เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn University Technology Center (UTC) ศูนย์บ่มเพาะและเร่งสปีดนวัตกรรมจากเทคโนโลยี Deep Tech เพื่อผลักดันงานวิจัยให้เป็นธุรกิจนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เผยความสำเร็จการจัดงาน UTC Deep Tech Demo Day ประจำปี 2564 ชูผลงานนวัตกรรมเด่นด้าน AI และ MedTech จาก 15 ทีมสุดเจ๋งที่มีศักยภาพ เพื่อก้าวสู่การเป็น Deep Tech Startup ของประเทศไทยในอนาคต
พร้อมจัดบูธออนไลน์แสดงผลงานที่โดดเด่นด้าน AI และ MedTech อีกกว่า 30 ผลงาน และกิจกรรม Business Matching กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรชั้นนำระดับนานาชาติมาร่วมให้มุมมอง แนวคิด แบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์ด้าน Deep Tech แก่ผู้ที่ร่วมงานแบบเจาะลึก
ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่าหลายประเทศเผชิญกับการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน และถูกนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม เพื่อเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถนำมาอำนวยความสะดวก แก้ไขข้อบกพร่อง เพิ่มประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนองค์กรต่างๆ ในยุคใหม่ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเดินหน้าต่อไปได้แบบติดสปีดอย่างยั่งยืน
UTC Deep Tech Demo Day เป็นการรวมสุดยอดนวัตกรรมที่เป็นผลงานวิจัยจากเทคโนโลยีเชิงลึกจากนวัตกรไทยมาไว้ในที่เดียว ตอบโจทย์การเป็น Gateway ที่เชื่อมนักพัฒนาและนักลงทุนมาไว้ด้วยกัน ก่อเกิดเป็นเครือข่ายที่ทรงพลัง และสามารถต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และออกสู่ตลาดได้จริง เสริมสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ และเพิ่มมูลค่าให้องค์กรได้ในทุกมิติ พร้อมขับเคลื่อนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมไทยให้อย่างยั่งยืน
ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับงาน UTC Deep Tech Demo Day ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีผู้เข้าร่วมงานผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมากจากหลากหลายวงการ ทั้งนักวิจัย นักวิชาการ หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชนชั้นนำ นักลงทุน ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ บริษัทสตาร์ทอัพ สมาคมการค้า สถานศึกษา และนักเรียนนักศึกษา โดยมุ่งหวังที่จะเป็นเพชรเม็ดงามที่น่าสนใจ และมีศักยภาพในการนำมาต่อยอดสู่การเป็นธุรกิจ Deep Tech Startup ในอนาคต
เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ, ทรู คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), เครือเบทาโกร, LINE MAN, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภายในงานนอกจากจะได้รับฟังการนำเสนอผลงานนวัตกรรมจาก 15 ทีมที่โดดเด่นแล้ว ยังมีนิทรรศการออนไลน์แสดงนวัตกรรมด้าน AI และ MedTech อีกกว่า 30 ผลงาน รวมไปถึงการเสวนาจากกูรูเทคระดับอินเตอร์ ได้แก่ ดร.นัยวุฒิ วงษ์โคเมท ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์การนำงานวิจัยไปต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจหลายพันล้านบาทอย่างปัจจุบัน
ดร.เอธิกาน กานดาซามี คารุเพีย ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี จากเอ็นวิเดีย ดร.โจฮาน บาร์ธเธลมี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย และ วิลเลียม ลี รองผู้อำนวยการ ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่ได้มาเล่าประสบการณ์การทำ Research to Commercial รวมถึงการทำ Spin-off Startup จากงานวิจัยเช่นเดียวกัน
“จากความสนใจและการตอบรับร่วมงานขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับผลการวิจัยในหัวข้อ Thailand Digital Technology Foresight 2035 ที่ทำร่วมกันระหว่าง Frost & Sullivan และ depa ที่คาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาด AI ในประเทศไทยจะแตะแสนกว่าล้านบาทภายใน 8 ปีข้างหน้า และมีโอกาสสูงถึงเกือบ 2 แสนล้านบาทภายในปี 2035 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม สุขภาพ เมืองอัจฉริยะ และความมั่นคงของประเทศ
รวมไปถึง Krungsri Research 2020 ที่เผยว่า ตลาด MedTech ของประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท และคาดจะโตเฉลี่ยราว 6.5% โดยมีปัจจัยหลักมาจากความต้องการด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง จึงเป็นเสียงสะท้อนที่ชัดเจนถึงเทรนด์ และแนวโน้มการเติบโตของ AI และ MedTech ในประเทศไทยว่า มีดีมานด์ในตลาดมาก และสามารถขยายตัวไปได้อีกไกล
เราจะเป็นหน่วยงานที่ผลักดันนวัตกรรมไทยจากเทคโนโลยีเชิงลึกอย่างจริงจัง ขับเคลื่อน Deep Tech Startup ให้เกิดขึ้นจริง และสามารถผลักดันผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ตอบรับและตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ระดับประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ 15 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานกับนักลงทุนและองค์กรชั้นนำ ประกอบด้วย
- myCourseVille แพลตฟอร์มบริหารการเรียนการศึกษาแบบออนไลน์สำหรับทุกช่วงวัย
- Eikonnex AI ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการอ่านภาษาไทยด้วยภาพ (OCR)
- ICDguide ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อจำแนกรหัส ICD จากเวชระเบียน
- Gowajee แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อการประมวลผลการพูด ฟัง และทำความเข้าใจภาษาไทย
- DeepGI ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการระบุติ่งเนื้อในการตรวจลำไส้ใหญ่จากกล้องส่องภายใน
- Chest X-Ray Interpreter ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการอ่านผลภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกอัจฉริยะ
- KRx ชุดทดสอบกลิ่น
- Pass อุปกรณ์เสริมเพื่อการอัลตราซาวด์หาตำแหน่งในการเจาะน้ำไขสันหลัง
- Digital Cognitive Diagnosis Platform ระบบวินิจฉัยคัดกรองผู้ป่วยบกพร่องทางความคิดด้วยปัญญาประดิษฐ์
- Stroke Subtype Classification System ระบบจำแนกประเภทของโรคหลอดเลือดสมองด้วยปัญญาประดิษฐ์
- UV Irradiance Prediction ระบบและทำนายปริมาณรังสียูวีแบบอัตโนมัติสำหรับการรักษาทางไกล
- Cancer Neoantigen Discovery ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการค้นหานีโอแอนติเจนเพื่อการรักษามะเร็ง
- I-FARM PIG ระบบติดตามและจัดการฟาร์มปศุสัตว์สุกรด้วยปัญญาประดิษฐ์ และ IoT และระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจจับความผิดปกติของท่อส่งใต้ท้องทะเลแบบอัตโนมัติ