×

หัวที่หายไปของโคลัมบัส กับปรากฏการณ์ลบความทรงจำบนอนุสาวรีย์ เรื่องเหล่านี้สะท้อนอะไร?

15.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เหตุผลที่อนุสาวรีย์ (ประติมากรรม) ของโคลัมบัสที่บอสตันถูกทำลายเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา เพราะอนุสาวรีย์ดังกล่าวแทนที่จะเป็นตัวแทนของการค้นพบทวีปอเมริกา หากแต่มันกลับเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เห็นถึงระบอบอาณานิคมอันเลวร้าย โคลัมบัสได้กลายเป็นตัวแทนของเจ้าอาณานิคมผิวขาวผู้ก่อให้เกิดกระบวนการค้าทาสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก 
  • หากสำรวจกันทั่วโลกจะพบว่า อนุสาวรีย์ของคนผิวขาวเจ้าอาณานิคมนั้นมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดว่าคนในประเทศต่างๆ จะพิจารณาอนุสาวรีย์เหล่านั้นอย่างไรต่อไป ยิ่งอนุสาวรีย์ของโคลัมบัสด้วยแล้ว จะพบว่าทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 56 แห่ง โดยเฉพาะในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกานั้นพบว่ามีมากถึง 26 แห่งด้วยกัน 
  • ในขณะที่มีคนกำลังเรียกร้องให้คนเคารพประวัติศาสตร์ในฐานะข้อเท็จจริงหรือเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว หากเรามองอนุสาวรีย์ในฐานะเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้เรานึกถึงและใส่ใจกับผู้มีอำนาจด้อยกว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมรดกของอาณานิคม หรืออะไรก็ตามในแง่ลบ เพราะเราไม่มีทางลบประวัติศาสตร์ได้ (ในทางทฤษฎี) ผ่านการทำลายอนุสาวรีย์หรือรูปเคารพ (Iconoclasm)

ผู้คนทั่วโลกต่างจดจำ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในฐานะของผู้ค้นพบทวีปอเมริกา หากแต่การรับรู้ดังกล่าวนี้กลับปิดบังความจริงไว้ 2 เรื่องด้วยกัน คือ

 

เรื่องแรก โคลัมบัสนั้นแท้จริงแล้ว ไม่ได้เป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นคนแรก หากแต่กลับเป็นชาวตะวันออกคือ เจิ้งเหอ มหาขันทีนักเดินเรือแห่งราชวงศ์หมิง ดังปรากฏเป็นหลักฐานทั้งบันทึกการเดินทางและแผนที่ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1418 หรือก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 74 ปี อยากให้สังเกตด้วยว่า การชูประเด็นเรื่องเจิ้งเหอค้นพบอเมริกานี้เกิดขึ้นในช่วงที่จีนโปรโมตโอลิมปิกที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นนัยถึงการผงาดขึ้นมาของตะวันออก 

 

เรื่องนี้ยังไม่นับรวมที่ปัจจุบันหลายคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า แท้จริงแล้วพวกชาวอเมริกันพื้นเมือง (หรืออินเดียแดง) ต่างหากที่เป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกามาก่อนหลายหมื่นปีด้วยซ้ำ ดังนั้น การประกาศให้โคลัมบัสเป็นตัวแทนของชาวตะวันตกผิวขาวเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกานั้น จึงเป็นวาทกรรมแบบเจ้าอาณานิคมที่การค้นพบดินแดนจะต้องเกิดขึ้นจากตะวันตกเท่านั้น

 

เรื่องที่สอง ภายใต้การยกย่องให้โคลัมบัสเป็นผู้ค้นพบอเมริกานี้ ยังได้กลบเรื่องราวอันเป็นด้านมืดและแง่ลบของระบอบอาณานิคมอันเลวร้ายเอาไว้ด้วย เพราะบทบาทของโคลัมบัสนั้นแท้จริงก็คือ นักล่าอาณานิคม ซึ่งนับจากปีที่โคลัมบัสได้เข้าไปมีอำนาจในทวีปอเมริกาคือ ค.ศ. 1492 เป็นต้นมานั้น โคลัมบัสได้แสดงบทบาทเป็นผู้ปกครองที่รีดไถส่วยจากชนพื้นเมือง จับชนพื้นเมืองนับร้อยเผ่ามาเป็นทาส (Enslaved) แถมยังปกครองชนพื้นเมืองเยี่ยงทรราช มีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรงและทรมานเกินกว่าเหตุ ซึ่งทำให้ศาลของสเปนต้องทำการสอบสวนปัญหาดังกล่าว 

 

นอกจากนี้แล้ว ทองคำและเงินจำนวนมากของอาณาจักรแอซเท็กและอินคาได้ถูกขนกลับไปยังสเปนอีกด้วย ชนพื้นเมืองจำนวนมหาศาลยังติดโรคระบาดจากชาวสเปน เพราะพวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ทั้งหมดนี้เอง ในท้ายที่สุดทำให้อาณาจักรโบราณแอซเท็กและอินคาถึงกับล่มสลายลง อันเป็นผลมาจากจุดเริ่มต้นของการค้นพบของโคลัมบัส 

 

 

จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ง่ายว่าทำไมอนุสาวรีย์ (ประติมากรรม) ของโคลัมบัสที่บอสตันจึงถูกทำลายเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา เพราะอนุสาวรีย์ดังกล่าวแทนที่จะเป็นตัวแทนของการค้นพบทวีปอเมริกา หากแต่มันกลับเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เห็นถึงระบอบอาณานิคมอันเลวร้าย โคลัมบัสได้กลายเป็นตัวแทนของเจ้าอาณานิคมผิวขาวผู้ก่อให้เกิดกระบวนการค้าทาสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก 

 

แรงกระเพื่อมจากการตายของชายชาวอเมริกันผิวสี จอร์จ ฟลอยด์ ที่กลายเป็นชนวนทำให้อนุสาวรีย์ของโคลัมบัสในอเมริกาถูกทำลายและตั้งคำถามนั้น ได้เกิดขึ้นในอังกฤษเช่นกัน โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่เมืองบริสตอล (Bristol) ปรากฏว่า อนุสาวรีย์ของ เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) พ่อค้าทาสรายใหญ่ที่จับชาวแอฟริกันผิวสีจำนวนมากไปยังอเมริกานั้นก็ได้ถูกรื้อถอนจับถ่วงลงน้ำเช่นกัน

 

 

โคลสตันเป็นพ่อค้าทาสรายใหญ่ที่ทำให้บริสตอลกลายเป็นเมืองท่าของศูนย์กลางการค้าทาส ซึ่งทำให้ในอดีตเมืองแห่งนี้มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนในยุคหนึ่งยกย่องเขาว่าเป็นบุคคลสำคัญของเมือง และมีการสร้างอนุสาวรีย์ของเขาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1895

 

แต่ภายใต้กระแสของการวิพากษ์วิจารณ์ที่เริ่มก่อตัวเมื่อทศวรรษ 1990 เพื่อสลายความทรงจำและมรดกจากสมัยอาณานิคม (Decolonizing) ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ภายใต้กระแสการเคารพสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายของอังกฤษนั้น ชาวเมืองบริสตอลหรือสังคมอังกฤษควรจะยกย่องวีรกรรมของโคลสตันต่อไปหรือไม่ เพราะมันช่างเป็นประวัติศาสตร์อันน่าอดสูและอัปยศเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งอนุสาวรีย์นี้ยังเตือนให้พลเมืองผิวสีในเมืองบริสตอลนึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาแห่งการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาอันเลวร้าย (ก่อนที่การค้าทาสนั้นจะถูกห้ามไปในปี ค.ศ. 1807)

 

เหตุการณ์ประท้วงนี้ได้ลุกลามไปถึงกระทั่งอนุสาวรีย์ของอดีตรัฐมนตรีคนสำคัญของอังกฤษคือ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ผู้มีบทบาทอย่างสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้อังกฤษรอดพ้นจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลก จนได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ ซึ่งเป็นบุคคลที่ถ้าใครเคยไปเที่ยวอังกฤษก็มักจะเห็นชื่อของเขาอยู่เสมอตามที่ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้ถูกเอาสเปรย์พ่นนามสกุลของเขาออก แล้วพ่นคำว่า ‘was a racist’ (หนึ่งในผู้ที่เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ) ด้านใต้เพื่อแทนนามสกุลของเขา ทั้งนี้เพราะมักมีข้อกล่าวหาว่าแนวคิดของเขามักมองพวกผิวขาวมีสถานะที่สูงกว่าคนสีผิวอื่นและยังปฏิเสธการช่วยเหลือด้านอาหารให้กับอินเดียที่กำลังประสบภาวะอดอยากในปี ค.ศ. 1943 ด้วย 

 

ปัญหาในบริสตอลนั้นยังไม่จบ ไม่นานหลังจากอนุสาวรีย์ของโคลสตันถูกทำลาย ปรากฏว่าอนุสาวรีย์ของนักแสดงชาวผิวสีชื่อ อัลเฟรด ฟากอน (Alfred Fagon) ในเมืองบริสตอลก็ได้ถูกทำให้เสียหายบางส่วน ซึ่งในขณะนี้ตำรวจยังไม่ได้รายงานว่าผู้ใดเป็นคนกระทำ แต่เหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการตอบโต้ของตรงข้ามกับปรากฏการณ์เคลื่อนไหวประท้วงของชาวผิวสี หรือบางคนนิยามว่าเป็นปฏิกิริยาของฝ่ายขวา 

