×

ไขปมจุฬาฯ ตั้ง ‘บวรศักดิ์’ นั่งประธานสอบ ‘ณัฐพล-กุลลดา’ ปมปัญหาวิทยานิพนธ์

08.09.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • ปัจจุบันสถานะของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริง ถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระงับการเผยแพร่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 หลังมีการร้องเรียนจาก ไชยันต์ ไชยพร ในปี 2561 แต่กระบวนการดำเนินการของมหาวิทยาลัยยังไม่สิ้นสุดลงที่การระงับเผยแพร่นับแต่วันนั้น  
  • ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เป็นเลขานุการ ในปี 2564

ปัจจุบันสถานะของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริง ถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระงับการเผยแพร่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 หลังมีการร้องเรียนจาก ไชยันต์ ไชยพร ในปี 2561 แต่กระบวนการดำเนินการของมหาวิทยาลัยยังไม่สิ้นสุดลงที่การระงับเผยแพร่นับแต่วันนั้น  

 

ไชยันต์ ไชยพร ทำหนังสือถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ตามมาด้วยในปี 2564 นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์

 

จากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เป็นเลขานุการ ในปี 2564 

 

แม้ว่าก่อนหน้านั้นมหาวิทยาลัยเคยมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวน หลังมีการร้องเรียนจาก ไชยันต์ ไชยพร ในปี 2561 โดยมี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธาน พิจารณาพบว่ามีข้อผิดพลาด 1 จุด จาก 31 จุดที่ไชยันต์ร้องเรียน โดย ไชยวัฒน์ ค้ำชู ได้สรุปผลว่า

 

“ข้าพเจ้าใคร่จะชี้ให้เห็นว่า เมื่อกรรมการฯ ได้เรียกณัฐพลมารับทราบข้อร้องเรียนของ ศ.ดร.ไชยยันต์ ณัฐพลได้รีบทำการตรวจสอบและยอมรับความผิดพลาดในหน้า 105 โดยไม่ได้โต้แย้งและพยายามหาทางแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจมากกว่าจะเป็นความตั้งใจบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 

“อนึ่ง ประเด็นว่าด้วยการพยายามแข่งขันและช่วงชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร และการพยายามฟื้นฟูอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มิใช่ข้อถกเถียงหลักของวิทยานิพนธ์ของณัฐพล และมิใช่ประเด็นใหม่ในวงการวิชาการไทยศึกษาแต่ประการใด”  

 

(ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ)

 

กรรมการสอบสวนชุด ‘บวรศักดิ์’ และข้อทักท้วงจาก ‘เขมรัฐ’ หนึ่งในกรรมการสภามหาวิทยาลัย

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในปี 2564 ประกอบด้วยกรรมการ 5 ท่านคือ  

 

1. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ

 

2. สุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการ

 

3. นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ

 

4. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ

 

5. ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม เป็นเลขานุการ

 

ทั้งนี้ กรรมการ 5 ท่านได้ส่งข้อมูลอันประกอบด้วย วิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง และข้อร้องเรียน 31 ข้อของ ไชยันต์ ไชยพร ให้กับ ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน’ ซึ่งเป็นคนนอก ไม่ใช่กรรมการ 4 ใน 5 ท่านของกรรมการชุดที่บวรศักดิ์เป็นประธาน 

 

‘ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน’ เป็นผู้อ่านวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง และอ่านข้อร้องเรียน 31 ข้อของ ไชยันต์ ไชยพร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นแก่คณะกรรมการชุดที่บวรศักดิ์เป็นประธาน 

 

ต่อมา เลขานุการของคณะกรรมการชุดที่บวรศักดิ์เป็นประธานคือ ปาริชาต สถาปิตานนท์ ได้นำเสนอรายงานการสอบข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ขณะที่ เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ขอให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบ หลังจากได้ไปดูเอกสารสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยตัวเองที่ศูนย์กฎหมาย จุฬาฯ ตึกจามจุรี 5 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565

 

โดยเขมรัฐระบุเนื้อหาในจดหมาย 4 ข้อ ซึ่งประเด็นสำคัญอย่างยิ่งคือข้อ 3 และ 4 

 

เขมรัฐระบุในข้อ 3 และ 4 ถึงการรายงานของ ปาริชาต สถาปิตานนท์ ที่นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยว่า ไม่ได้เปิดโอกาสให้ณัฐพลโต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และมีการนำเอาข้อมูลปลอม (Fake News/Misinformation) มานำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัย กล่าวหาณัฐพล ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ 

 

ข้อ 3 ในกรณีการอ้างอิงหนังสือพิมพ์ ‘เอกราช’ ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ที่มีการกล่าวหาว่าณัฐพลอ้างเอกสารอ้างอิงเท็จในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงที่ส่งให้สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ผมได้ทราบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ว่า ‘คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ต่อณัฐพล และไม่มีการเรียกหลักฐานเอกสารหนังสือพิมพ์เอกราชดังกล่าวจากณัฐพล’ การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการ ละเมิด (Violate) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอธิบาย โต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และทราบว่ากรรมการทุกท่านทราบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดำเนินการต่อ (ดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่มีมติให้ดำเนินการหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช) โดยข้อนี้ ผมถือว่าร้ายแรงมาก เป็นการละเมิดกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (Violate Due Process) ของณัฐพลอย่างชัดเจน ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจจะมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด หากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล

 

ข้อ 4 และเป็นที่แน่นอนว่าหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 มีอยู่จริงนั้น หมายความว่าการนำเสนอของเลขานุการสอบข้อเท็จจริงในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ผ่านมา มีการนำเอาข้อมูลปลอม (Fake News/Misinformation) มานำเสนอในการประชุมในการกล่าวหานายณัฐพลอย่างผิดๆ ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ การนำ Fake News/Misinformation ประกอบการนำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นและไม่ควรบันทึกในรายงานการประชุม หรือถ้าจะบันทึกก็ควรมีหมายเหตุว่าเป็น Fake News/Misinformation เขมรัฐระบุในจดหมายเปิดผนึก 

 

(รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด)

 

จดหมายเปิดผนึกของ ‘เขมรัฐ’ นำมาสู่การยื่นจดหมายด้วยตนเองของ ‘กุลลดา’ ต่อสภามหาวิทยาลัย 

 

25 สิงหาคม กุลลดายื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการสภาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ ข้อเรียกร้องประกอบด้วย

 

1. ให้สภาจุฬาฯ ไม่ยอมรับการรายงานผลของกรรมการสอบสวนซึ่งมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และมี ปาริชาต สถาปิตานนท์ เลขานุการ เป็นผู้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย 

 

2. ให้สภาจุฬาฯ ตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวนและการรายงานผลที่ปาริชาตนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย หากเป็นการรายงานเท็จ ไม่ตรงกับผลการสอบสวนดังที่เขมรัฐได้เปิดเผยแล้ว สภามหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการสอบสวนต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป

 

3. ให้สภาจุฬาฯ ให้เกียรติและยึดมั่นต่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดที่มี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธาน และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปี 2561 เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ตามมาภายหลังล้วนมีสาระสำคัญไม่ต่างไปจากข้อเรียกร้องที่คณะกรรมการชุดแรกได้พิจารณาครบถ้วนแล้ว

 

กุลลดากล่าวกับปมทองในขณะยื่นจดหมายเปิดผนึกว่า ขอให้สภาจุฬาฯ พิจารณาเรื่องนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อคดีที่กุลลดากำลังถูกฟ้องร้องในศาล

 

กุลลดาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เราต้องมาทักท้วงเพราะจะมีผลเสียต่อคดีที่ถูกฟ้องร้องอยู่ 

 

นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอายุ 76 ปี มีโรคประจำตัว และยังอยากทำงานวิชาการต่อถ้าสุขภาพเอื้ออำนวย ส่วนตัวมองการเมืองไทยมานาน และอาจจะมองไม่เหมือนใคร การทำงานวิชาการใช้ข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นในต่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างจากเอกสารในไทย และการได้อ่านเอกสารในต่างประเทศทำให้มองภาพแล้วเห็นอะไรได้ชัดเจนมากขึ้น 

 

(ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนกลับไปเมื่อปีการศึกษา 2552 ณัฐพล ใจจริง เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ โดย กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้น เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ 

 

วิทยานิพนธ์ได้รับการประเมินโดยกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 ท่านลงมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) ของจุฬาฯ มี ไชยวัฒน์ ค้ำชู ในฐานะประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นผู้เขียนเหตุผลที่คณะกรรมการประเมินให้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก สำหรับกรรมการอีก 4 ท่านคือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, วีระ สมบูรณ์ และ กุลลดา ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา

 

