ภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้บริหารพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ผู้บริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงิน และผู้บริหารการขายลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะดอกเบี้ยต่ำและมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะโตช้ากว่าที่คาดไว้ สอดคล้องกับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุดที่มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ทำให้ลูกค้าบุคคลในปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับเงินฝากแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามากขึ้น
“ถ้าเรามองย้อนกลับไป 15 ปีที่แล้ว การเก็บเงินออมไว้ในธนาคาร ทำให้เราได้รับผลตอบแทนสูงถึง 5% ต่อปี หรือใกล้กว่านั้นเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ยังได้รับผลตอบแทนสูงถึง 3% ต่อปี แต่ในปัจจุบันกลับได้รับผลตอบแทนไม่ถึง 1% ต่อปี แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นชินกับการออมแบบนั้น จึงพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น 3 เท่า ผ่านทางเลือกการลงทุนอย่างหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่ 1.5-4% ต่อปี ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่หุ้นกู้มีรูปแบบการลงทุนคล้ายการฝากเงิน คือ ได้รับดอกเบี้ยเป็นรายงวด และเงินต้นเมื่อครบกำหนด เพียงเปลี่ยนจากฝากเงินธนาคาร เป็นเจ้าหนี้บริษัทเอกชน” ภูดินันท์ กล่าว
ภูดินันท์ กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารพบว่านักลงทุนกลุ่มที่เปิดใจลงทุนหุ้นกู้แล้ว ก็ยังเจอปัญหาพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะเฝ้ารอจะซื้อเฉพาะหุ้นกู้ที่เสนอขายครั้งแรกเท่านั้น แล้วยังต้องลุ้นอีกว่า หุ้นกู้ที่สนใจจะจองได้ทันหรือเปล่า เพราะไม่ทราบว่ามีหุ้นกู้ดีๆ รอให้เลือกซื้อในตลาดรองมากมาย ส่วนบางคนรู้จักหุ้นกู้ตลาดรองแล้ว แต่กลับมีความคิดฝังหัวว่า ซื้อหุ้นกู้ตลาดรองต้องแพงกว่าซื้อตอน IPO ดูไม่น่าจะคุ้มค่าการลงทุน ทั้งที่ราคาที่ถูกหรือแพงเป็นไปตามภาวะตลาด ด้านนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ไปแล้ว ยังติดภาพจำว่าต้องถือครองหุ้นกู้เก็บไว้จนครบกำหนด แท้จริงแล้วนำออกมาขายเปลี่ยนมือได้ หรือบางคนอาจคิดว่า หากเอามาขายก็ขาดทุนเสมอ ทั้งที่มีโอกาสสร้างผลกำไรได้ด้วย ท้ายสุดเคยไปติดต่อสอบถามข้อมูลหุ้นกู้ แต่ไม่ได้คำตอบที่ช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้
“เราเห็นแล้วว่ามีโจทย์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ จึงเริ่มลงมือตั้งแต่ปี 2558 เราตั้งใจบุกเบิกตลาดซื้อขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนด หรือเรียกง่ายๆ ว่า หุ้นกู้ตลาดรอง เพื่อให้คนไทยมีทางเลือกการออม ที่ทำให้เงินทำงานหนักขึ้น ในเวลาเท่าเดิม สร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นและเปิดใจให้การลงทุนในหุ้นกู้ อีกทั้งสรรหาหุ้นกู้หลากหลายตัวเลือกในแต่ละวัน หรือหุ้นกู้ดีๆ มีได้ทุกวันที่เป็นสโลแกนหลักของเรา และเรายังหวังไปถึงว่าตลาดตราสารหนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น และเติบโตมากขึ้นจากนักลงทุนรายย่อย เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” ภูดินันท์ กล่าว
กรกฏ กมลเนตรพิสุทธิ์ ผู้บริหาร ธุรกิจผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ และเงินตราต่างประเทศ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหุ้นกู้อายุ 5 ปีที่ได้รับอันดับความเชื่อถือ A จะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.35% ขณะที่หุ้นกู้ที่ได้รับอันดับความเชื่อถือ BBB อาจให้ดอกเบี้ยได้ถึง 3-4% ดังนั้นหากลูกค้ามีการจัดพอร์ตลงทุนในหุ้นกู้ที่ได้ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก 3 เท่าโดยที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน
“ในประเทศที่พัฒนาแล้วสัดส่วนของลูกค้าบุคคลที่ลงทุนในหุ้นกู้ตลาดรองจะอยู่ที่ 20-30% ขณะที่ในประเทศไทยสัดส่วนนี้ยังต่ำมากอยู่ที่เพียง 1% เราจึงเชื่อว่าหุ้นกู้ตลาดรองยังมีโอกาสเติบโตได้อีกสูง ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าจะมียอดธุรกรรมซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรองให้แก่ลูกค้าส่วนบุคคลที่ 18,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 51% ขณะเดียวกันยังคาดว่ายอดธุรกรรมซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรองของธนาคารในปี 65 จะเติบโตขึ้นอีก 30% จากปีนี้” กรกฏ กล่าว
กรกฏ กล่าวอีกว่า ในเดือนที่ผ่านมาธนาคารได้เปิดให้บริการซื้อหุ้นกู้ตลาดรองผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ซึ่งช่วยให้ลูกค้าบุคคลสามารถลงทุนในหุ้นกู้ตลาดรองได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้ลูกค้าสามารถขายหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชันได้ในเร็วๆ นี้
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP