×

จุฬาฯ เสนอโมเดล 5R ให้ผู้ประกอบการธุรกิจปรับตัวช่วงโควิด-19 ระบาด

16.03.2020
  • LOADING...

ท่ามกลางภาวะวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมากทั้งในประเทศและทั่วโลก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอแผนในการจัดการธุรกิจในช่วงสภาวะฉุกเฉิน หรือ CBS Reform Business Model (Chulalongkorn Business School Reform Business Model) เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

 

โดยแผนการจัดการธุรกิจที่ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่

  1. Retool – ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและวิธีการทำงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันให้เป็นเครื่องมือและวิธีการอื่นๆ ซึ่งหลายๆ หน่วยงานก็ได้เริ่มทำกันบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น บริการส่งอาหาร (Food Delivery) หรือการเรียนการสอนออนไลน์  

 

  1. Retarget – พิจารณาเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากชาวต่างชาติมาเป็นคนไทยหรือคนในพื้นที่ เช่น เปลี่ยนบางส่วนของโรงแรมมาเป็น ‘เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์’ หอพักนักศึกษา หรือให้บริการเช่าชั่วคราวแบบรายชั่วโมง 

 

  1. Re-business – หารายได้ชดเชยจากการลดลงของผู้โดยสาร เช่น การบริการส่งอาหารจากสายการบินสู่มือผู้บริโภค และหันมาเน้นการขนส่งสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นการหารายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว 

 

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนการจัดการในส่วนร้านอาหารเพื่อสร้างรายได้ โดยเปิดบริการอาหารส่งถึงลูกค้า แทนที่จะรอให้ลูกค้ามาใช้บริการที่โรงแรม สร้างสรรค์เมนูบริการคนที่ต้องกักตัวเองในบ้านเป็นเวลา 14 วัน หรือการให้บริการซักอบรีดที่มีคุณภาพมาตรฐานให้กับลูกค้าท้องถิ่น

 

  1. Reprocess – ปรับเปลี่ยนขั้นตอนและกระบวนการในการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งหลายธุรกิจประสบปัญหาเนื่องจากลูกค้าไม่มาหรือไม่กล้ามา ดังนั้นแทนที่จะนั่งรอลูกค้าก็เปลี่ยนเป็น ‘การรับลูกค้าถึงที่’ และทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงความปลอดภัยทุกขั้นตอนของการบริการ เช่น ธุรกิจสปา นวดแผนไทย เสริมความงาม ฯลฯ ซึ่งการทำแผนเชิงรุกจะต้องมาพร้อมกับกระบวนการที่สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้านสุขอนามัย ปลอดภัยจากโควิด-19 เป็นการเปลี่ยนกระบวนการแบบ Reactive หรือรอรับลูกค้า มาเป็น Proactive คือเป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้าแทน

 

  1. Reunite – แสดงออกถึงความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ความสมัครสมานสามัคคี เพื่อช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน โดยองค์กรธุรกิจจะต้องไม่มุ่งแต่กำไร เช่น สายการบินยอมให้คืนตั๋ว โรงแรมยอมให้เลื่อนการเข้าพัก ลูกค้ายอมจ่ายบางส่วน คนที่ไปต่างประเทศยอมกักตัวเอง รัฐบาลยอมไม่จัดอีเวนต์หรือสัมมนา เพื่อลดการชุมนุมแพร่ระบาดของโรค

 

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่เป็นอย่างมาก หลายธุรกิจอาจถึงขั้นปิดกิจการ หลังจากรัฐบาลมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง การห้ามชุมนุม หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ 

 

“เมื่อไม่สามารถทราบได้ว่าปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะจบเมื่อไร องค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีแผนการบริหารธุรกิจภายใต้สถานการณ์ไม่แน่นอน (Strategic Management Under Uncertainty) โดยจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์จัดการทั้งองคาพยพ 

 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน ต้องตระหนักถึงการทำแผนสำรองในการจัดการธุรกิจและการดำเนินชีวิต ที่สำคัญที่สุดคือการที่ต้องมาคิดใหม่ ทำใหม่ Rethink และ Reform เพื่อพลิกวิกฤตและกลับมาเป็นผู้นำ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X