– ต่อมาในปี 2561 จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนโดยมี ไชยวัฒน์ ค้ำชู เป็นประธาน หลังได้รับการร้องเรียนจาก ไชยันต์ ไชยพร 

 

– 14 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติให้ระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง

 

– ปี 2563 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตีพิมพ์ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500’ ของ ณัฐพล ใจจริง

 

– ในปี 2564 จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีกครั้ง โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน หลังมีการร้องเรียนอีกครั้งจาก ไชยันต์ ไชยพร ตามมาด้วยการร้องเรียนของ นันทิวัฒน์ สามารถ ศิษย์เก่าจุฬาฯ 

 

– ขณะที่ในปีเดียวกันคือปี 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จาก 6 จำเลย โดยจำเลยที่ 1 คือ ณัฐพล ใจจริง และจำเลยที่ 2 คือ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด 

 

THE STANDARD ได้รับการเปิดเผยจาก วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของกุลลดาว่า คำฟ้องของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ฝ่ายโจทก์ระบุว่า ได้ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 จาก ไชยันต์ ไชยพร ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ไชยันต์และบวรศักดิ์ยังเป็นพยานฝ่ายโจทก์ด้วย

 

(วิญญัติ ชาติมนตรี)

 

ทนายจำเลยตั้งข้อสังเกต ‘บวรศักดิ์’ เป็นพยานฝ่ายโจทก์ จะมีการตั้งธงการสอบสวนไว้หรือไม่

 

ล่าสุด (5 กันยายน) วิญญัติให้สัมภาษณ์ THE STANDARD กรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เมื่อต้นปี 2564

 

ต่อมาเดือนมีนาคม 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาทต่อ 6 จำเลย โดยมีบวรศักดิ์เป็นพยานฝ่ายโจทก์ 

 

วิญญัติตั้งข้อสังเกตโดยกล่าวว่า การที่โจทก์ในคดีดังกล่าวอ้างบวรศักดิ์เป็นพยาน ทั้งๆ ที่ผลการสอบสวนยังเพิ่งเริ่มต้นและยังไม่มีข้อสรุป ทำให้มีข้อกังวลและข้อสงสัยว่าคณะกรรมการที่จุฬาฯ ตั้งขึ้นคนหนึ่งคือ บวรศักดิ์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเป็นพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งการสอบสวนโดยพยานฝ่ายโจทก์ หากจะมีการตั้งธงในลักษณะให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่

 

และระหว่างที่มีชื่อเป็นพยานฝ่ายโจทก์นั้น อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ และความน่าเชื่อมั่นต่อจุฬาฯ ด้วยหรือไม่

 

“ยิ่งถ้าผลการสอบสวนออกมาแล้ว หากเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกสอบสวนอาจจะทำให้ฝ่ายจำเลยไม่ได้รับความยุติธรรม กระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการชุดนี้และจุฬาฯ มากๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบสถานะความเป็นกลางของคณะกรรมการชุดนี้ในทุกๆ ด้านต่อไป” วิญญัติกล่าว  

 

ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางในมุมของจุฬาฯ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 บีบีซีไทย เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดีด้านสื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า อธิการบดีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมี ‘ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง’ เข้าร่วม ให้พิจารณาและนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยโดยเร็ว พร้อมยืนยันว่าจุฬาฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีผู้ส่งเอกสารร้องเรียนเข้ามาหลายทาง จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย ก่อนที่สภามหาวิทยาลัยจะมีมติให้ฝ่ายบริหารไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในที่สุด

 

…เป็น ‘คำสั่งลับ’ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยต้องการให้คณะกรรมการทำหน้าที่ได้อย่างอิสระและปราศจากแรงกดดันใดๆ แต่เมื่อกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว ทางจุฬาฯ พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

 

“กรอบถูกเปิดกว้าง เพื่อให้คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจดำเนินการของทางมหาวิทยาลัยต่อไป เพราะทุกวันนี้แต่ละคนพูดไม่เหมือนกันเลย บางทีก็มีประเด็นที่จับนั่นจับนี่มาผสมโรง จับการเมืองมาผสมโรง ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิชาการบริสุทธิ์ ทุกสิ่งที่ทำเป็นประเด็นที่เราต้องการทำให้เกิดความถูกต้อง บริสุทธิ์ และเป็นธรรมทางวิชาการ” ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ ระบุกับบีบีซีไทย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising