ช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง มีการจัดระเบียบออกกฎหมายข้อบังคับมาตรการต่างๆ ทางธุรกิจภายในประเทศอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี มาตรการมลพิษ หรือแม้กระทั่งการควบคุมธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา
การจัดระเบียบเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนโดนแรงกระแทกจนปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้นักวิเคราะห์จะออกมาคาดการณ์ว่า การจัดระเบียบดังกล่าวน่าจะเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่สุดท้ายอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิดไว้ก็ได้
เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดหุ้นจีนในปีนี้ยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนต้องการให้บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน รื้อถอนอพาร์ตเมนต์ที่สร้างอย่างผิดกฎหมาย 39 แห่งในไห่หนานทิ้งไป อีกทั้งเอเวอร์แกรนด์ยังผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ หลังครบกำหนดจ่ายเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีนดูแย่ลง
อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนอาจปรับตัวลดลง แต่ผลกระทบเหล่านี้คงไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางการจีนพยายามที่จะออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลเศรษฐกิจ จึงมองว่าเศรษฐกิจจีนจะยังเติบโตได้อยู่
อีกประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจีนคือ การออกกฎระเบียบเพื่อดูแลกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนยังเข้ามาดูแลในเรื่องการนำข้อมูลของผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้ เป็นต้น
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวฉุดให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงแรงในช่วงที่ผ่านมา มาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวเดือนมีนาคมนี้ เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
“ตอนนี้จีนเหมือนกำลังกวาดบ้าน อยู่ระหว่างจัดระเบียบ ก็เลย Underperform ซึ่งน่าจะมีความผันผวนในช่วงประมาณครึ่งปีแรก อาจจะทำให้มีความเสี่ยงได้ และครึ่งปีหลังค่อยมาดูกันอีกทีว่าสิ่งที่จีนกำลังจัดระเบียบอยู่จะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง”
เผดิมภพกล่าวว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอาจจะยังได้รับผลกระทบในระยะยาว ขณะที่กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้แม้จะเป็นปัจจัยหลักที่เป็นตัวกดดันตลาดหุ้นจีน แต่คงไม่แย่เท่ากับกลุ่มเทคโนโลยี เพราะทางการจีนได้ออกมาตรการช่วยดูแลผ่านนโยบายการเงิน ด้วยการลดเงินสำรองของธนาคารลง ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นจีนช่วงนี้ หากเป็นนักลงทุนระยะยาวสามารถทยอยสะสมได้ แต่หากเป็นนักลงทุนระยะสั้นเน้นเก็งกำไร แนะนำว่าควรรอดูจังหวะ ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังอาจกลับมาพิจารณาดูตลาดหุ้นจีนใหม่ได้ ระหว่างนี้อาจหันไปลงทุนในตลาดอื่นแทนก่อน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน
ด้าน นาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลดลงแรงตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสข่าวที่ว่า รัฐบาลจีนสั่งปรับเงินสองบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ทำผิดกฎหมาย เนื่องจากตรวจพบว่า เข้าไปซื้อกิจการบริษัทอื่นโดยไม่เปิดเผยข้อมูลตามเงื่อนไขของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล
อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลจีนมีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน หลังจากนี้คงต้องไปดูว่าสองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีนไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใด หรือหากทำตามเงื่อนไขชัดเจนแล้ว แต่ทางการจีนยังมีนโยบายที่จะให้เสียเงินค่าปรับอยู่ ก็อาจส่งผลกระทบต่อความกังวลของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นแล้วหลังจากนี้ต้องดูการชี้แจงของทั้งสองบริษัทว่าเป็นเช่นไร ส่วนผลกระทบดังกล่าวคาดว่าน่าจะเป็นช่วงระยะสั้นเท่านั้น
ด้านทีมนักวิเคราะห์กองทุนรวม บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า สาเหตุตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเริ่มมีบริษัทรายอื่นที่ไม่ใช่เอเวอร์แกรนด์เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ประกอบกับมีข่าวบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีทำผิดกฎเกณฑ์ของรัฐบาล ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น JD.com ร่วงลงเกือบ 10%
สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนคาดว่าปัญหานี้อาจกินเวลายืดเยื้อราว 5-6 ปี เนื่องจากภาคอสังหาของจีนส่วนใหญ่คนจีนจะไม่มีบ้านเป็นของตัวเองได้อย่างแท้จริง ดังนั้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทตึกหรือคอนโดโครงการต่างๆ จึงขาดสภาพคล่อง ทำให้ราคาสูงขึ้น เนื่องจากแต่ละมณฑลมีสัมปทานให้กับเอกชนไปสร้างคอนโดประเภท Leasehold (คอนโดมิเนียมประเภทสิทธิการเช่าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด) ประมาณ 30 ปี หรือ 50 ปี ในแต่ละพื้นที่เอง เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาสัญญาการเช่าก็ต้องคืนให้กับทางการจีน หรืออาจจะต่อสัญญาเพิ่ม ฉะนั้นแล้วเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปจึงทำให้มีการปรับคอนโดสูง เนื่องจากราคาที่ดินก็ปรับสูงขึ้นไปด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าประชากรจีนมีการปรับเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเมืองที่มีการขยายตัวเกิดขึ้นด้วย ซึ่งหากเทียบราคาที่ดินต่อตารางเมตรในคอนโดของจีนสูงกว่าบ้านเรา 2.54 เท่า โดยเฉพาะในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ พื้นที่ 30 ตารางเมตร ตกอยู่ราว 20 ล้านบาทของไทย
ขณะที่เอเวอร์แกรนด์ ก่อนหน้านี้ได้มีการประมูลที่ดินมาจากแต่ละมณฑลเพื่อสร้างคอนโดหลายโครงการในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากแต่ละโครงการอาจห่างไกลกับความต้องการของประชาชนมากเกินไป รวมถึงการนำเงินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปสร้างธุรกิจอื่น อย่างเช่น สวนสนุก จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อๆ มาในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างไม่เสร็จในหลายโครงการ และเป็นปัญหาในการผิดรับชำระหนี้มาจนถึงทุกวันนี้
อีกประเด็นที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศตัวเลข GDP ของธนาคารกลางในแต่ละมณฑล ซึ่งพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในหลายๆ มณฑลชะลอตัวลง แม้ว่าจะเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ของทาง Bloomberg ได้คาดการณ์ไว้ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ Fund Flow ไหลออกจากจีน
อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขกำลังการผลิตในจีนพบว่า ยังเติบโตได้ดี สะท้อนผ่านตัวเลขของเดือนธันวาคม 2564 ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นหากภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานการผลิตของจีนฟื้นตัวดีขึ้น และในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ถ้าทั่วโลกคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอนอยู่ เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย
ส่วนนักลงทุนท่านใดที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีนช่วงนี้แนะนำว่าน่าจะเข้าสะสมกองทุนรวม หรือธีมที่เป็นการบริโภคภายในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น โดยไม่รวมจีนที่อยู่ในฮ่องกง หรือจีนที่ลิสต์อยู่ในสหรัฐฯ เนื่องจากจีนมีการอัดฉีดเม็ดเงินไปแล้ว 2 รอบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้นแล้วคนที่จะได้รับผลประโยชน์เร็วที่สุดและชัดที่สุดคือ ประชาชนภายในประเทศจีนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Bloomberg มองว่า ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ที่ผ่านมา หลังจากที่จีนออกมาตรการกฎระเบียบใหม่ รวมถึงการพัฒนายารักษาได้กดดันให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและบริษัทที่ให้บริการตามสัญญากับผู้ผลิตยา จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนอ่อนไหวต่อการปรับปรุงนโยบายที่ไม่คาดคิด ฉะนั้นแล้วยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยการจัดระเบียบภายในประเทศจีนได้มากน้อยแค่ไหน และพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่อนาคตได้อย่างไร
รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง มีการจัดระเบียบออกกฎหมายข้อบังคับมาตรการต่างๆ ทางธุรกิจภายในประเทศอย่างเข้มงวดตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนรับแรงกระแทกปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจกองทุนหุ้นจีนพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีผลตอบแทนติดลบในช่วง 3 – 6 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน เพราะการลงทุนในหน่วยลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน อาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ดังนั้นผู้ลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวได้
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP