ปี 2023 กำลังจะจบไป และหนึ่งในการลงทุนที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังมากที่สุดคงไม่พ้นหุ้นจีน ที่ทำผลงานดีแค่เดือนแรกแต่หลังจากนั้นก็ปรับฐานมาตลอดปี
ยิ่งมองย้อนกลับไปทั้งทศวรรษที่ผ่านมา ดัชนี MSCI China ปัจจุบันอยู่แค่ระดับใกล้เคียงกันกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วเสียด้วย ยิ่งทำให้นักลงทุนต้องกลับมาคิดว่า ทศวรรษหน้าจำเป็นต้องมีหุ้นจีนอยู่ในพอร์ตไหม หรือถ้าอยากมี ต้องเป็นหุ้นจีนแบบไหนกันแน่
เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนที่เรากำลังจะต้องเผชิญในอนาคตก่อน เรากำลังจะพบกับ ‘3 ความท้าทาย’ ที่หนีไม่ได้
เรื่องแรก เศรษฐกิจจีนจะไม่เติบโตมหัศจรรย์เหมือนทศวรรษก่อน
จุดสำคัญคือตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังโควิด
ทุกสัญญาณพลิกกลับมาเป็นขาลง ไม่ว่าจะเป็นยอดซื้อ ราคาบ้าน หรือการก่อสร้าง การเติบโตในกลุ่มอสังหาที่เคยเป็นลมหนุนกับเศรษฐกิจ 2-3% ในช่วงทศวรรษก่อน จะเป็นลมต้านของเศรษฐกิจราว 1-2% ไปอย่างน้อยถึงช่วงกลางทศวรรษ 2030
นอกจากนั้น โครงสร้างประชากรก็ผ่านจุดสูงสุด 1.42 พันล้านคนไปแล้วในปี 2021 ต่อจากนี้มีแต่จะทรงตัวไปจนถึงปี 2050
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยทั้งปริมาณ ราคา และการกู้ยืมที่ลดลง จะกดเศรษฐกิจจีนให้เติบโตเพียง 4.0-4.5% ตลอดทั้งทศวรรษ
ความท้าทายที่สองคือนโยบายเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเป็นการตั้งรับ
นั่นเป็นเพราะว่าระดับหนี้ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสร้างความกังวลเรื่องเสถียรภาพ
ย้อนกลับไปเมื่อต้นวิกฤต GFC ระดับหนี้ของเอกชนจีนรวมทั้งหมดอยู่ไม่ถึง 150% GDP แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 289% GDP หนี้เหล่านี้กว่า 20% เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหา อีกกว่า 25% มาจากรัฐบาลท้องถิ่น เป็นไปได้ยากที่จะปรับตัวลดลง
ในมุมมองของภาครัฐ ทางเลือกมีแค่สองแบบคือ กระตุ้นต่อและลุ้นว่าจะไม่เข้าสู่วิกฤตและทศวรรษที่อาจหายไปแบบญี่ปุ่น หรือยอมเติบโตน้อย มีคนตกงานบ้าง แต่ไม่เสี่ยงเข้าสู่วิกฤต
เป็นไปได้สูงที่รัฐจะเลือกตั้งรับและกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะเพื่อการปรับโครงสร้าง หรือเมื่อมีปัญหา
ความท้าทายที่สามคือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ยากจะคืนดีกับสหรัฐอเมริกา
ย้อนกลับไปก่อนที่จีนจะเข้าสู่ WTO การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเติบโตขึ้นมามากกว่าถึง 10 เท่าตัว แม้จะย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงปี 2017 ที่เริ่มมีปัญหาสงครามการค้า การซื้อขายระหว่างกันก็ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 30%
แต่ล่าสุดปัญหาในเชิงความคิดและการแข่งขันทางเศรษฐกิจดำเนินมาถึงจุดที่สหรัฐฯ หันไปพึ่งประเทศอื่น จนความเป็นคู่ค้าหลักของจีนจบลงไปตั้งแต่ปี 2022
ความท้าทายนี้ในโลกเศรษฐกิจอาจแก้ไขได้ด้วยการหาคู่ค้าใหม่ที่มีขนาดใหญ่มาแทนที่ แต่ในโลกของการเงิน ยากมากที่จะหาประเทศหรือผู้บริหารเงินขนาดใหญ่นอกเหนือจากสหรัฐฯ
ความท้าทายเหล่านี้ทำให้มุมมองรายได้ในอนาคตมีโอกาสที่จะชะลอตัวลง การลงทุนจะอ้างอิงกับนโยบายภาครัฐมากขึ้น และที่น่ากังวลที่สุด ถ้าไม่มีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างชาติ มูลค่าตลาดอาจเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ในมุมมองของผม หุ้นจีนมีความยากลำบากต่อไปในทศวรรษหน้า ไม่ต้องสะสมเกินสัดส่วนปกติ แต่ถ้าใครอยากลงทุนจีนเป็นพิเศษต้องเลือกธีมลงทุนให้ดี
ธีมลงทุนแรก China Consumption เน้นไปที่เอกลักษณ์ความเป็นจีน
เปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่น บริษัทที่อยู่รอดหรือทำผลงานได้โดดเด่นส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทอยู่ในธุรกิจระดับโลกแต่มีความเก่งเฉพาะด้าน
สำหรับในจีนธุรกิจกลุ่มนี้คือกลุ่มอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และของใช้ฟุ่มเฟือย ไปถึงธีมกั๋วฉาว (Guo Chao) ที่จับความเป็นจีนขึ้นมาเป็นจุดขาย
ธีมลงทุน China Going Global ให้ความสำคัญกับประเทศฝั่งเอเชีย
เน้นไปที่กลุ่ม Exporters การท่องเที่ยว และบริการที่สามารถใช้ได้ร่วมกันทั้งในเอเชีย ส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การเดินทาง บริการการท่องเที่ยว และบริการด้านสุขภาพ
และธีมที่ขาดไม่ได้คือ China New Technology
แม้กระแส Generative AI ในจีนจะเกิดช้ากว่าทั่วโลก แต่ด้วยกฎหมาย ขนาดประชากร และโครงสร้างพื้นฐาน ในที่สุดจีนจะผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน AI ในอนาคตแน่นอน
กลุ่ม Little Giant กว่า 10,000 บริษัทจะได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลและเงินทุนจากรัฐบาลกลาง เป็นกลุ่มแรกที่จะร่วมสร้างอุตสาหกรรมใหม่
มุมมองของผม คิดจะลงทุนในจีนบน 3 ความท้าทาย คำตอบเดียวคือต้องกล้าปรับพอร์ต เลือกเฉพาะธีมลงทุนที่เหมาะสมครับ
นักลงทุนท่านใดสนใจลงทุนหุ้นขนาดเล็กในจีนผ่าน CGS Fullgoal CSI 1000 ETF ตัวย่อ GRU (สกุลเงินดอลลาร์) ในตลาดสิงคโปร์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) โทร. 0 2841 9000 กด 1 และกด 4 เพื่อติดต่อบริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ในเวลาทำการครับ