×

จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ แจงกรณีปลด ‘เนติวิทย์’ ย้ำให้เสรีภาพ แต่ต้องไม่กระทบความศักดิ์สิทธิ์

07.09.2017
  • LOADING...

       ตกเป็นข่าวบนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตัดสินลงโทษทางวินัยด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ 25 คะแนนต่อกลุ่มนิสิต นำโดย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ และเพื่อนนิสิตอีก 4 คน

       ซึ่งตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529 ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตฯ ต้องไม่เป็นนิสิตที่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป กรณีนี้จึงส่งผลให้ นายเนติวิทย์ และเพื่อนนิสิตอีก 4 คน ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯ ไปโดยปริยาย

       ขณะที่การตั้งกรรมการสอบสวนนิสิตกลุ่มดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า นายเนติวิทย์และเพื่อนมีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560

       ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนผ่านทางเว็บไซต์ กรณีการลงโทษทางวินัยนิสิตตามข้อเท็จจริงข้างต้น โดยมีเนื้อหาโดยสรุป 3 ข้อคือ

       ประการแรก ในกรณีการลงโทษทางวินัยอื่นๆที่ผ่านมา จุฬาฯ มิได้เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษต่างๆ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลต่ออนาคตของนิสิตที่ถูกลงโทษ แต่ปรากฏว่าในกรณีนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและบิดเบือนในสื่อต่างๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องแถลงให้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยละเว้นการเปิดเผยรายชื่อของนิสิตที่เกี่ยวข้อง

       ประการที่สอง จุฬาฯ ขอรับรองว่าการพิจารณาทางวินัยของกลุ่มนิสิตดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอน และกฎระเบียบตามปกติของมหาวิทยาลัย ซึ่งระเบียบทางวินัยเช่นนี้มีในทุกมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการพิจารณาที่เป็นอิสระ และดำเนินการในรูปแบบเดียวกันกับกรณีสอบสวนทางวินัยเรื่องอื่นๆ หากนิสิตไม่พอใจกับผลการตัดสินก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ในลำดับต่อไปได้

       ประการที่สาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับความเป็นอนุรักษนิยมของมหาวิทยาลัย พร้อมคำวิจารณ์ว่า จุฬาฯ ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับความคิดที่แตกต่าง ทางจุฬาฯ ขอย้ำว่ามหาวิทยาลัยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่นิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจ และมีสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วมโดยไม่มีผลเสียใดๆ ต่อตัวนิสิต แนวปฏิบัตินี้ใช้กับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 สำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคน เพื่อแสดงความเคารพและปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้วย

       นอกจากนี้ ‘การถวายบังคม’ ยังเป็นรูปแบบการแสดงความเคารพที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับพิธีถวายสัตย์ฯ ต่อพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล โดยในปีนี้ทางผู้จัดได้มีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงความเคารพด้วยวิธีอื่น เช่น การถวายคำนับ สำหรับนิสิตที่มีข้อจำกัดด้านสภาพร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการคุกเข่าและถวายบังคม และสำหรับนิสิตที่มีความเชื่อทางศาสนา ทัศนคติทางการเมือง และอุดมการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับวิถีปฏิบัตินี้ ทั้งนี้นิสิตที่เข้าร่วมพิธีในวันนั้นได้รับทราบถึงพื้นที่ที่ว่านี้อย่างทั่วถึง

       กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัยต่างก็ตระหนักดีว่ามีพื้นที่เฉพาะที่จัดไว้แล้ว ดังเห็นได้จากการที่นิสิตกลุ่มนี้ได้นำเสนอข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียในเชิงสนับสนุนให้มีพื้นที่เพื่อการถวายคำนับแทน อย่างไรก็ดี นิสิตกลุ่มนี้เลือกที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีการโดยการเดินออกไปจากแถวที่จัดไว้สำหรับพวกเขาในฐานะสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ และแสดง ‘พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์’ โดยการยืนโค้งคำนับ ในขณะที่นิสิตคนอื่นๆ นับพันคนถวายบังคมอย่างพร้อมเพรียงเป็นระเบียบ

       กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น โดยเฉพาะเมื่อการแสดงออกนั้นกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล พิธีถวายสัตย์ฯ แม้จะกำเนิดขึ้นมากว่า 20 ปี หลังการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลในปี 2530 แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ของจุฬาฯ ซึ่งเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างนิสิต เจ้าหน้าที่ และนิสิตเก่า

       ในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงสำหรับอาจารย์ที่ได้ทำการยับยั้งนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคม 2560 ดังปรากฏเป็นข่าวไปกว้างขวาง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและไม่น่าจะเกิดขึ้น บัดนี้อาจารย์ท่านนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2560 ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

       สุดท้ายนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่จุฬาฯ ใคร่ขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อสถานการณ์ของจุฬาฯ การจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้เป็นกิจการภายในที่ไม่ควรถูกเชื่อมโยงกับการแบ่งขั้วทางการเมือง และการควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นวาทกรรมและกรอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ

       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย จุฬาฯ ขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย

 

       วันเดียวกัน นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการดำเนินการของฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขอเป็นกำลังใจให้ฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนนี้ เพื่อร่วมกันรักษาชื่อเสียง ขนบธรรมเนียมประเพณี และระเบียบวินัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมต่อไป

       ขณะที่นายเนติวิทย์ถูกสอบสวนเพิ่มเติมอีกข้อหาคือ ‘ใช้สถานที่ราชการในการจัดประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการที่ตนทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์’

       ด้านสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ โดยแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่ง และเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน

       ขั้นตอนต่อจากนี้ หากนายเนติวิทย์และเพื่อนเห็นว่าการลงโทษทางวินัยดังกล่าวไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลแจ้งการสอบสวน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X