×

สำรวจ ‘หุ้นจีน’ ได้เวลากลับเข้าลงทุนหรือยัง เมื่อความเห็นยังแตกเป็น 2 ฝั่ง

30.05.2022
  • LOADING...
หุ้นจีน

ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 แต่หลังจากนั้นภาพของตลาดที่เคยอยู่ในภาวะ ‘กระทิงคลั่ง’ ตั้งแต่กลางปี 2020 ก็กลับกลายมาเข้าสู่ ‘ตลาดหมี’ ในปีนี้ 

 

โดยทั่วไปแล้วการจะนิยามว่า ‘ตลาดหมี’ มาเยือนแล้วหรือยัง เรามักตัดสินจากการที่ดัชนีนั้นๆ ลดลงจากจุดสูงสุดมาถึง 20% แล้วหรือยัง สำหรับตลาดหุ้นจีนอย่างดัชนี CSI 300 ที่เคยมีระดับสูงสุดราว 5,930 จุด เท่ากับว่าตลาดหมีเริ่มมาเยือนหุ้นจีนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมของปีก่อนแล้ว 

 

หากเทียบกับตลาดหุ้นสำคัญอื่นๆ ทั่วโลก หุ้นจีนเป็นตลาดแรกๆ ที่เข้าสู่ ‘ขาลง’ อย่างเต็มตัว ดัชนี CSI 300 ลดลงมากถึง 36% จากจุดสูงสุด และลดลงถึง 23% ในปีนี้ จนดัชนีลดลงไปต่ำสุดใกล้กับช่วงที่โควิดระบาดในระยะแรก 

 

แต่ในระหว่างที่หุ้นจีนกำลังดิ่งลง คำถามที่มักจะแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะคือ หุ้นจีนจะต่ำสุดไปแล้วหรือยัง? ในปัจจุบันหลายคนก็เริ่มตอบออกมาว่าหุ้นจีนน่าจะถึงต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งก็รวมถึงบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง J.P. Morgan ที่กลับคำแนะนำต่อหุ้นจีน จากแนะนำ ‘ขาย’ มาเป็นแนะนำ ‘ซื้อ’ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยังมีมุมมองที่ว่า ‘ภาพของหุ้นจีนจะแตกต่างออกไปจากรอบทศวรรษก่อนหน้านี้’

 

เศรษฐกิจจีนตอนนี้กำลังอยู่ในจุดใดของรอบวัฏจักร?

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันวัฏจักรของเศรษฐกิจกำลังซ้อนกันอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ 

 

  1. ช่วงปลายการเติบโตของเศรษฐกิจและการกู้ยืม ปัจจุบันจีนยังกู้เยอะ และยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจใหญ่ เช่น สหรัฐฯ หรือยุโรป นโยบายการเงินข้ามมาฝั่งเข้มงวด (Hawkish) แล้ว ในส่วนนี้ทำให้เศรษฐกิจจีนยังไม่ได้แย่นัก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของหนี้ต่อไป 

 

  1. ช่วงต้นของการบริโภค จีนถือเป็นประเทศที่เริ่มเข้าสู่การขยายตัวของการบริโภคก่อนประเทศอื่นๆ แม้ในตอนนี้จะสะดุดลงมาจากการล็อกดาวน์ แต่การบริโภคจะกลับมาได้หลังกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง และหากภาครัฐไม่ใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด เศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตต่อไปได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

 

“แม้เศรษฐกิจจะยังดูไปต่อได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้ Bullish ต่อหุ้นจีนมากนักในระยะยาว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีนี้จะเริ่มเข้าสู่ลูปใหม่ของการเมืองในจีน พร้อมกับนโยบายที่อาจจะแตกต่างไปจากทศวรรษที่ผ่านมา” จิติพลกล่าว  

 

การเติบโตของหุ้นจีนอาจแตกต่างไปจากทศวรรษที่ผ่านมา

 

จิติพลกล่าวต่อว่า ปลายปีนี้จีนจะมีการประชุมใหญ่ของรัฐบาล พร้อมกับการที่จะแต่งตั้งสีจิ้นผิงให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนต่อไปอีก 10 ปี และหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลจีนในระยะหลังคือ Common Prosperity หรือความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ภาพของหุ้นจีนแตกต่างจากไป 10 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเคยเน้นการเติบโตและอัดฉีดเม็ดเงินไปยังอุตสาหกรรมหลักบางส่วน 

 

“คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้สึกว่าจีนจะทำเช่นนั้น หากนึกถึงโมเดลของสหรัฐฯ แต่ที่ผ่านมาจีนก็แสดงให้เห็นหลายครั้งแล้วว่าจีนไม่เหมือนสหรัฐฯ อย่างการจัดระเบียบอุตสาหกรรมการศึกษา หรือการที่หุ้นเทคโนโลยีของจีนเทรดด้วย P/E ต่ำมาก แต่ที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะว่าจีนมองหุ้นเหล่านี้เป็นเหมือนกับสาธารณูปโภคพื้นฐานแค่นั้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไม่ควรจะทำกำไรได้สูงเกินไป” 

 

‘หุ้นจีน’ ยังไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ 

 

ฉะนั้นแล้วหากจะเริ่มกลับมามองบวกต่อหุ้นจีน เราอาจจะต้องลดทอนความคาดหวังลงมามากกว่านี้ นอกจากนี้หุ้นจีนก็ยังคงมีหลายปัจจัยที่ยังค้างคาอยู่ เช่น การเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน ทำได้มาก-น้อยเพียงใด, สงครามการค้าที่ยังไม่จบลง, ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ตอกย้ำว่าแนวคิดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต่างกันอย่างมาก 

 

“หากมองในมุมของรัฐบาลจีนซึ่งเป็นกึ่งสังคมนิยม จริงๆ แล้วจีนอาจจะไม่ได้ต้องการที่จะมีบุคคลอย่างอีลอน มัสก์ หรือเจฟฟ์ เบโซส์ หากการมีอยู่ไม่ได้ช่วยให้ทุกคนร่ำรวยไปพร้อมกัน ในมุมของตลาดหุ้น เราอาจจะเห็นการฟื้นตัวในระดับ 10-20% แต่เชื่อว่าจะยังไปไม่ถึงจุดสูงสุดเดิม” 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องรีบซื้อหุ้นจีนจนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกมากขึ้น หรือในอีกมุมหนึ่ง เราอาจจะเลือกลงทุนในตลาดอื่นที่มูลค่าอาจจะใกล้เคียงกัน แต่มีความเสี่ยงในเชิงนโยบายที่น้อยกว่า

 

ระยะสั้นความเสี่ยงขาลงของหุ้นจีนอาจต่ำมากแล้ว

 

รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า หลังจากจุดพีคในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน หุ้นจีนก็ Sideway Down มาตลอด 15 เดือน ขณะที่หุ้นสหรัฐฯ เริ่มปรับลงจริงๆ คือช่วงปลายปีก่อน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทยอยลดวงเงิน QE และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 

 

ตอนนี้หุ้นจีนเข้าสู่ขาลงมาแล้ว 15-16 เดือน โดยธรรมชาติแล้วหุ้นไม่มีทางจะลงไปตลอด เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งเรื่องของ Valuation และ Sentiment รวมถึงนโยบายที่ยังผ่อนคลาย ตอนนี้หุ้นจีนมีโอกาสจะขึ้นได้มากกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นรัฐบาลส่งสัญญาณสนับสนุนการลงทุนที่มากขึ้น ทั้งการลดอัตราเงินทุนสำรองของธนาคาร ลดดอกเบี้ยในส่วนต่างๆ รวมถึงการที่ ก.ล.ต. จีนออกมาประกาศว่าจะลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นในทั้ง 3 ตลาด รวมถึงการหนุนให้บริษัทมหาชนจีนซื้อหุ้นคืน

 

“เชื่อว่าหุ้นจีนมีโอกาสเด้งสูง หากไม่ได้มีวิกฤตที่ร้ายแรงกว่าโควิดเข้ามา แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้มองไปถึงจุดสูงสุดเดิม แต่โอกาสที่จะทำจุดต่ำสุดใหม่น่าจะน้อย และการที่หุ้นจีนหลายตัวประกาศงบฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดดีดกลับแรง เพราะก่อนหน้านี้หุ้นลดลงจนไม่มีอะไรให้คาดหวัง” 

 

เศรษฐกิจจีนกำลังจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 นี้

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจจีนจะผ่านจุดต่ำสุดได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นโบรกต่างประเทศบางแห่งปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนเหลือ 0.5-1% ในไตรมาส 2 ส่วนทั้งปีจากที่คาดว่าจะเติบโตถึง 5.5% ก็อาจจะเหลือเพียง 3.5-4% 

 

