×

CIMBT-BBL มองมาตรการรัฐช่วยโควิด-19 รอบ 3 อาจไม่พอ ย้ำการช่วยเหลือต้องตรงจุด-กระจายวัคซีนทั่วถึง

06.05.2021
  • LOADING...
CIMBT-BBL มองมาตรการรัฐช่วยโควิด-19 รอบ 3 อาจไม่พอ ย้ำการช่วยเหลือต้องตรงจุด-กระจายวัคซีนทั่วถึง

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยต่อ THE STANDARD WEALTH ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่ม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบครั้งนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดเงินเพื่อเยียวยาการขาดรายได้และการลดค่าครองชีพของประชาชน (เพราะหากเป็นมาตรการกระตุ้นมักเกิดช่วงหลังการแพร่ระบาดชะลอลง)

 

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินมาตรการช่วยเหลือฯ หลายกลุ่มที่รัฐบาลออกมาล่าสุดอาจนับเป็นการซื้อเวลาในสถานการณ์ที่ยังไม่มีการกระจายฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ดังนั้นเม็ดเงินนี้อาจต้องมองถึงส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จะลดความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่ซ้ำๆ ที่ทำให้คนขาดรายได้ ซึ่งทำให้รัฐต้องใช้เม็ดเงินเยียวยาเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ 

 

ทั้งนี้ สิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นคือ การใช้ข้อมูลของรัฐที่เก็บมาในช่วงการระบาดระลอก 1 และ 2 ให้นำมาสู่การจ่ายเงินเยียวยาที่มีจำกัดให้ตรงจุด ตรงคน อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในระลอกนี้มองว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ อาชีพอิสระ ฯลฯ รวมถึงการชดเชยรายได้หรือสร้างแรงจูงใจในกลุ่มผู้ที่ต้องกักตัวแต่ขาดรายได้เพื่อดำรงชีพ ซึ่งถ้ารัฐบาลทำส่วนนี้ได้ช้า อาจทำให้เกิดผู้ติดเชื้อมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศมีรูปแบบการเยียวยาควบคู่ไปกับการกระจายฉีดวัคซีน เช่น สหรัฐฯ​ ​มีการกระจายฉีดวัคซีนและการช่วยเหลือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศผ่านสวัสดิการว่างงาน ฯลฯ ขณะที่กลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินเยียวยาตรงจุด เช่น จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้มีบุตร ฯลฯ  

 

ขณะที่ไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำอาชีพอิสระ ข้อมูลรายได้ ตัวตน และสวัสดิการยังมีน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องอาศัยข้อมูลที่เก็บมาจากมาตรการช่วยเหลือในช่วงการระบาดระลอก 1 และ 2 ซึ่งเป็นจุดที่แสดงประสิทธิภาพการใช้ข้อมูลของรัฐ

 

“มาตรการคลังต้อง Proactive มากกว่านี้ ในสถานการณ์ที่วัคซีนยังไม่ชัดเจน และไม่รู้ว่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่ไหม ก็ทำให้หนี้สาธารณะอาจจะต้องเกิน 60% ขณะเดียวกันหากมีวัคซีนต้องติดตามเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนว่าจะสามารถรองรับการกลายพันธุ์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไทยต้องการความหลากหลายของวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงนี้”

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยต่อ THE STANDARD WEALTH ว่า จากการระบาดระลอก 3 นี้ทาง ธปท. มุ่งให้แก้หนี้และปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่มาตรการทางการคลังที่ออกมาล่าสุด (ครม. เห็นชอบเมื่อวานนี้) ถือว่าสัดส่วนจำนวนเงินต่อเดือนที่กระจายสู่ประชาชนยังน้อยกว่าการเยียวยาในการระบาดรอบ 2 ที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ มองว่ามาตรการเยียวยาฯ ที่รัฐออกมาล่าสุดอาจไม่เพียงพอต่อผลกระทบการระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้นในวงกว้าง และมีโอกาสลากยาวอย่างน้อย 2-3 เดือน สาเหตุหลักมองว่ามาจากรัฐที่ตัดสินใจควบคุมสถานการณ์ช้าเกินไป หลังจากพบการระบาดระลอก 3 ก่อนช่วงสงกรานต์ แต่เริ่มเห็นมาตรการควบคุมดูแลในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังหลักจึงขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนที่คาดว่าจะเริ่มกระจายในไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยมองรูปแบบในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ​ อังกฤษ จะพบว่าเมื่อมีการกระจายวัคซีน เริ่มมีทิศทางควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ในส่วนของไทยคาดว่าไทยจะเริ่มเปิดประเทศในปีหน้า แต่หากยังขาดความเชื่อมั่นและความชัดเจนอาจทำให้เศรษฐกิจไทยยังซึมต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้มองว่าหากมีความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติม จนทำให้ต้องปรับเพดานหนี้สาธารณะของไทยขึ้นสูงกว่าระดับ 60% ในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นการดูแลเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตและพื้นฐานฐานะการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี 

 

“ช่วงต้นปี 2563 ไทยมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ราว 40% ช่วงปลายปีขยับขึ้นสู่ระดับ 50% และหากเราใช้เม็ดเงินใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อาจทำให้ขยับสู่ระดับ 58% แต่หาก GDP ไทยโตต่ำกว่าที่คาด อาจทำให้อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ทางการคาดการณ์ไว้”

 

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูง ได้แก่ เยอรมนีราวเกือบ 70% ญี่ปุ่นอยู่ในระดับ 256% ขณะที่สหรัฐฯ และอังกฤษ อยู่ในระดับสูงกว่า 100%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising