ความกลัวว่าสหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งตลาดหุ้น ตลาดสกุลเงิน รวมถึงตลาดตราสารหนี้
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ Black Monday 2024 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขายพร้อมกัน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนดูเหมือนเป็น ‘หลุมหลบภัย’ ให้กับนักลงทุน จากการที่ดัชนีหุ้นจีนปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก
แต่ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าหุ้นจีนกลับมาอ่อนแอกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกที่ฟื้นตัวสวนทางกลับมาได้อีกครั้ง
หุ้นจีนจำเป็นต้องหลุดจากกับดักมูลค่า
นักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นจีนชี้ไปที่การประเมินมูลค่าที่ต่ำมาก Rupert Mitchell บล็อกเกอร์ชาวออสเตรเลียแสดงความเห็นว่า นักลงทุนอเมริกันมีมุมมองขาขึ้นต่อประเทศจีน ไม่ว่าพวกเขาจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่บางครั้งราคาอาจไม่ได้ถูกอย่างมีเหตุผล และหุ้นจีนจำเป็นต้องหลุดออกจากกับดักมูลค่าก่อน จึงจะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้
การที่กลุ่มสินทรัพย์จะหลุดออกจากกับดักมูลค่าได้ ตลาดจำเป็นต้องมีผู้ซื้อรายใหม่และตัวเร่งปฏิกิริยา ผู้ซื้อรายใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นกองทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ แต่อาจเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของจีน ซึ่งขณะนี้นักลงทุนเหล่านี้มักลงทุนในพันธบัตรจีน แต่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามคือ การแข็งค่าขึ้นล่าสุดของค่าเงินเยนเทียบกับเงินหยวนอาจเป็นปัจจัยหนุนเช่นกัน เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนักก่อนหน้านี้สร้างการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกที่สำคัญ และเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยเฉพาะในสินค้าหรูอย่างมีนัยสำคัญ แต่ด้วยทิศทางค่าเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง อาจทำให้จีนกลับมาได้ประโยชน์
ทั้งนี้ หากมองภาพทั้งปี 2024 จะเห็นว่าดัชนีหุ้นจีนอย่าง CSI 300 ยังคงติดลบประมาณ 1-2% จากปีก่อน และจากข้อมูลของ Bloomberg ชี้ให้เห็นว่า ดัชนี CSI 300 ซื้อขายที่ราคามีส่วนลดประมาณ 35% เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI World ในการประเมินมูลค่าตามผลประกอบการ
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นจีนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านหยวน หรือราว 3.77 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด โดยต่างชาติกลายเป็นผู้ขายสุทธิในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม
ทุนต่างชาติไหลออก ทุนจีนแห่ลงทุนนอก
นักลงทุนต่างชาติถอนเงินออกจากจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่แล้ว สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นอย่างมากต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในจีนลดลงเกือบ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองเท่านั้นที่ตัวเลขนี้ติดลบ
และจากข้อมูลจากสำนักบริหารเงินตราต่างประเทศที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติลดลงประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
หากแนวโน้มการลดลงยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีนี้ จะทำให้ปีนี้เป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นอย่างน้อย ที่จะเห็นเงินลงทุนต่างชาติติดลบเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าว
หลังจากปี 2021 ที่เงินทุนต่างชาติพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 3.44 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บางบริษัทต้องลดความเสี่ยงลงโดยถอนการลงทุนหรือลดการลงทุนของตน
แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเปิดกว้างการทำธุรกิจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่บริษัทข้ามชาติมีเหตุผลมากกว่าที่จะเก็บเงินสดไว้ในต่างประเทศมากกว่าในจีน เนื่องจากประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ต่างจากจีนที่ลดดอกเบี้ยลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ในมุมกลับกัน บริษัทจีนได้ออกไปลงทุนต่างประเทศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยนำเงินออกไปลงทุนมากถึง 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2.55 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หุ้นจีนอาจเป็นแหล่งพักเงินในระยะถัดไป
ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกจากข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ย่ำแย่เมื่อต้นเดือน ทำให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียลดพอร์ตการลงทุนลง
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินชั้นนำอย่าง Societe Generale SA, Invesco Hong Kong Ltd. และ UBS Group AG ต่างก็กล่าวถึงความน่าดึงดูดใจของจีน ขณะที่ Goldman Sachs Group, Inc. อัปเกรดหุ้นมาเลเซียในสัปดาห์นี้ โดยอ้างถึงคุณสมบัติการป้องกันตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับแรงกระแทกจากภายนอก
นักวิเคราะห์จาก Shanghai Securities มองว่า การปรับฐานครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีผลกระทบจำกัดต่อหุ้นจีน โดยคาดว่าเงินทุนจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้น A-Share หรือดัชนีหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น
นักวิเคราะห์ยังกล่าวว่า ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศและความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อเร็วๆ นี้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจกระตุ้นให้นักลงทุนและกองทุนมองหาที่หลบภัย นอกจากนี้ค่าเงินหยวนของจีนยังแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวที่คล้ายกันของค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งมีสถานะเป็นสินทรัพย์หลบภัย (Safe Haven)
การลงทุนในสินทรัพย์หลบภัยหมายถึงการลงทุนที่คาดว่าจะรักษาหรือเพิ่มมูลค่าในสภาวะที่เกิดความไม่แน่นอนหรือช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ตัวอย่างของสินทรัพย์ Safe Haven ได้แก่ ทองคำ, พันธบัตรรัฐบาล, สกุลเงินเยนญี่ปุ่น, ฟรังก์สวิส และหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock)
ตลาดจีนอาจเป็นที่หลบภัยเมื่อตลาดสหรัฐฯ สั่นคลอนและตลาดญี่ปุ่นพังทลาย แม้ว่าดัชนีเซี่ยงไฮ้จะยังมีปัญหาในตัวของมันเอง แต่การเปิดกว้างเพื่อต้อนรับนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาในจีนอาจเป็นตัวหยุดความวุ่นวายในเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ และการ Unwind Carry Trade ในสกุลเงินเยนของญี่ปุ่นอาจเป็นผลดีกับจีนอีกด้วย
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-08-08/stock-meltdown-turns-spotlight-on-em-asia-s-underowned-markets?srnd=phx-economics-v2&sref=CVqPBMVg
- https://finimize.com/content/china-stocks-buck-the-trend-with-a-notable-rise-on-thursday
- https://theconversation.com/crypto-was-once-touted-as-a-safe-haven-asset-why-did-it-crash-too-this-week-236237
- https://www.marketwatch.com/story/how-shunned-china-stocks-could-break-out-of-a-value-trap-56629b79
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-08-12/foreign-investors-are-pulling-record-amount-of-money-from-china?fromMostRead=true&sref=CVqPBMVg