ทุกครั้งที่เราโดยสารเครื่องบินอยู่บนอากาศ ฉันคนหนึ่งแหละที่มักตื่นตาตื่นใจกับทิวทัศน์เบื้องล่างอยู่เสมอ ยิ่งเป็นไฟลต์ยาวข้ามทวีป พาดผ่านสถานที่ที่เราไม่เคยไปร่างกายก็พยายามชะเง้อคอมองหน้าต่างอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ครั้งหนึ่งจำได้ว่าบินผ่านทะเลทรายซาฮารา (Sahara) พอเห็นในเนวิเกเตอร์แจ้งบนจอก็รีบกุลีกุจอเปิดหน้าต่างมองทันที โชคดีมากที่วันนั้นท้องฟ้าโปร่ง จึงมองเห็นความงามจากมุมสูงได้ชัดนัก สร้างความประทับใจมากเหลือประมาณ
นั่นคือประสบการณ์ของผู้โดยสารที่อาศัยกรอบต่างเล็กๆ เมียงมองสองข้างทาง แต่สำหรับนักบินที่ผู้โดยสารนับร้อยฝากชีวิตไว้ คุณเคยสงสัยกันไหมว่า ในห้องโดยสารซึ่งมีกระจกล้อมรอบกว่า 180 อาศา บนความสูงหลายหมื่นฟุต พวกเขาเห็นอะไรกันบ้าง? คำตอบที่ได้น่าอิจฉามากทีเดียว
คริสเตียน ฟาน ไฮสต์
THE STANDARD รู้จัก คริสเตียน ฟาน ไฮสต์ (Christiaan van Heijst) ผ่านภาพชุดหนึ่งที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เขาเป็นนักบินอายุ 34 ปี ชาวเนเธอร์แลนด์ ที่มีอาชีพเสริมเป็นช่างภาพมืออาชีพ ผลงานของคริสเตียนสร้างความตื่นตาให้เรามากจนอดติดต่อขอคุยไม่ได้ แม้จะผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไม่กี่คำถาม และมีเวลาเพียงน้อยนิดก็ตาม แต่เขาก็ให้ความร่วมมือดีมากเสียจนเราเกรงใจ
“ผมเริ่มต้นอาชีพนักบินเมื่อ 14 ปีก่อน กับสายการบินท้องถิ่นในแอฟริกา และอัฟกานิสถานแห่งหนึ่ง จำได้ว่าภาพที่เห็นในห้องกัปตันสร้างความรู้สึกตื่นตามาก เป็นการผจญภัยอันสวยงามและน้อยคนที่ได้สัมผัส ช่วงเวลานั้นผมมีแค่กล้องง่ายๆ ติดตัวไปเท่านั้น จึงถ่ายได้ไม่ค่อยดีเท่าไร และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ตั้งใจว่าจะฝึกปรือตัวเองให้เก่งขึ้น เพื่อถ่ายภาพความงามของโลกจากห้องนักบิน”
ผู้โดยสารและ Fokker 50
ปีกเครื่องบิน Fokker 50 และภูมิประเทศสวยๆ ของอัฟกานิสถาน
อัฟกานิสถาน
อัฟกานิสถาน
คริสเตียนเผยต่ออีกว่า ภาพทุกภาพที่เราเห็นล้วนถ่ายจากค็อกพิท (Cockpit) หรือห้องนักบิน ไม่ว่าจะเป็นแสงเหนือ ทางช้างเผือก หรือทะเลทรายซาฮาราในมุมสูง หน้าต่างบานโตที่กรุรอบตัวเขาเผยให้เห็นโลกในมุมที่ผู้โดยสารไม่มีวันได้สัมผัส หรือถ้าจะเห็นก็เป็น 100 ปีหลังจากนี้ ที่มนุษย์ปุถุชนสามารถท่องอวกาศได้แบบเสรี
“ทุกภาพผมถ่ายจากห้องทำงานของผมครับ ไม่ว่าจะเป็นภาพท้องฟ้าหรือภูมิประเทศตามที่ต่างๆ ทุกครั้งที่อยู่บนนั้น ผมจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ มีแค่ผมและไม่กี่คนในโลกเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เห็นความงามเหล่านี้ ขนาดผู้โดยสารที่มาลำเดียวกันยังไม่สามารถสัมผัสได้
ในปีหนึ่งผมถ่ายภาพบนฟ้าหลายร้อยภาพ ไม่เคยนับเลยว่าได้ภาพเยอะมากน้อยแค่ไหน ถ้าถามว่าชอบช่วงเวลาไหนที่สุด ส่วนตัวแล้วผมชอบไฟลต์เวลากลางคืนที่มองเห็นพระจันทร์เต็มดวง หรือแสงเหนือ แสงของพระจันทร์และแสงเหนือเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ทั้งสร้างสรรค์ สวยงาม นุ่มนวล เป็นบรรยากาศพิเศษชวนให้เก็บภาพ ไม่เคยเบื่อเลยสักวินาที”
ทางช้างเผือก
แสงไฟจากเมืองและพายุในก้อนเมฆ
เคยสงสัยใช่ไหมว่า เครื่องบินโดนฟ้าผ่าหรือเปล่า นี่คือคำตอบ
ดวงจันทร์ ดาวตก และเส้นขอบฟ้า
แสงเหนือในช่วงเวลาใกล้สว่าง
หมู่มวลเมฆและพายุ
พระจันทร์เสี้ยวและเส้นขอบฟ้า
ภาพของคริสเตียนเคยตีพิมพ์ผ่านสื่อมาแล้วมากกว่า 20 สื่อทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น CNN, Natural Geographic, BBC และนิตยสาร Time เขายังมีผลงานหนังสือรวมภาพออกวางจำหน่ายด้วยเมื่อปี 2016 แถมยังพิมพ์ซ้ำมาแล้ว 3 รอบ
“ตอนนี้ผมเป็นกัปตันบนเครื่องบิน Boeing 747-8 Freighter มีไฟลต์บินไปทั่วโลก และเคยออกหนังสือรวมภาพในปี 2016 พิมพ์ซ้ำ 3 รอบ ดีใจมากครับ ถ้าผู้อ่าน THE STANDARD สนใจติดต่อเข้ามาได้ครับ ผมเก็บไว้นิดหน่อย
“กว่าจะมาถึงตรงนี้ผ่านช่วงเวลายากลำบากมาเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งอาชีพนักบินและช่างภาพเอง ช่วงแรกๆ ภาพที่ผมถ่ายย่ำแย่มาก (หัวเราะ) แต่ก็ต้องพยายาม ขอเพียงเชื่อมั่นในตัวเองให้มากๆ เข้าไว้ ตลอด 14 ปีที่ถ่ายภาพมา ไม่มีวันไหนรู้สึกเบื่อเลย ผมก็ตั้งใจว่าจะฝึกฝนและเก็บภาพในมุมสูงต่อไปอีก สำหรับใครที่กำลังตั้งเป้าทำอะไรสักอย่าง ไม่สำคัญหรอกครับว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวคุณจะเป็นเช่นไร ขอให้ตั้งเป้ากับสิ่งนั้นเอาไว้ เชื่อในจุดหมาย เชื่อในสิ่งที่ทำ คุณอาจมีเวลาผิดหวังบ้าง ล้มเหลวบ้าง ขอให้เชื่อในพลังของตัวเองก็พอ แล้วทุกอย่างจะเป็นไปได้เอง”
เมืองชิคาโก
ต้นไม้แห่งสายน้ำที่ปากีสถาน
อลาสก้า
รัสเซีย เมฆ และหิมะ
ซาฮารา ในเขตมอริเตเนีย
หากใครที่ดูภาพยังไม่จุใจและอยากติดตามผลงานของ คริสเตียน ฟาน ไฮสต์ เชิญได้ผ่านอินสตาแกรม @jpcvanheijst หรือทางเว็บไซต์ jpcvanheijst.com มีรูปให้น่าตื่นตาอีกเพียบ ยากจะต้านทาน
Photos: Christiaan van Heijst