×

ชู ‘ทรัมป์’ ชนะเลือกตั้ง ‘ไทย’ ได้ประโยชน์ ชี้โจทย์ใหญ่ ‘จีน’ จ่อขึ้นที่ 1 ของโลก

03.11.2020
  • LOADING...
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 นี้ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ประเมินว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยมากกว่านโยบายของไบเดน แต่จากนโยบายของผู้ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีทั้งผลบวกและลบต่อไทยที่แตกต่างกัน

 

ทั้งนี้หากทรัมป์ชนะ น่าจะเป็นผลบวกต่อไทย ได้แก่ 

  1. สงครามการค้าใกล้จะสิ้นสุดลง 
  2. นโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐาน และทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลบวก เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  3. เมื่อไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีน จึงยังต้องสานต่อ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership: ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคคือ อาเซียน+6 (ไม่รวมอินเดีย) 

 

ขณะที่ผลเสียหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ได้แก่ แม้ว่าสงครามการค้าใกล้จะสิ้นสุดลง แต่ยังมีความกังวลว่าจะเปลี่ยนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น

 

ขณะเดียวกันหากจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปที่สหรัฐฯ อาจนำสินค้าเหล่านั้นมาทุ่มตลาด หรือดัมพ์ราคาที่ไทย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ฯลฯ

 

ขณะที่หากไบเดนชนะ นโยบายยังมุ่งเน้นการขยายตัวของสหรัฐฯ จากภายใน โดยจะส่งผลบวกต่อไทยในกรณีที่ไทยเข้าร่วม CPTPP ได้แก่ การย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ไทย หรือสินค้าที่ได้ผลดี เช่น ยางพารา ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง

 

อย่างไรก็ตาม หากไบเดนชนะ การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง

 

ขณะที่กรณี CPTPP ไบเดนยังไม่ได้มีนโยบายชัดเจนว่าจะกลับมาเข้าร่วม และหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะไม่ได้ประโยชน์จากย้ายฐานการผลิต โดยไทยยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP

 

“คำถามที่ว่าไทยควรเข้าร่วมไหม CPTPP ทางทฤษฎีประเทศที่เข้าร่วมมีทั้งผลบวกและผลลบ แต่อยู่ที่ว่าจะมีการชดเชยจากประเทศที่ได้ประโยชน์ให้ประเทศที่เสียประโยชน์อย่างไร ดังนั้นถ้าเข้าร่วม CPTPP ในสมัยไบเดนอาจจะเร่งการลงทุนมากขึ้น”

 

ขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งในระยะสั้น (ตอนนี้ถึงปลายปี) ความไม่แน่นอนจะสูง ส่วนหนึ่ง เพราะผลการเลือกตั้งอาจใช้เวลากว่าจะสรุปผลทางไปรษณีย์ด้วย ดังนั้นอาจจะเห็นการขายหรือเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐได้ ขณะที่ต้นปีถึงกลางปี 2564 มองว่าค่าเงินบาทจะกลับสู่ทิศทางแข็งค่า เพราะมีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง

 

ทั้งนี้หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจจะลดลงต่ำกว่า 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนเคลื่อนย้ายและการเกินดุลบัญชีการค้าของไทยจากการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยุ่ที่ 6 ล้านคน โดยจะเข้ามาช่วงกลางปีหน้าหากมีวัคซีน

 

ขณะที่หากทรัมป์ชนะ เมื่อนโยบายเน้นการสร้างงานในประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอยู่ราว 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2564

 

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่อาจจะส่งผลต่อประเทศไทยในอนาคตคือ ในปี 2573 ทางซีไอเอ็มบีไทยคาดว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และกลายเป็นผู้นำโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ไป ข้อมูลจาก IMF ระบุว่า ปี 2559 จีนมีมูลค่า GDP คิดเป็นสัดส่วน 60% GDP สหรัฐฯ และปี 2563 เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 73% และภายใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีสัดส่วน GDP เพิ่มเป็น 90% ของ GDP สหรัฐฯ 

 

ดังนั้นจะเห็นว่านโยบายของสหรัฐฯ ผ่านผู้นำทั้งสองคนจะเน้นเรื่องชาตินิยมเพื่อรั้งให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกนานที่สุด โดยจะมีนโยบายต่างๆ เพื่อให้จีนต้องดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยไม่ไ้ดมีนโยบายผู้นำโลกการค้าเสรีเหมือนในอดีต

 

และในอนาคตเมื่อจีนขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ย่อมมีอำนาจในการซื้อ การบริโภคมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือ รายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศ โดยแม้ว่าจีนจะขึ้นเป็นที่ 1 ของโลกด้านเศรษฐกิจ แต่คาดว่ารายได้ต่อหัวของจีนคิดเป็น 15% ของรายได้ต่อหัวของสหรัฐฯ ดังนั้นกำลังซื้อของคนยังไม่มาก

 

ทั้งนี้มองว่านโยบายหลักของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ควรมุ่งเน้นที่ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’​ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถขยายเศรษฐกิจในหลายทาง แต่โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันคือการย้ายฐานการผลิต การลงทุนในประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจไทยที่ถือว่ายังอ่อนแอ

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2563 GDP ไทยจะหดตัว 7.5% จากปีก่อน โดยคาดว่าไตรมาส 3/63 GDP จะติดลบ 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวติดลบน้อยกว่าไตรมาส 2/63 ที่ติดลบราว 12% แต่ยังมีความกังวลว่าไตรมาส 4/63 การฟื้นตัวยังไม่ต่อเนื่องในรูปแบบไตรมาสต่อไตรมาส

 

ทั้งนี้คาดว่าไตรมาส 4/63 เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวชะลอลง อาจจะติดลบ 8-9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือติดลบ 0.5-0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะการส่งออกชะลอตัวตามการล็อกดาวน์ในต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในไทย เช่น การบริโภคในประเทศอาจฟื้นไม่ได้ต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นที่กระทบดับการลงทุนและบริโภค ขณะเดียวกันแรงกระตุ้นนโยบายรัฐอาจยังไม่มากพอที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นและเพิ่มการบริโภค

 

อย่างไรก็ตามมองว่า ปี 2564 GDP ไทยจะขยายตัวที่ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising