พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ ธนาคารจะยังเน้นการเติบโตผ่านธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย ธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจบริหารเงิน รวมทั้งจะมุ่งเน้นการให้บริการดิจิทัลเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘ธนาคารอาเซียนที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ โดยจะมีการปรับโครงสร้างพอร์ตโฟลิโอ ปรับประสิทธิภาพการใช้ต้นทุน กระจายความเสี่ยงของเงินฝาก บริหารจัดการความเสี่ยงเข้มข้น เพิ่มทักษะของคนทำงานและเพิ่มมูลค่าให้คนด้วยทักษะดิจิทัล
โดยในส่วนของธุรกิจรายย่อย ธนาคารจะใช้ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เช่น แอป CIMB THAI Digital Banking บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี (Speed D) และสปีดดี พลัส (Speed D+) เข้ามาช่วยขยายการเข้าถึงและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น นอกจากนี้ยังตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘Wealth Credit Line’ และการจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรผ่านแอปมือถือ ขณะเดียวกันธนาคารจะขยับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น
ด้านธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารจะเดินหน้าสนับสนุนลูกค้าโดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแข็งแกร่งในอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบี ช่วยลูกค้าค้นหาพันธมิตรรายใหม่ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกกว้างขึ้นของแหล่งทุน และเปิดโอกาสขยายธุรกิจเติบโตตลาดต่างประเทศ
สำหรับธุรกิจบริหารเงิน ในปีนี้ธนาคารมีแผนจะขยายธุรกิจ Treasury ให้เติบโตต่อเนื่องทั้งกลุ่มลูกค้า Wealth รายย่อย และกลุ่มลูกค้า Wealth รายใหญ่ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการจัดจำหน่าย และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ธนาคารจะเพิ่มเติมรายได้ใหม่ๆ อาทิ รายได้อัตราแลกเปลี่ยนจากการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน และบริการคัสโตเดียน
“ปีนี้เราตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อในภาพรวมเอาไว้ที่ 5-8% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้นจากช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.3-3.8% แต่ระหว่างทางจะยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ที่คาดเดาได้ยาก เช่น การระบาดของโควิด ทำให้เราจะยังดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง” พอล วอง ชี คิน กล่าว
ซีอีโอ ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวอีกว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายจะมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE ที่ 5.7-7% มีกำไรก่อนหักภาษีที่ 3-3.5 พันล้านบาท มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวมที่ 55-57% และมีต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่ออยู่ที่ 1.2-1.5%