×

ส่องอนาคต ‘หุ้นเทคฯ จีน’ ในวันที่ทางการตรวจสอบเข้มข้น กดดันราคาร่วงหนัก แต่อาจเป็นโอกาสของผู้ลงทุนระยะยาว

19.07.2021
  • LOADING...
หุ้นเทคจีน

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • นับแต่จุดพีกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ราคาหุ้นเทคฯ จีน โดยเฉพาะที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ (ADR) รวมถึงบริษัทแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงมา 30-40% 
  • ปัจจัยกดดันสำคัญคือการเข้ามาตรวจสอบของทางการจีน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดและการเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า
  • บริษัทอย่าง Alibaba ถูกปรับไปถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา 
  • ขณะที่ Didi ซึ่งเข้า IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ไม่นาน ก็ถูกแรงกดดันเช่นกัน โดยทางการจีนสั่งถอดแอปฯ ของ Didi ของจากแอปสโตร์ในจีน
  • อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหุ้นเทคฯ จีนหลายบริษัทยังคงทำกำไรเติบโตได้ค่อนข้างดี ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าตอนนี้คือโอกาสสำหรับซื้อหุ้นเทคฯ จีนเพื่อลงทุนระยะยาว

ท่ามกลางการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นทั่วโลก หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนกลับเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่ถูกกดดันจนราคาหุ้นหลายตัวในกลุ่มนี้ปรับลดลงเทียบกับปีก่อน หรือหากพิจารณาจากดัชนี MSCI China Tech 100 จะเห็นว่าดัชนียังคงติดลบ 2.5% สำหรับ 6 เดือนแรกของปีนี้ และหากเทียบจากจุดพีกของปีนี้จะเห็นว่า หุ้นเทคโนโลยีของจีนปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 10% สวนทางกับหุ้นเทคฯ ตัวอื่นๆ

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กดดันบรรดาหุ้นเทคโนโลยีของจีนคือ การเข้ามาคุมเข้มของภาครัฐใน 2 ประเด็นสำคัญคือ การต่อต้านการผูกขาด และการตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลของผู้บริโภค ซึ่งประเด็นเหล่านี้เข้ามากระทบต่อหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ตั้งแต่ปีก่อน อย่างกรณีของ Alibaba จนนำมาซึ่งค่าปรับสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์เมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา 

 

หรือกรณีล่าสุด Didi Chuxing ผู้ให้บริการรถแท็กซี่แบบเดียว Uber ก็ถูกทางการจีนสั่งถอดออกจากแอปสโตร์ หลังจากที่หุ้น Didi เพิ่งขาย IPO เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ประเด็นเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนจากทั่วโลก ส่งผลให้เริ่มพากันเทขายหุ้นเทคฯ จีนออกมา

 

โดยหนึ่งในนักลงทุนสถาบันที่ประกาศตัวชัดเจนว่าได้ลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นเทคฯ จีนลงมาแล้วคือ ARK Investment ที่ล่าสุดรายงานว่า ปัจจุบันกองทุนของเขาถือหุ้นเทคฯ จีนในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 1% ของการลงทุนทั้งหมด เทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถือหุ้นเทคฯ จีนในระดับ 8% โดย แคธี วูด ผู้บริหารกอง ARK มองว่า มูลค่าหุ้นเทคฯ จีนแม้จะปรับลดลงมาบ้าง แต่ยังมีโอกาสที่จะลดลงได้อีก  

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้จัดการกองทุนไทยประเมินว่า ระยะสั้นหุ้นเทคฯ จีนอาจจะยังมีแรงกดดันจากการตรวจสอบของทางการจีนอยู่ แต่หากเป็นผู้ลงทุนระยะยาวแล้ว โอกาสที่ราคาหุ้นเทคฯ จีนย่อยตัวลงมาเช่นนี้ถือเป็นจังหวะเหมาะที่จะเข้าลงทุน

 

SCB EIC เชื่อหุ้นเทคฯ จีนผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว 

ธนพล ศรีธัญพงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Investment Strategy, Research and Asset Allocation, CIO บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า ประเด็นการเข้ามาตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีโดยทางการจีนดำเนินมาเกือบครบปีแล้ว ทำให้จุดเลวร้ายสุดที่จะกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคฯ น่าจะผ่านไปแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น Alibaba ก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทอื่นคาดว่าไม่น่าจะเกิน 10% ของรายได้ปี 2562 

 

“จุดเลวร้ายสุดสำหรับหุ้นเทคฯ จีนน่าจะผ่านไปแล้ว และในภาพใหญ่เชื่อว่าทางการจีนไม่ได้ต้องการที่จะทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่เติบโตอีกต่อไป เพราะแผนระยะยาวของจีนยังคงมุ่งเน้นในด้านนวัตกรรม เพียงแต่การเข้ามาควบคุมนี้เพื่อต้องการให้รายเล็กสามารถพัฒนาได้ด้วย” 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีอีกหลายบริษัทที่ยังอยู่ในข่ายที่ทางการจีนจะเข้ามาตรวจสอบ อย่างไตรมาสก่อนก็มีอีก 34 บริษัทที่อยู่ระหว่างการตรวจ ทำให้การประเมินว่าปัจจัยกดดันนี้จะจบลงเมื่อใดยังทำได้ยาก 