 

หากสำรวจกันทั่วโลกจะพบว่า อนุสาวรีย์ของคนผิวขาวเจ้าอาณานิคมนั้นมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดว่าคนในประเทศต่างๆ จะพิจารณาอนุสาวรีย์เหล่านั้นอย่างไรต่อไป ยิ่งอนุสาวรีย์ของโคลัมบัสด้วยแล้ว จะพบว่าทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 56 แห่ง โดยเฉพาะในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกานั้นพบว่ามีมากถึง 26 แห่งด้วยกัน 

 

ดังนั้นเชื่อได้ว่าการตายของฟลอยด์ครั้งนี้และปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อคนผิวสีนั้นคงทำให้เกิดการทบทวนอนุสาวรีย์ของโคลัมบัส และอื่นๆ อีกหลายแห่ง 

 

คำถามสำคัญของเราจึงอยู่ตรงที่ เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลบทำลายอนุสาวรีย์ต่างๆ เหล่านั้น หรือจะปล่อยให้อนุสาวรีย์ต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ชนะ ผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือเป็นตัวแทนของความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ในอดีตนั้นยืนยงเด่นตระหง่านแบบนั้นต่อไป 

 

ชาติมักยกย่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งในฐานะของวีรบุรุษและวีรสตรี เพื่อใช้เป็นแบบอย่างของวีรกรรมที่สร้างความภาคภูมิใจหรือเป็นตัวแทนของความดีให้คนในชาติได้รำลึกถึงและเกิดความทรงจำทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน แต่อยากให้ลองสังเกตว่า อนุสาวรีย์ต่างๆ นั้นล้วนเป็นเรื่องของกระบวนการเลือกสรรผ่านอำนาจรัฐไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง 

 

ดังนั้นฮีโร่ในประวัติศาสตร์ชาติก็อาจเป็นคนร้ายในสายตาของฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่คนร้ายก็อาจเป็นฮีโร่ของตรงข้ามเช่นกัน อนุสาวรีย์จึงไม่ได้สร้างขึ้นจากการยกย่องผ่านความดีของบุคคลคนนั้นเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ปรากฏการณ์ทำลายอนุสาวรีย์ที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั้งในอเมริกาและอังกฤษ กระทั่งในไทยเองที่มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์บางแห่งไปเมื่อไม่นานมานี้ จึงไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการเมืองของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ 

 

ผมไม่แน่ใจว่าการรื้อถอนอนุสาวรีย์ออกไปนั้นจะช่วยให้อะไรดีขึ้นมาน้อยแค่ไหน แน่นอนว่ามันคงช่วยทำให้ความรู้สึกของผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า (Inferior) รู้สึกดีขึ้น เพราะไม่ต้องเห็นอนุสาวรีย์ดังกล่าวในฐานะของหนามยอกอก หรือเป็นตัวแทนของผู้ที่คอยย้ำเตือนถึงประวัติศาสตร์บาดแผลของตนเอง 

 

แต่หากมองกันในระยะยาวแล้ว ในขณะที่มีคนกำลังเรียกร้องให้คนเคารพประวัติศาสตร์ในฐานะข้อเท็จจริงหรือเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว หากเรามองอนุสาวรีย์ในฐานะเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้เรานึกถึงและใส่ใจกับผู้มีอำนาจด้อยกว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมรดกของอาณานิคมหรืออะไรก็ตามในแง่ลบ เพราะเราไม่มีทางลบประวัติศาสตร์ได้ (ในทางทฤษฎี) ผ่านการทำลายอนุสาวรีย์ หรือรูปเคารพ (Iconoclasm) 

 

มันก็อาจจะเป็นเรื่องดีที่โลกใบนี้ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะอนุสาวรีย์ของ The Great Man (มหาบุรุษ) เพียงอย่างเดียว หากแต่มีอนุสาวรีย์ของผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่าควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้เห็นปัญหาของผู้มีอำนาจ 

 

อย่างไรก็ตาม ไอเดียแบบนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษาที่จะใส่สอนและใส่เนื้อหาลงไปว่า มหาบุรุษ (มหาสตรี) นั้นไม่ได้มีแต่ด้านที่ดีงามเท่านั้น หากแต่ยังมีด้านที่เลวร้ายเป็นมิติที่คู่ขนานกันไป สักวันอนุสาวรีย์ก็อาจจะพ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็เป็นไปได้ – แต่นี่ก็อาจเป็นแค่เพียงความฝันเท่านั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising