะรัฐชย์กล่าวต่อว่า เรื่องผลกระทบระหว่างประเทศ ปัญหาหมอกควันไม่ได้หมายความว่าทำรั้วกั้นแล้วหมอกจะไม่เคลื่อนย้าย ปัญหาฝุ่นละอองนี้เป็นเรื่องไร้พรมแดน การแก้ไขปัญหาต้องมีการร่วมมือร่วมใจระหว่างประเทศ แต่ก็มีปัญหาบางอย่างรอบๆ ประเทศที่ต้องใช้ความสามารถที่พิเศษ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเพื่อนบ้านเรามีชนกลุ่มน้อยเยอะมาก ถึงแม้จะใช้กระทรวงการต่างประเทศในการเจรจาก็ยังไม่จบ เพราะชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่ได้ฟังเสียงรัฐบาลของเขา ฉะนั้นต้องใช้ทั้งตัวกฎหมายและความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อย

 

การจัดการปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ตนยังมองว่าต้องเป็นการร่วมมือร่วมใจของหลายประเทศ นอกจากนี้สาเหตุของการเกิดปัญหามลภาวะทางอากาศยังมาจากสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

ตนอยากเสนอให้คณะกรรมการของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เสนอให้มีการออกกฎหมายบังคับใช้ได้จริง เข้มงวด เรื่องต่อมาคือต้องสร้างเครือข่ายกับนานาประเทศ และประเด็นที่ 3 คือ ไทยต้องยกระดับตัวเองในเวทีระดับโลก อาทิ สหประชาชาติ เพราะมลภาวะเป็นเรื่องสำคัญ

 

ปิยะรัฐชย์กล่าวต่อว่า ตนอยากให้นายกฯ เป็นผู้ริเริ่มไปตั้งหน่วยงานความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของเวทีสหประชาชาติ เพราะเมื่อใดที่ไทยได้เป็นสมาชิกถาวร การใช้งบประมาณ การขอความร่วมมือระหว่างประเทศเราจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเราเป็นคนริเริ่มในเรื่องนี้และสิ่งนี้จะเป็นผลงานที่ดีของประเทศไทย

 

หยุดวาทกรรม ‘ชาวเขาเผาป่า’

 

ขณะที่ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กลุ่มชาติพันธุ์คือกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหา เกี่ยวกับไฟป่าโดยตรง เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรและอยู่ในพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยป่าและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นการออกกฎหมายเกี่ยวกับไฟป่านั้นจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง 

 

เลาฟั้งกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาไฟป่ามี 2 ประการคือ ระเบียบที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ที่ออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยไม่มีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนหรือคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ และอีกปัญหาคือการผลิตซ้ำวาทกรรม โดยเฉพาะที่ระบุว่า ‘ชาวเขาเผาป่า’ ผ่านบทบาทของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และสื่อมวลชน 

 

เลาฟั้งกล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้สังคมยังมีความเข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์ยังเผาป่า แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยยังมองไม่เห็นคือกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีการดำเนินการจัดการไฟป่าอยู่แล้ว ทั้งที่ทำกันเองและทำโดยได้รับอนุญาตหรือความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน

 

ก้าวไกลบ่น ร่างประชาชนรอนานหลายปี ร่าง ครม. กะพริบตาสองทีได้เข้าสภา

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย นิติพล ผิวเหมาะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในสภา สมัยที่ 25 สส. ทุกคนเข้าใจถึงต้นเหตุ ปัญหา วิธีการแก้ไขปัญหา แนวทางต่างๆ ครบทุกขั้นตอน รัฐบาลก็รู้เช่นเดียวกัน 

 

เพราะฉะนั้นกระบวนการถัดไปคือกฎหมาย พรรคก้าวไกลมองเห็นว่าการออกกฎหมายในตอนนั้นใช้เวลานาน เราจึงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และบรรจุเข้าสู่สภาเรียบร้อย แต่สุดท้ายก็ไม่ทันได้รับการพิจารณาสักที ยุบสภาไปก่อน 

 

วันนี้มีร่างกฎหมายเข้ามาทั้งหมด 7 ร่าง โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการฯ โดยคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22,251 คน เป็นผู้เสนอ นี่คือร่างกฎหมายของประชาชนที่ทนไม่ไหวแล้วกับอากาศทุกวินาทีนี้ รอหลายปีกว่ากฎหมายจะอยู่ในสภา 

 

“ส่วนร่างของรัฐบาล กะพริบตาสองทีเข้ามาอยู่ในสภาแล้ว รวดเร็วมาก เป็นร่างที่ต้องเรียกว่า ทางสำนักงาน ป.ย.ป. ช่วยในการยกร่างทุกอย่าง ที่ผ่านมาเข้ามาสู่สภาเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นายกฯ ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับเรื่อง PM2.5 และดีใจที่นายกฯ จริงจัง ขึ้นไปมอบนโยบายที่จังหวัดเชียงใหม่หลายครั้ง”

 

นิติพลอภิปรายแล้วเสร็จ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา คนที่ 1 และประธานการประชุม ได้ท้วงให้นิติพลอภิปรายอยู่ในประเด็นของการสนับสนุนหลักการและเหตุผลแห่ง พ.ร.บ.ที่นำเสนอ พร้อมขอให้พรรคก้าวไกลระมัดระวังการอภิปรายพาดพิงการทำงานของนายกฯ

 

มนพรป้องนายกฯ บอกก้าวไกลส่งช้าเอง

 

จากนั้น มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะวิป ครม. ได้ชี้แจงกรณีนิติพลอภิปรายพาดพิงถึงกรณีนายกฯ ลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอว่า เนื่องจากร่างฉบับก้าวไกลส่งมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และรัฐบาลได้บันทึกเสนอความเห็นไปเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุด 

 

กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะวินิจฉัยและส่งกลับมาที่กฤษฎีกาช่วงเย็นเมื่อวาน (10 มกราคม) ตรงกับที่นายกฯ ปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ ทางรัฐบาลเข้าใจว่าต้องให้ร่าง พ.ร.บ.ทุกฉบับได้พิจารณาพร้อมกันในวันนี้ จึงส่งร่างดังกล่าวด้วยเครื่องบินไปให้นายกฯ ลงนามเมื่อวานนี้

 

“ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า เงื่อนเวลาที่สมาชิกจากพรรคก้าวไกลส่งมามีความล่าช้า และคณะรัฐมนตรีต้องรอลงความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขออนุญาตได้ชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง” มนพรกล่าว

 

จากนั้น ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นหารือ พร้อมกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้เมื่อเช้านี้นายกฯ ได้เซ็นรับรอง ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ได้พิจารณาครบทั้ง 7 ร่าง แต่ก็ขอความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต เพราะมีการแทรกคิวอย่างกะทันหัน ทำให้สมาชิกฝ่ายค้านมีเวลาเตรียมตัวเพียง 40 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะคิวแทรกเป็นเรื่องด่วนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ (8 มกราคม) ทางวิปรัฐบาลรับทราบอยู่แล้วว่ามีร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับ ที่ยังไม่ได้ลงนาม หากจะขอแทรกคิวเร่งด่วน มองว่าทางวิปรัฐบาลควรจะต้องรอบคอบว่ามีร่าง พ.ร.บ.ตกค้าง จะทำอย่างไรให้ทันระเบียบวาระ หากเร่งด่วนก็เห็นว่าควรทำตามวาระปกติ เพื่อประกาศระเบียบวาระวันศุกร์ และนำเข้าพิจารณาในวันพุธต่อไป ซึ่งจะทำให้ สส. ได้มีเวลาศึกษารายละเอียดของกฎหมายด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X