×

จุฬาฯ ลุยสู้โควิด-19 ส่งกองทัพหุ่นยนต์ ‘CU-RoboCOVID’ กว่าร้อยตัว เซฟหมอทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (7 เมษายน) สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งผลิตหุ่นยนต์ ‘CU-RoboCOVID’ 103 ชุด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท นําทีมโดยเจ้า ‘PINTO’ (ปิ่นโต) มอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้สู้ภัยโควิด-19 มุ่งลดความเสี่ยงติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้แพทย์และพยาบาล สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทํางานกันอย่างหนักตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเตรียมจัดส่งหุ่นยนต์นักรบอัศวิน ‘PINTO’ จํานวน 103 ตัวมาสนับสนุนภารกิจนี้ 

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า PINTO คือหุ่นยนต์ซีรีส์หนึ่งของ CU-RoboCOVID โครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ เพื่อส่งไปช่วยหมอสู้ภัยโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงานและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานให้บุคลากรทางการแพทย์ในยามนี้

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และพันธมิตร จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือแพทย์ 3 ชุดหลัก ได้แก่ หุ่นยนต์ส่งของ (Remote Control Delivery Robot) หุ่นยนต์สื่อสารทางไกล (Telepresence Robot) และหุ่นยนต์เครื่องช่วยหายใจ (Ambu Bag) 

 

“สําหรับปิ่นโต (PINTO) ที่เราผลิตให้กับ สนจ. ในครั้งน้ี เป็นหุ่นยนต์ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ระยะไกลที่ติดตั้งพร้อมด้วยระบบ Telepresence โดยทําหน้าที่ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ไปยังห้องผู้ป่วย พร้อมมีระบบภาพสื่อสารทางไกลที่ใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และยังช่วยอํานวยความสะดวกให้บุคลกรทางการแพทย์ทํางานได้ง่ายขึ้น” ดร.สุพจน์ กล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์ ‘น้องกระจก’ (Quarantine Telepresent) เป็นหุ่นยนต์แท็บเล็ตที่นําไปไว้ที่ห้องผู้ป่วย จะทําหน้าที่สอดส่องดูแล และพูดคุยกับผู้ป่วยได้โดยที่ไม่ต้องกดรับสาย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดทั้งความเสี่ยงติดเชื้อ และลดอัตราการใช้ชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ลง ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานให้กับหมอและพยาบาลได้เป็นอย่างดี ‘หุ่นยนต์นินจา’ เป็นซีรีส์ที่ช่วยสื่อสารทางไกลระหว่างหมอกับผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบ Video Conference โดยที่ทั้งหมอ พยาบาล ยังสามารถพูดคุยโต้ตอบสอบถามอาการกับผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine โดยไม่ต้องเข้าไปในหอผู้ป่วย และยังสามารถควบคุมและสั่งการการทํางานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล และที่มากไปกว่านั้น หุ่นยนต์นินจายังเชื่อมอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพต่างๆ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ และส่งข้อมูลไปให้หมอใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการได้ทันทีอีกด้วย

 

“สําหรับโครงการ CU-RoboCOVID ได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทําให้มั่นใจว่าในอนาคตน่าจะช่วยให้จุฬาฯ ก้าวสู่การเป็นผู้สนับสนุนการสร้างบุคลากรตอบโจทย์ภัย คุกคามด้านสาธารณสุข ด้วยผลงานชั้นนําด้านนวัตกรรมทางวิศวกรรมการแพทย์ระดับโลกได้ต่อไป และต้องขอขอบคุณบริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด และบริษัท Obodroid ในฐานะผู้ผลิตที่ร่วมกันขับเคลื่อน โครงการนี้เป็นพันธมิตรที่ดีกับเรามาโดยตลอด” ดร.สุพจน์ กล่าว 

 

ด้าน วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) เปิดเผยว่า สนจ. ทราบถึงความต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อให้หมอและพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สู้ร่วมกันในภารกิจนี้ตามมาตรการ Social Distancing จึงมีแนวคิดจัดหาหุ่นยนต์ช่วยเซฟหมอจํานวน 103 ตัว ในโอกาสครบ 103 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลค่า 5,150,000 บาท

 

ในเบื้องต้นได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาทเป็นทุนประเดิมเร่งผลิตหุ่นยนต์ PINTO 20 ชุดแรกออกมาให้พร้อมใช้งานจริง และส่งมอบหุ่นยนต์ชุดแรกให้กับหลายโรงพยาบาลแล้ว อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2 ชุด โรงพยาบาลศิริราช 2 ชุด และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 4 ชุด เป็นต้น 

 

ขณะเดียวกันยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศประสานเข้ามาขอรับการสนับสนุนอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรงพยาบาล ดังนั้น สนจ. จึงได้จัดทําแคมเปญเร่งด่วน ‘หุ่นยนต์เซฟหมอ หมอเซฟเรา เราเซฟหมอ’ เพื่อขอรับบริจาคจากภาคีเครือข่ายและผู้มีจิตศรัทธา จนได้เงินมาจัดซื้อหุ่นยนต์ PINTO จนครบ 103 ตัว และจะเร่งส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ร้องขอมาได้ในเดือนเมษายนนี้เป็นกองหนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อคนไทยต่อไป เราคาดว่าจะยังมีความต้องการใช้หุ่นยนต์สนับสนุน การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อจากโรงพยาบาลอีกมาก 

 

จึงอยากชวนนิสิตเก่าและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคสมทบทุนกันเข้ามาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในยามนี้ด้วยกันกับเรา 

 

โดยบริจาคผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ ชื่อบัญชี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-เงินรองจ่าย เลขที่บัญชี 038-202810-6 และโอนสลิปหรือแจ้งทาง สนจ. เพื่อขอรับใบเสร็จรับเงินให้ท่านต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X