อย่างไรก็ตาม การที่จีนกำลังจะคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวกลับมาได้ และด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะกระจายในหลายส่วนพร้อมกัน เช่น การลดดอกเบี้ยอสังหาริมทรัพย์ ลดภาษียานยนต์ เพิ่มวงเงินอัดฉีด SMEs 

 

“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลงไปยังภาคธุรกิจโดยตรงเป็นสิ่งที่ตลาดหุ้นชอบ และหากดูสภาพคล่องในระบบของจีน อย่างปริมาณเงิน M2 จริงๆ ยังเติบโตได้ 10.5% สะท้อนให้เห็นว่าจีนไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกใช้เพราะการล็อกดาวน์” 

 

ด้าน หลี่เค่อเฉียง ประธานคณะมนตรีรัฐกิจจีน ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าอาจจะไม่กดดันบริษัทเทคโนโลยีของจีนอีกแล้ว นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคมนี้จะครบรอบ 4 ปีของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นสหรัฐฯ นำภาษีการค้าบางส่วนออก และจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนต่อหุ้นจีน 

 

“ครึ่งปีหลังมีโอกาสสูงที่หุ้นจีนจะ Outperform โดยการฟื้นตัวจะเริ่มจากการลงทุนภาครัฐ ตามมาด้วยการบริโภคในประเทศ และต่อด้วยการลงทุน การฟื้นตัวของหุ้นจีนในรอบนี้จะนำโดยหุ้นที่อยู่ในดัชนี CSI 300 และหุ้นกลุ่ม A-Share ซึ่งจะอิงกับ 3 กลุ่มหลัก คือ การบริโภคในประเทศ การเงิน และอุตสาหกรรม” 

 

ปัจจัยกำหนดทิศทางหุ้นจีนที่ต้องติดตามในระยะถัดไป

 

นักกลยุทธ์การลงทุนของ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

 

  1. นโยบาย Zero-COVID หากยกเลิกไปอาจจะเริ่มเห็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมามากขึ้น 

 

  1. นโยบายเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยอาจจะดูเทียบเคียงไปพร้อมกับพัฒนาการในเรื่องสงครามรัสเซียกับยูเครน รวมถึงสงครามการค้า 

 

  1. ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ลดลง โดยเฉพาะภาคการบริโภค หากจะกลับมา Bullish หุ้นจีนอีกครั้ง อาจต้องเริ่มเห็นการกลับมาคาดหวังให้เศรษฐกิจจีนโตในระดับสูงกว่า 5% อีกครั้ง 

 

“หากจะมองว่าหุ้นกลุ่มไหนของจีนจะฟื้นตัวได้ก่อน เชื่อว่าน่าจะเป็นกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะถูกดันจากรัฐบาลจีน เทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังมีความเสี่ยง นอกจากนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและบริการในประเทศน่าจะฟื้นตัวได้จากดีมานด์รอบใหม่หลังผ่านช่วงล็อกดาวน์ แต่อาจเป็นเพียงความตื่นเต้นระยะสั้น”

 

ด้านรัฐศรัณย์มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามหลังจากนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

 

  1. เงินเฟ้อจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 2-3% เทียบกับสหรัฐฯ ที่ 7-8% แม้เงินเฟ้อจีนจะมีโอกาสขึ้นได้อีก แต่ก็ยังเป็นระดับต่ำพอที่จะสบายใจได้ว่าไม่น่าจะเห็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ต้องตามดูว่าเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นมากแค่ไหน

 

  1. นโยบาย Zero-COVID จะยกเลิกได้เมื่อใด แต่ปัจจุบันจีนก็เริ่มอนุญาตให้นักเรียนกลับไปโรงเรียนบางส่วน ร้านตัดผมก็เริ่มเปิดแล้ว ห้างสรรพค้าก็เช่นกัน ต้องดูว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะขึ้นลงมาก-น้อยเพียงใด 

 

“หากหุ้นจีนฟื้นตัว กลุ่มที่น่าจะนำขึ้นมาก็น่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ลดลงมาเยอะ แต่หุ้นฝั่ง A-Share และกลุ่ม Star50 น่าจะโดดเด่นกว่า ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน หากมีหุ้นจีนอยู่ก่อนแล้วอาจจะซื้อถัวเฉลี่ยเพิ่มบางส่วน แต่หากยังไม่มีหุ้นจีนอยู่เลย การเข้าซื้อช่วงนี้อาจจะแค่เพียง 1 ใน 3 ของสัดส่วนทั้งหมด” 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising