×

CIMB THAI ปรับเพิ่ม GDP ปี 2564 โต 4.1% หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าคาด จับตาเงินร้อนฉุดบาทแข็ง

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2020
  • LOADING...
CIMB THAI ปรับเพิ่ม GDP ปี 2564 โต 4.1% หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าคาด จับตาเงินร้อนฉุดบาทแข็ง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB THAI) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.1% ดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 2.8% ส่วนหนึ่งเพราะมีทิศทางดีขึ้นจากคาดการณ์ปี 2563 ที่ประเมินว่าจะหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ระดับ 6.6% (เดิมติดลบ 7.5%)

 

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจดูมีทิศทางดีขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 ออกมาดีกว่าคาด และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นได้เร็วจากมาตรการกระตุ้นในแต่ละประเทศ ทำให้อาจเห็นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 จะเริ่มขยายตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 มองว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีแรงสนับสนุนจากการแจกจ่ายวัคซีนได้ทั่วถึง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาได้เร็ว และยังได้การฟื้นตัวจากภาคการส่งออก แต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ยังมีปัญหายอดขายเติบโตช้า 

 

ขณะที่หนี้เสียที่สูงขึ้นในระบบอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย และแรงงาน ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับสู่ระดับปกติ และจะฟื้นตัวในปี 2565

 

นอกจากนี้ ปี 2564 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 

  • ปัญหาการเมือง 
  • การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบสอง 
  • เงินบาทที่แข็งค่า (คาดว่าปี 2564 จะอยู่ที่ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) มองว่า ธปท. และกระทรวงการคลังจะมีมาตรการสกัดเงินร้อนที่ไหลเข้าประเทศ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก จะได้รับผลเชิงลบจากปัจจัยต่างประเทศผ่านการแข็งค่าของเงินบาทและการกีดกันการค้า มากกว่าปัจจัยการเมืองหรือการระบาดรอบสอง 
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจดำเนินต่อ แม้โจ ไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ 
  • กระแสกีดกันโลกาภิวัตน์ที่ประเทศต่างๆ อาจเลือกใช้ของในประเทศเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายใน หรือกีดกันการเดินทางออกนอกประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐในปีหน้า โครงการขนาดใหญ่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนใหม่ๆ อาจล่าช้าตามการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ 

 

ในส่วนแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐน่าจะยังมีต่อเนื่อง ทั้งจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจขยับเป็นโครงการจ้างงานในพื้นที่ชนบท เพื่อให้เกิดรายได้ในท้องที่ได้ดีขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X