×

เปลี่ยนห้องสมุดเก่า 30 ปี ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สุดล้ำใจกลางคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

25.09.2019
  • LOADING...
ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ที่นี่เป็นห้องสมุดในมหาวิทยาลัยที่ใส่ใจเรื่องการโฟกัสกรุ๊ป เพื่อรับฟังความต้องการของทั้งคนใช้และคนที่ไม่ใช้ห้องสมุด ก่อนที่จะออกแบบ
  • ไม่มีอีกแล้วกับห้องสมุดที่มาเพื่ออ่านหนังสือเงียบๆ เพราะห้องสมุดใหม่เอี่ยมของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีครบทั้งเสียงดนตรี เสียงพูดที่ดังในระดับปกติ ทั้งยังมีมุมงีบ สลับกับมุมเงียบ ที่สำคัญสามารถเปลี่ยนเป็นโรงฉายภาพยนตร์ขนาดย่อมที่จะทำให้ใครๆ ก็อยากเดินเข้าห้องสมุด
  • ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการอ่านหนังสือที่ชั้น 3​ และ 4​ ได้ฟรี​ในวันเสาร์​ โดยต้องลงทะเบียนก่อนเข้า​ และไม่สามารถยืมหนังสือได้

คุณเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไร

คำถามนี้ว่าตอบยากแล้ว แต่สำหรับทีมสถาปนิกจาก Department of Architecture ผู้รับหน้าที่ออกแบบห้องสมุด และเคยผ่านมือการออกแบบห้องสมุดของ TCDC มาแล้ว ต้องเจอคำถามที่ยากกว่านั้น เพราะโจทย์แรกที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังจากรู้ว่าจะได้ทำงานรีโนเวตห้องสมุดเก่าของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการกลับไปที่คำถามง่ายๆ แต่หนักอึ้งว่า… 

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

 

“คนสมัยนี้ยังเข้าห้องสมุดอยู่ไหม และในโลกที่เราสามารถหาข้อมูลได้ง่ายมากจากอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดยังคงมีความจำเป็นอยู่หรือเปล่า” 

 

คำถามเหล่านั้นนำไปสู่การทำโฟกัสกรุ๊ปทั้งอาจารย์ นิสิตปัจจุบัน ศิษย์เก่า รวมทั้งคนที่ไม่คิดจะเข้าห้องสมุด และคำตอบก็ชัดเจนอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้ว่า ห้องสมุดสมัยใหม่ต้องไม่ใช่ที่ที่เข้าไปเพื่อนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ อีกต่อไป

 

“เราพบความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้ในโลกอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลอยู่มาก แต่ก็ไม่เหมือนกับคอนเทนต์ที่อยู่ในหนังสือ โดยเฉพาะความลึก ความน่าเชื่อถือ แต่หลังๆ มาเราเองก็เริ่มลืมว่ามันมีหนังสืออยู่ด้วยนะ โจทย์ในการออกแบบครั้งนี้จึงเป็นการออกแบบที่อยากให้นิสิตหันกลับมาดูหนังสือ กลับมาเข้าห้องสมุดอีกครั้งจาก ทีมเราเลยตั้งใจที่จะออกแบบฟังก์ชันการใช้งานห้องสมุดใหม่หมด กลายเป็นห้องสมุดที่ไม่ใช่จะเข้ามาอ่านหนังสืออย่างเดียวอีกต่อไป ห้องสมุดต้องเป็นพื้นที่ที่เข้ามาแล้วได้แรงบันดาลใจ ได้ความคิดสร้างสรรค์ ได้สิ่งใหม่ๆ กลับออกไป” 

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกประจำ Department of Architecture และศิษย์เก่าสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกประจำ Department of Architecture และศิษย์เก่าสถาปัตย์ จุฬาฯ เล่าถึงโจทย์ท้าทายที่ต้องทำให้ห้องสมุดคณะกลับมาทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ค่อยมีนิสิตเข้ามาใช้บริการถึงขั้นที่ทำให้ชั้น 4 ของห้องสมุดต้องเปลี่ยนเป็นห้องเก็บของ

 

“นิสิตทุกคนตอบตรงกันว่า ห้องสมุดต้องมีปลั๊กไฟ เราโชคดีที่ได้มีโอกาสคุยกับผู้อำนวยการหอกลาง (หอสมุดกลาง) ของจุฬาฯ ท่านก็บอกเลยว่า พฤติกรรมคนเข้าห้องสมุดเปลี่ยนไป อย่างหอกลางเองช่วงสอบก็เปิดเลย 24 ชั่วโมง มีเก้าอี้แบบชายหาดให้นอนอ่าน ตอนเช้ามีเจ้าหน้าที่เดินปลุกเลย ชั้นล่างหอกลางกินน้ำ กินขนม คุยได้เลย บางวันมีขนมมาแจก จะอ่านหนังสือขึ้นชั้นบน ห้องสมุดมันได้กลายเป็นพื้นที่ที่คนมาคิดมาสร้างสรรค์งานกันจริงๆ”

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ และ ชัยภัฏ มีระเสน

 

ชัยภัฏ มีระเสน ศิษย์เก่าสถาปัตย์ หนึ่งในทีม Department of Architecture ขยายต่อถึงไอเดียหลักในการรีโนเวตห้องสมุดที่ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 90 ล้านบาท จากการบริจาคของศิษย์เก่าอย่าง เสริมสิน สมะลาภา และเมื่อชัดเจนในไอเดียห้องสมุดแห่งนี้ จึงเริ่มต้นด้วยการเปิดพื้นที่ชั้น 2 ที่อยู่กลางคณะให้เป็น Co-Working Space ที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้บริการได้ และด้วยความที่ชั้นนี้ตั้งอยู่เหนือโรงอาหารคณะ มีประตูเข้าได้หลายทาง ผู้ออกแบบจึงได้เพิ่มฟังก์ชันของ Exhibition เชิญชวนให้นิสิตเปลี่ยนโครงสร้างที่เป็นเหล็กให้เป็นที่โชว์ผลงาน

 

“โครงเหล็กที่ขัดกันไปมาในชั้นนี้ไม่ได้สร้างขึ้นสวยๆ อย่างเดียว แต่เราสร้างจากฟังก์ชันที่เราคิดไว้แล้วว่า จะใช้ที่นี่เป็นที่โชว์งาน เนื่องจากชั้น 2 เป็นชั้นที่ทุกคนมักเดินผ่าน เราจึงอยากท้าให้ทุกคนทำอะไรกับโครงเหล็กเหล่านี้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า โครงเหล็กพวกนี้มีช่องสำหรับสอดกระดานไม้อัดบางๆ เข้าไปได้ มุมโน้นมีบอร์ดแม่เหล็กใหญ่ จอดิจิทัลสำหรับพรีเซนต์งาน คุยงาน ที่นี่เป็นโรงเรียนออกแบบ เราเชื่อว่า การพูดคุยกัน การถกเถียงจะทำให้เกิดงาน ไม่ต้องเขินที่จะคุย เพราะในชั้นนี้เราได้ใส่เพลงเป็นแบ็กกราวด์ และด้วยความที่ชั้นนี้ยังไม่มีหนังสือ จึงสามารถเปิดได้ดึกถึง 4 ทุ่ม โดยไม่ต้องรบกวนบรรณารักษ์”

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

อนงค์ คุปตระกูล ผู้เป็นบรรณารักษ์ของที่นี่มา 36 ปี

 

ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า ทวิตีย์จึงสามารถใส่รายละเอียดการใช้งานของห้องสมุดในแบบที่เด็กสถาปัตย์ต้องการได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะในหมวดการค้นหาหนังสือ ซึ่งถูกจัดเรียงไว้ในชั้น 3 และชั้น 4 ซึ่งก็ไม่ธรรมดาด้วยการเพิ่มชั้นหนังสือเข้ามา เป็นชั้นหนังสือที่ให้อารมณ์เหมือนกำลังเดินอยู่ในร้านหนังสือมากกว่าห้องสมุด 

 

“หลายครั้งที่เราเดินเข้าร้านหนังสือแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ต้องหยิบ ต้องซื้อ เพราะหนังสือเล่มนี้สวย ชื่อเรื่องน่าสนใจ เราก็เลยอยากให้หนังสือในห้องสมุดเป็นอย่างนั้นบ้าง เราตัดสินใจคลี่หนังสือที่ถูกอัดไว้ให้เห็นเพียงสันปกให้หันหน้าปกออกมาโชว์ โจทย์เรื่องนี้เป็นโจทย์หนักของเราเช่นกัน เพราะนี่คือการเพิ่มหน้าที่ให้บรรณารักษ์ในการคัดหนังสือที่น่าสนใจออกมาโชว์ หรือบางครั้งมีประเด็นที่น่าสนใจในแวดวงสถาปนิก พี่อนงค์ (อนงค์ คุปตระกูล) ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ของที่นี่มา 36 ปี ก็ต้องทำหน้าที่คิวเรตหาหนังสือที่เกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ มาใส่ในทุกหมวด คล้ายกับเป็นนิทรรศการย่อมๆ ก็ว่าได้”

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

 

ชัยภัฏพาเดินชมห้องสมุดที่มีบรรยากาศเหมือนร้านหนังสือเท่ๆ มากกว่าห้องสมุด แค่เพียงสีดำ โครงเหล็ก ปูน ก็ทำให้ที่นี่ต่างจากห้องสมุดทั่วไปแล้ว ส่วนมุมที่เท่ที่สุดต้องยกให้กับห้องเงียบที่จัดวางบล็อกอ่านหนังสือส่วนตัวเป็นเขาวงกตที่ค่อยๆ ไล่ระดับความสูงตามความไพรเวตที่แต่ละคนต้องการ อันที่จริงห้องนี้เกือบจะเงียบจนเคร่งเครียดแล้ว ถ้าไม่ได้กระจกบนเพดานที่สะท้อนภาพเขาวงกตด้านล่างขึ้นไปทั้งหมดจนดูโล่งและโปร่งขึ้น

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

 

นอกจากชั้น 2 ที่คุยเสียงดังได้สุดแล้ว บนชั้น 4 ที่มีลักษณะเป็นชั้นลอยใต้หลังคาก็ถือได้ว่าเป็นอีกมุมที่นิสิตนิยมมาชุมนุมกัน ชั้นนี้มีที่นั่งที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งนั่งกับพื้นโต๊ะญี่ปุ่น บีนแบ็กสำหรับงีบหลับเอาพลังระหว่างเรียน และโต๊ะเก้าอี้ตัวเตี้ยที่สามารถถอดเปลี่ยนกลายเป็นที่นั่งดูหนังได้สบายมาก และด้วยความที่มีโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่พร้อมก็แว่วว่า กิจกรรม Movie Night ประจำคืนวันศุกร์ที่หายไปกำลังจะถูกรื้อให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

 

เป็นห้องสมุดคณะสถาปัตย์ที่ออกแบบโดยศิษย์เก่าสถาปัตย์ทั้งที ย่อมต้องเก็บรายละเอียดที่ไม่ธรรมดาใส่ลงไป เช่นรายละเอียดของเพดานด้านบนสุดที่นำวิจัยเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาแปรเปลี่ยนเป็นแผนที่กรุงเทพฯ ที่มี 9 โครงการสำคัญ ใน 3 มิติ คือ จราจร แก้ปัญหาน้ำท่วม และการแก้ปัญหาเสีย มาซ่อนไว้ในแผนที่

 

ห้องสมุด คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

 

อีกความน่ารักของห้องสมุดแห่งนี้คือ การทำงานร่วมกันระหว่างนิสิต อาจารย์ และบรรณารักษ์ ทั้งสามไม่ได้เป็นเพียงผู้เข้ามาใช้ห้องสมุด แต่ด้วยฟังก์ชันหลายๆ อย่าง ทำให้ทั้ง 3 ส่วน ต้องมาร่วมคุยกันออกแบบห้องสมุด เริ่มจากเรื่องเล็กๆ อย่างการเลือกเพลงที่จะเปิดคลอเป็นแบ็กกราวด์ หนังที่จะเลือกมาฉายหรือประเด็นที่น่าสนใจที่จะยกมาเป็นไฮไลต์หนังสือเด่นประจำสัปดาห์ ซึ่งถ้าทุกที่ ทุกคณะปรับฟังก์ชันการใช้งานของห้องสมุดเสียใหม่เช่นนี้ เราเชื่อเหลือเกินว่า คำถามจำพวกที่ว่า “เราอ่านหนังสือวันละกี่บรรทัด” หรือ “คุณเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไร” คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

ภาพ: ธนพร หวังเสต

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ
  • ชั้น 2 เปิดเป็น Co-Working Space ที่ไม่ต้องมีบัตรนิสิตก็เข้ามาใช้บริการได้ ส่วนชั้น 3-4 นั้น นิสิตทุกคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถใช้บริการได้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising