วันนี้ (22 กันยายน) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 500 คน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศให้แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ จากนี้ขอให้ร่วมมือกันยกระดับ 30 บาทพลัสให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ต้องพร้อมรับมือความท้าทายจากสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
การขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยต่อจากนี้คือ สาธารณสุขยุคใหม่ ปรับระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อยอดเศรษฐกิจไทย เติมเต็มบริการสุขภาพเพื่อประชาชน ยกระดับการดูแลสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ ปัญญา และสังคม เชื่อมกันทุกมิติด้วยนโยบาย 30 บาทพลัส ผ่าน 13 ประเด็นสำคัญ
- โครงการพระราชดำริทางด้านสาธารณสุข
- เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล จัดตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง เป็นต้น
- สุขภาพจิต/ยาเสพติด มีแผนกจิตเวช มีหอผู้ป่วยจิตเวชที่พร้อมให้บริการ มีศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด ให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านทางระบบเทเลเมดิซีน
- มะเร็งครบวงจร คัดกรองรักษาอย่างรวดเร็ว ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในเพศหญิง และมะเร็งท่อน้ำดี ตับ ปอดในเพศชาย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง และจัดตั้งทีมเชิงรุก CA Warrior เพื่อลดป่วย ลดตาย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
- สร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร ถือเป็นภารกิจสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของระบบสุขภาพ โดยสนับสนุนบุคลากรทุกคน ทุกระดับ ให้มีความก้าวหน้า มั่นคง อยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยความสุข
- การแพทย์ปฐมภูมิ เพิ่มความครอบคลุมการดูแลที่บ้านและชุมชน พัฒนาระบบนัดหมายพบแพทย์ รับยาในหน่วยบริการใกล้บ้าน เสริมสร้างอนามัยโรงเรียนให้เข้มแข็ง และพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล
- สาธารณสุขชายแดน พื้นที่เฉพาะ และกลุ่มเปราะบาง จะเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้, พื้นที่ชายแดนชายขอบ, พื้นที่เฉพาะ, รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์, มอร์แกน, กลุ่มไร้รัฐ และกลุ่มเปราะบาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน
- สถานชีวาภิบาล พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward) จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
- พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาทั้ง CT Scan และ ICU จัดให้มี Mobile Stroke Unit เพื่อลดการส่งต่อ
- ดิจิทัลสุขภาพ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ และพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ One ID Card Smart Hospital ให้บริการสุขภาพยุคใหม่ ตรงความต้องการของประชาชน เข้าถึงได้ง่าย
- ส่งเสริมการมีบุตร โดยผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มอัตราการเกิดของเด็กที่มีคุณภาพ สร้างความเข้าใจการมีบุตรเมื่อพร้อม สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
- เศรษฐกิจสุขภาพ สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ‘หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน’ ในทุกจังหวัด พัฒนาสู่ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ดูแลสุขภาพครบวงจร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
- นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร สถานที่ ผู้ให้บริการ ระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคให้ทันสมัย ทันเวลา และง่ายต่อการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดโรคระบาด เพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม เป็นหลักประกันความปลอดภัยให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับ Quick Win 100 วัน ที่จะเร่งรัดให้เห็นผลลัพธ์โดยเร็วมี 5 เรื่อง คือ 1. โครงการพระราชดำริ โดยคัดกรองมะเร็งในผู้ต้องขังทุกคน พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ และสุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพทุกแห่ง รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไตรมาส 2 ทั้งแว่นตาผู้สูงอายุ 72,000 อัน, ผ่าตัดต้อกระจก 7,200 ดวง, ฟันเทียม 72,000 คน, ออกหน่วยพื้นที่ห่างไกล 720 อำเภอ, ดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ 72,000 รูป และอาคารผู้ป่วยนอกเขตเมืองเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 72 แห่ง
- ดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ นำร่อง 4 เขตสุขภาพ
- สร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร โดยมี Care D+ Team ในหน่วยบริการทุกระดับ
- โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล โดยจัดตั้งโรงพยาบาล 120 เตียงในเขตดอนเมือง
และ 5. สถานชีวาภิบาล จัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง, Hospital at Home จังหวัดละ 1 แห่ง และคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาล
“ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวกระทรวงสาธารณสุขยุคใหม่ MOPH Plus จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ยกระดับ 30 บาทพลัส เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้” นพ.ชลน่าน กล่าว
จากนั้นให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีการผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติว่า เนื่องจากเล็งเห็นว่าอัตราการมีบุตรในประเทศนั้นต่ำกว่ามาตรฐาน อยู่ที่ 160,000 คน ซึ่งมีค่าที่ควรจะเป็นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 210,000 คน ซึ่งมองว่าเป็นปัญหาของประเทศ อีกทั้งยังเป็นปัญหาของโลกด้วย
เราจึงมีความมุ่งมั่นว่า หากดำเนินการไปได้ด้วยดี ทำให้หลายคนเห็นว่าการมีบุตรนั้นมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ รวมถึงสามารถสร้างโอกาสและสร้างอนาคตได้ เมื่อเรามีความพร้อมก็จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประกาศและผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงงบประมาณในการใช้จ่ายเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเตรียมการเรื่องนี้ไว้พร้อม โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรวมทุกหน่วยงาน จะเป็นผู้ที่นำเรื่องนี้ไปพูดคุยเชิงนโยบายและเข้ามามีส่วนร่วม