 

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ บริษัทอย่าง Didi Chuxing ซึ่งทางการจีนได้สั่งให้แอปสโตร์ทุกแห่งถอดแอปฯ ของ Didi ออกไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะแพลตฟอร์มเรียกรถรายใหญ่นี้เก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานไว้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กดดันให้ราคาหุ้นของ Didi ปรับลงกว่า 10% จากจุดสูงสุดหลังจากเข้า IPO ได้ไม่นาน

 

ปัจจุบันหุ้นจีนอาจแยกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ หุ้นจีนที่จดทะเบียนในประเทศ (A-Share) หุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในฮ่องกง (H-Share) และหุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในสหรัฐฯ (ADR) 

 

ธนพล กล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้ที่หุ้นจีน ADR อาจจะถูกกดดันมากกว่าหุ้นจีนที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศหรือในฮ่องกง ด้วยแรงกดดัน 2 ด้านคือ 

 

  1. แรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานบัญชีของบริษัทต่างๆ และหากพบว่าไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้หุ้นเหล่านั้นถูกถอดออกจากตลาดไปได้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นที่ทราบกันว่าสหรัฐฯ กำลังพุ่งเป้ามาที่บริษัทจีนเป็นหลัก 

 

  1. แรงกดดันจากรัฐบาลจีน ซึ่งกำหนดให้บริษัทจีนที่แม้ว่าจะไปจดทะเบียนในสหรัฐฯ ก็ยังต้องทำตามกฎของจีนควบคู่ไปด้วย เพราะฐานลูกค้าที่ยังคงอยู่ในประเทศ 

 

แรงกดดันนี้ทำให้หุ้นจีน ADR และหุ้นจีนในภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ปรับฐานลงมา 30-40% จากจุดพีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

 

“ในระยะสั้นหุ้นเทคฯ จีนอาจจะยังไม่สดใสนัก แต่สำหรับระยะยาวค่อนข้างน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาหุ้นเทคฯ เหล่านี้ลดลงมาซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งปกติจะไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก” 

 

บล.บัวหลวง ชี้เป็นโอกาสลงทุนยาว แรงหนุนจากกำไรที่ยังเติบโตดี

ด้าน รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหุ้นเทคฯ จีนโดนทางการจีนปรับไปบ้างแล้ว 22 บริษัท ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลียงมาตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือหากลองดูผลประกอบการของหุ้นเทคฯ จีน ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีก่อน จนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ พบว่าหลายบริษัทยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 20% ในแต่ละไตรมาส ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันจากภาครัฐไม่ได้กระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญนัก 

 

“จะเห็นว่าตอนนี้กำไรของหุ้นเทคฯ จีนยังไปต่อได้ แต่การให้มูลค่ากับหุ้นเหล่านี้ค่อยๆ ลดลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จนราคาปัจจุบันเทรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/E 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งในกรณีเช่นนี้จะทำให้ระยะยาวยังน่าสนใจ อย่างคำกล่าวที่ว่า เจ้ามือที่แท้จริงของตลาดหุ้นคือกำไร ทำให้หุ้นเทคฯ จีนจะกลับมาได้ในระยะยาว” 

 

ส่วนในระยะสั้น นักลงทุนอาจจะพิจารณาทางเลือกบนหุ้นเทคฯ จีน ที่มีขนาดรองลงมา ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเหล่านี้ยังสามารถเติบโตสวนทางกับบริษัทใหญ่ๆ ขึ้นมาได้ เช่น Net Ease, Sunny Optical, ZTO Express เป็นต้น 

 

ซึ่งทางการจีนทำแบบนี้เพื่อให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว ความน่าสนใจในระยะสั้นอาจจะถูกกดดัน และจะดูว่าเทคฯ แถว 2 ก็อาจจะไม่โดน เช่น หุ้นเทคฯ second Tier เช่น Net Ease (9999), Sunny Optical (2382), ZTO Express (2057) 

 

ขณะเดียวกันข้อมูลจาก Morningstar (ประเทศไทย) ซึ่งระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเงินลงทุนยังคงไหลเข้ากองทุนหุ้นจีนต่อเนื่องรวมกันถึง 7.1 หมื่นล้านบาท แม้ว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนชะลอลงไปบ้าง 

 

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และจีนในช่วงไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงมีกำไรเติบโตขึ้นมาได้ โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ ที่หลายบริษัทกำไรโตขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน ส่วนฝั่งจีนในบริษัทอย่าง Alibaba กำไรจากการดำเนินงานจริงๆ ยังเป็นบวก แต่ไตรมาสล่าสุดก็โดนค่าปรับจากรัฐบาลจีนไปถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X